20 October 2015

STEEP-crowdsourcing2-02“หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว” คำโบราณ แต่กลับกลายเป็นแนวคิดการทำการตลาดออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน จากคำว่า “Crowdsourcing” หมายถึง กระบวนการในรับจ้างหรือรับทุนสนับสนุนจากมวลชนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งมาจากการผสมของคำสองคำ นั่นก็คือ “Crowd” ที่แปลว่า คนเยอะๆ และ “Outsourcing” ที่แปลว่า การจ้างช่วง โดยแนวคิดของ Crowdsourcing ก็คือ การรับงานและกระจายงานไปยังกลุ่มคน ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ พัฒนาสินค้า และแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้ประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมช่วยกัน

โดยผู้เขียนจาก dailycrowdsource.com ได้ตัวอย่างของ Crowdsourcing ที่เรารู้จักกันดีก็คือ Wikipedia แทนที่ Wikipedia จะสร้างสารานุกรมขึ้นมาเองด้วยการจ้างนักเขียนและบรรณาธิการ แต่ Wikipedia เลือกที่จะให้มวลชนเป็นผู้สร้างข้อมูลแทน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ เราได้เห็นสารานุกรมที่มีความครอบคลุมและครบถ้วนแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลก

หลักการพื้นฐานของ Crowdsourcing ก็คือ หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว ดังนั้นหากว่ากันในเรื่องของคุณภาพแล้ว หากงานใดๆ ที่เกิดจากการระดมความคิด ความชำนาญ และความร่วมมือของคนจำนวนมาก คุณภาพของผลงานหรือความคิดที่เกิดขึ้นย่อมเหนือกว่าอย่างแน่นอน

Crowdsourcing มีรูปแบบไหนบ้าง

  •  Crowdsource Design

ลองคิดดูว่า หากคุณอยากออกแบบตราสินค้าซักชิ้นหนึ่ง คุณสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มคนที่เป็นนักออกแบบว่า คุณต้องการอะไร คุณจะจ่ายค่าตอบแทนเท่าไหร่ และคุณต้องการชิ้นงานเมื่อไหร่ จากนั้นนักออกแบบที่สนใจก็จะทำการออกแบบชิ้นงานสำหรับคุณ คุณอาจได้รับชิ้นงานที่แตกต่างกัน 50-300 ชิ้น เพื่อเลือกชิ้นงานที่ชอบที่สุด จะเห็นว่า Crowdsourcing จะทำให้คุณได้รับชิ้นงานที่มีคุณภาพมากขึ้น ในขณะที่ราคาลดลงเมื่อเทียบกับการจ้างนักออกแบบอิสระทั่วไป

Crowdsourcing สามารถใช้กับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ สินค้าแฟชั่นต่างๆ งานโฆษณา การสร้างวิดีโอ และการออกแบบสินค้าใหม่ อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องของการออกแบบสามารถทำผ่าน Crowdsourcing ได้ทั้งหมด

  •  Crowdfunding

Crowdfunding ก็คือการขอรับบริจาคเงินจากกลุ่มคนเพื่อทำโครงการหรือกิจกรรมอะไรบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากได้เงินซัก 10000 เหรียญ เพื่อค่าเช่าห้องอัดเสียงสำหรับอัดแผ่นเสียงชุดใหม่ Crowdfunding สามารถช่วยได้เพียงคุณเข้ามาใช้ Crowdfunding Platform กำหนดวงเงินที่ต้องการ ระยะเวลา และผลตอบแทนสำหรับผู้ให้ทุน หากคุณไม่สามารถระดมทุนได้ตามเวลาที่กำหนด (ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่เกิน 60 วัน) เงินบริจาคเหล่านั้นก็จะถูกส่งกลับคืนให้แก่ผู้บริจาค

โดยส่วนมาก กลุ่มศิลปิน หน่วยงานการกุศล หรือบริษัท start-ups มักจะใช้ Crowdfunding ในการระดมทุน ยกตัวอย่างเช่น การทำหนังสารคดี การผลิต Apple Watch การวิจัยเกี่ยวกับมะเร็ง และเงินตั้งต้นธุรกิจ

  • Microtasks

Microtasking คือการแบ่งงานออกเป็นงานย่อยๆ และกระจายให้กับกลุ่มคน เช่น หากคุณมีรูปภาพซัก 1,000 ภาพ อยู่บนเว็บไซต์ของคุณ แล้วต้องการใส่คำบรรยายภาพลงไป คุณสามารถจ้างคน 1,000 คน ให้เขียนคำบรรยายภาพให้คุณได้ โดยแตกงานออกและจ่ายค่าตอบแทนสำหรับงานที่สมบูรณ์ ซึ่งคุณอาจจะใช้เงินแค่ 0.01 หรือ 0.1 cent ต่อรูปเท่านั้น ด้วยวิธีการนี้ คุณสามารถทำงานให้เสร็จได้ภายในไม่กี่นาที

Microtasking สามารถใช้ได้กับงานพวกการสแกนรูปภาพ การพิสูจน์อักษร การแก้ไขฐานข้อมูล และการถอดเทป ซึ่งจะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น ถูกลง และหากมีกระบวนการตรวจสอบที่ดี งานก็จะผิดพลาดน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น Microtasking ยังสามารถกระจายงานไปยังคนในประเทศที่ด้อยโอกาสได้ด้วย

  • Open Innovation

ถ้าคุณยังไม่มั่นใจในแนวคิดของตัวเองเกี่ยวกับโอกาสในเชิงธุรกิจ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือช่องทางการตลาด Crowdsourcing สามารถช่วยคุณได้ผ่านการเปิดรับนวัตกรรมจากภายนอก โดย Open Innovation จะเป็นการชักชวนคนในแวดวงธุรกิจจากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น นักลงทุน นักออกแบบ นวัตกร หรือนักการตลาด มาร่วมในการช่วยสร้างความฝันให้เป็นจริง ซึ่งวิธีการนี้สามารถทำได้ทั้งการเปิดรับความคิดเห็นจากคนภายนอก หรือจะใช้ในการรวบรวมความคิดจากพนักงานภายในองค์กรเท่านั้นก็ได้

Open Innovation จะช่วยรวมกลุ่มคนจากทุกมุมโลก กลุ่มคนจากทุกสาขาอาชีพ มาทำงานด้วยกัน วิธีการนี้จะช่วยให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น Open Innovation ยังสามารถเปลี่ยนกลุ่มคนที่ไม่ค่อยชอบในการทำธุรกิจ เช่น พวกนักลงทุน ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างธุรกิจจริงๆ

ข้อดีและข้อเสียของ Crowdsourcing

ประโยชน์สูงสุดของ Crowdsourcing คือ การสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณภาพดีกว่า เพราะการได้แนวคิด และประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากคนที่หลากหลาย รวมถึงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ Crowdsourcing ทำให้คุณสามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดจากบรรดาชิ้นงานที่ดีที่สุด (a sea of ‘best entries’) ไม่ใช่ได้ผลงานที่ดีที่สุดของคนๆ เดียว นอกจากนั้นยังได้ผลงานที่รวดเร็วกว่าการทำงานในรูปแบบเดิม คุณอาจผลิตวิดีโอได้ภายในเวลา 1 เดือน สามารถออกแบบงานได้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ หรือสามารถทำงานเสร็จได้ภายในไม่กี่นาทีจาก Microtasking

สิ่งที่จำเป็นในการทำ Crowdsourcing ก็คือ การให้รายละเอียดของงานที่ชัดเจน หากคุณไม่ได้ให้รายละเอียดงานที่ชัดเจน เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะเจอกับแนวคิดจำนวนมหาศาลที่ชวนปวดหัวหรือซับซ้อนเกินไป นอกจากนี้งานบางอย่างอาจจะมีเรื่องคุณสมบัติเฉพาะของงานเข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณา ซึ่งก็อาจทำให้บางคนไม่ชอบ ดังนั้นการตัดสินเรื่องคุณภาพของงานอาจทำได้ค่อนข้างลำบาก หากไม่ได้มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคาดหวังไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่างานทุกประเภทจะเหมาะกับ Crowdsourcing คุณอาจจะต้องลองเลือกดูว่าอะไรที่เหมาะสมบ้าง

แหล่งที่มา : http://dailycrowdsource.com/training/crowdsourcing

 




Writer

โดย ทศพล ระมิงค์วงศ์

ผู้จัดการส่วนวิจัยการเพิ่มผลผลิต
Thailand Productivity Institute