4 มีนาคม 2016

ความท้าทายของเอเชีย

ในทศวรรษนี้โลกคงปฏิเสธความร้อนแรงของเศรษฐกิจเอเซียไม่ได้อีกต่อไป ดร.อูริช ซาเกานักวิชาการของ World Bank  ได้มีการวิเคราะห์ไว้ว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเซียตะวันออกยังคงเติบโตในอัตราที่เร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของประเทศจีนและการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่ประชากรเกือบ 600 ล้านคนกลายเป็นตลาดเดียวกัน จะทำให้ภูมิภาคนี้มีพลวัตรสูงที่สุดในโลกภูมิภาคหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นยังมีช่องว่างด้านการบริหารจัดการที่ถือว่าเป็นความท้าทายเชิงกลยุทธ์ขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนอีกหลายประการ ซึ่งในเว็บไซต์ http://www.conference-board.org/ceo-challenge ได้ระบุถึงความท้าทายดังกล่าวไว้ 5 ประเด็นคือ หนึ่ง การสร้างนวัตกรรม สอง ในการพัฒนาทุนมนุษย์ สาม การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า สี่ การปฏิบัติการที่เป็นเลิศ และห้า การสร้างความยั่งยืน

ความท้าทายเชิงกลยุทธ์ในด้านการสร้างนวัตกรรมนั้น ระบุว่า องค์กรต้องแสวงหาบุคลากรที่เป็นดาวเด่นในการสร้างนวัตกรรมขององค์กรให้ได้ เมื่อค้นพบแล้วก็ต้องทำให้พนักงานกลุ่มนี้มีความผูกพันต่องค์กร และสร้างแรงจูงใจให้คนกลุ่มนี้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อองค์กร แต่ไม่ได้หมายความว่าองค์กรจะฝากเรื่องนวัตกรรมไว้ที่คนกลุ่มนี้เท่านั้น ต้องมีแนวทางในการสร้างให้ทุกองค์ประกอบขององค์กรมีแนวคิดในเรื่องนวัตกรรม ซึ่งรวมไปถึงลูกค้า ผู้ส่งมอบ และพันธมิตรทางธุรกิจด้วย

เรื่องของทุนมนุษย์เป็นความท้าทายเชิงกลยุทธ์ในประเด็นต่อมา การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถในการขับเคลื่อนความสำเร็จให้กับองค์กร และประเทศชาตินั้นต้องมีวิธีการบริหารจัดการที่ดี เพราะเรื่องของคนเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว ตั้งแต่การคัดเลือก การฝึกอบรม การจัดโครงสร้างองค์กรให้เอื้อต่อความก้าวหน้า ไปจนถึงการสร้างความผูกพัน เพื่อให้คนทุ่มเท และอุทิศตนให้กับการทำงานเพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จร่วมกัน

และแน่นอนว่าในระบบเศรษฐกิจนั้น การแข่งขันในตลาดจะประสบความสำเร็จได้อยู่ที่ความสามารถในการตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าจึงเป็นความท้าทายเชิงกลยุทธ์อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งก็คือการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงใจลูกค้าเป้าหมาย ศึกษาแนวโน้มความต้องการในอนาคตเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เสมอแม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไป การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากการปฏิบัติการที่เป็นเลิศในองค์กร เริ่มตั้งแต่การออกแบบกระบวนการหลัก และกระบวนการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน มีความคล่องตัว มีความสอดคล้องระหว่างกลยุทธ์ เป้าหมายและสมรรถนะขององค์กร ให้ความสำคัญในการปรับปรุงผลการดำเนินงาน โดยมีแนวคิดในเรื่อง Productivity เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ

สุดท้ายก็คือเรื่องของการสร้างความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวางรากฐานแนวคิดในเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่วัฒนธรรมองค์กร การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ดังนั้นการออกแบบระบบงานต่างๆ ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นเป้าหมาย ผลิตภัณฑ์และบริการก็จะมีความยั่งยืนเช่นกัน ทั้งนี้จึงต้องให้ความสนใจในเรื่องการวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปพร้อมกับการบริหารความเสี่ยง เพื่อการมุ่งไปสู่อนาคตในฐานะผู้นำไม่ใช่ผู้ตาม

ในบรรดาประเทศต่างๆ ของเอเซียนั้น มีเพียงสิงคโปร์และฮ่องกง เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันลำดับต้นๆ จากการจัดลำดับของ IMD นั่นแสดงให้เห็นว่ายังมีอีกหลายประเทศที่ต้องให้ความสำคัญกับความท้าทายนี้ มาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าจับตามอง เพราะนโยบายเศรษฐกิจของมาเลเซียมีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2563 (Vision 2020) โดยการเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับ Productivity การค้นคว้าและวิจัย (R&D) และเทคโนโลยีระดับสูง ในปี พ.ศ. 2558 แม้ลำดับความสามารถในการแข่งขันของมาเลเซียจะตกลงไป 2 ลำดับจากปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังอยู่ในลำดับที่ 14

หันกลับมามองประเทศไทย ความสามารถในการแข่งขันนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540-2557 ขึ้นๆ ลงๆ มาตลอด ไต่ลำดับสูงสุดได้แค่ลำดับที่ 25 ในปี ค.ศ. 2548 ในปี พ.ศ. 2558 ก็อยู่ในลำดับที่ 30 ตกลงมาอีก 1 ลำดับจากปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมียุทธศาสตร์การเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจก็มีแผนแม่บทล้อตามแผนดังกล่าวทุกหน่วยงาน

และอันที่จริงความท้าทายเชิงกลยุทธ์ทั้ง 5 ด้านที่กล่าวมา ก็เป็นสิ่งที่ระบุไว้ในเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ TQA ที่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการเช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า PMQA ซึ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอย่างเป็นองค์รวม ความสอดคล้องของการบริหารจัดการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สิงคโปร์เป็นตัวอย่างการบริหารจัดการที่ดีในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าการดำเนินการในแต่ละด้านของสิงคโปร์จะสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดตำแหน่งทางการตลาด การพัฒนาคน การออกแบบระบบปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐก็เอื้อต่อการดำเนินการตามนโยบายในทุกๆ ด้าน

ดังนั้น ความท้าทายของประเทศไทยก็คือทำอย่างไรที่จะทำให้การดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มองภาพเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อก้าวไปสู่หนึ่งในตำแหน่งผู้นำของเอเซียเช่นกัน

 

ที่มา: คอลัมน์ Productivity Food for Thought  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


Tags:


Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น