17 February 2015

ยุคนี้ไม่ว่าองค์กรไหนๆ ก็ต่างเรียกหาสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำซาก แปลกและแตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ๆ หรือแม้แต่กระบวนการทำงานใหม่ๆ

เพราะในภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา มีองค์กรเกิดและดับอยู่ทุกชั่วโมง ถ้าองค์กรไหนย่ำอยู่กับที่ มีแต่ผลิตภัณฑ์เดิมๆ บริการเดิมๆ กระบวนการทำงานแบบเดิมๆ ขณะที่คู่แข่งเร่งพัฒนาตนเองอยู่เสมอ สักวันคู่แข่งก็จะวิ่งนำหน้าไปแบบไม่เห็นฝุ่น

ดังนั้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เหนือกว่าคู่แข่ง ทำให้หลายองค์กรหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพนักงานให้มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดและสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร 

ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร

E. Paul Torrance เจ้าพ่อแห่งวงการความคิดสร้างสรรค์ ผู้ซึ่งเป็นนักวิจัยชั้นแนวหน้าเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และผู้สร้าง Torrance Tests of Creative Thinking (TTCT) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดความคิดสร้างสรรค์ที่แพร่หลายในปัจจุบัน ได้ให้ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ว่า หมายถึง กระบวนการที่ไวต่อการตอบสนองสิ่งที่เป็นปัญหา ความขาดแคลน ช่องว่างความรู้ ความไม่สมบูรณ์ หรือความขัดแย้ง โดยกำหนดปัญหา แล้วค้นหาแนวทางแก้ไข และคาดเดาหรือสร้างสมมติฐานเกี่ยวกับสิ่งนั้น จากนั้นจึงทดสอบสมมติฐานซ้ำหลายครั้ง เพื่อแก้ไขจนสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ได้  

ซึ่ง Teresa M. Amabile นักวิจัยและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Harvard Business School ได้อธิบายว่า องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์มี 3 ปัจจัยประกอบเข้าด้วยกัน คือ

P-world-113 : KM 1

1. ความเชี่ยวชาญ (Expertise)

ความเชี่ยวชาญ หมายถึง ข้อมูลและความรู้ทั้งหมดที่บุคคลนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งความรู้เชิงทักษะ กระบวนการ ปัญญา โดย Howard Gardner ได้ศึกษาในเรื่องดังกล่าวและเสนอเพิ่มเติมว่า รูปแบบความรู้ที่ดีที่สุดสำหรับความคิดสร้างสรรค์เป็น T-shape กล่าวคือ บุคคลต้องมีความรู้เชิงกว้างในเรื่องที่หลากหลาย และมีประสบการณ์เชิงลึก 1-2 เรื่อง ความรู้เชิงลึกจะเป็นพื้นฐานในการคิดเรื่องดังกล่าว ขณะที่ความรู้เชิงกว้างจะทำให้บุคคลสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่มีเข้าด้วยกันในรูปแบบใหม่

2. ทักษะในการคิดอย่างสร้างสรรค์ (Creative-thinking skills)

ทักษะในการคิดอย่างสร้างสรรค์ขึ้นกับบุคลิกภาพและรูปแบบการคิด/การทำงานของแต่ละบุคคล ซึ่งจะส่งผลต่อความยืดหยุ่นและจินตนาการที่บุคคลใช้ในการแก้ไขปัญหา โดย Amabile เสนอว่า ทักษะในการคิดอย่างสร้างสรรค์จะมีลักษณะ ดังนี้

  • ความกล้าแสดงความคิดที่แตกต่างจากคนอื่นและทดลองหาวิธีการที่แตกต่างจากเดิม
  • การผสมผสานความรู้ในเรื่องที่หลากหลาย
  • การมีความเพียรพยายามต่อปัญหาที่ยากลำบากและอุปสรรค
  • ความสามารถที่จะปลีกจากความคิดจดจ่อและกลับมาพร้อมมุมมองใหม่ (Incubation – การฟักตัว)

3. แรงจูงใจ (Motivation)

แรงจูงใจถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่หลายทฤษฎีได้ชี้ให้เห็นว่า แรงจูงใจถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของความคิดสร้างสรรค์และก่อให้เกิดการสร้างผลผลิตเชิงสร้างสรรค์ (Creative Production) โดย Amabile อธิบายว่า จากหลักฐานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาพบว่า ภาวะที่บุคคลจะมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด คือ เมื่อถูกจูงใจด้วยแรงจูงใจภายใน ทั้งความสนใจ ความพึงพอใจ และความท้าทายในงาน ไม่ใช่ด้วยแรงจูงใจจากภายนอก

กระบวนการเกิดความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้อย่างไร

นักวิชาการคนแรกที่อธิบายถึงกระบวนการเกิดความคิดสร้างสรรค์ คือ Graham Wallas ซึ่งมีอิทธิพลต่อนักวิชาการที่ศึกษากระบวนการเกิดความคิดสร้างสรรค์ในเวลาต่อมา Wallas ได้แบ่งกระบวนการเกิดความคิดสร้างสรรค์เป็น 4 ขั้นตอน คือ

P-world-113 : KM 2

1. ขั้นเตรียมความคิด (Preparation)

เป็นขั้นตอนที่บุคคลค้นคว้า และรวบรวมความรู้จากแหล่งต่างๆ ค้นหาความเป็นไปได้ต่างๆ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา รวบรวมข้อมูล แยกแยะ และวิเคราะห์ปัญหา เพราะบุคคลจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนต่อเมื่อกำหนดปัญหาที่ชัดเจน ในขั้นนี้เป็นการใช้สมองในภาวะจิตสำนึก (Conscious) อย่างสมบูรณ์

2. ขั้นความคิดฟักตัว (Incubation)

เป็นขั้นตอนที่เข้าสู่ภาวะจิตใต้สำนึก (Unconscious) ในการค้นหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา จิตใต้สำนึกจะค่อยๆ นำชิ้นส่วนข้อมูลแต่ละอย่างที่ได้จากขั้นเตรียมความคิดมาประกอบกันเป็นภาพ จนนำไปสู่ขั้นความคิดกระจ่าง ความคิดที่ดีส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงที่บุคคลเบนความสนใจไปจากปัญหาหลังจากจดจ่ออยู่กับปัญหาในชั่วเวลาหนึ่ง โดยอาจเป็นช่วงที่หันไปให้ความสนใจต่อปัญหาอื่น หรือในช่วงที่ผ่อนคลายจากปัญหาทั้งหมด

3.ขั้นความคิดกระจ่าง (Illumination)

เป็นขั้นตอนที่ค้นพบแนวทางในแก้ไขปัญหาอย่างฉับพลัน โดยการนำความรู้ที่ได้จากขั้นแรกมาคิดอย่างอิสระในขั้นฟักตัว จนเกิดเป็นความคิดในรูปแบบใหม่

4. ขั้นทดสอบความคิดและลงมือปฏิบัติจริง (Implementation/Verification)

ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการทำให้การพัฒนาความคิดใดๆ ประสบความสำเร็จได้ โดยเป็นการนำแนวทางที่ได้มาตรวจสอบและทำให้ชัดเจน เพื่อประมวลและทำให้เห็นผลในการปฏิบัติจริง

ความรู้ แหล่งผลิตความคิดสร้างสรรค์

จากเนื้อหาที่เราได้คุยกันในข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากกระบอกไม้ไผ่ ไม่ใช่ว่าเราไม่จำเป็นต้องหาความรู้ใหม่ๆ มาใส่ตัว     ไม่ใช่ว่าเราไม่จำเป็นต้องขวนขวายเรียนปริญญาโทหรือปริญญาเอกหลังเลิกงานหรือวันเสาร์อาทิตย์     ไม่ใช่ว่าองค์กรของเราไม่จำเป็นต้องทำ KM แค่แต่ละคนอยู่เฉยๆ นั่งๆ นอนๆ ฝันกลางวันไปเรื่อยๆ แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว

เพราะความคิดสร้างสรรค์แตกต่างจากการจินตนาการ Alex F. Osborn ผู้คิดค้นเทคนิคการระดมสมอง (Brain Storming) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นจินตนาการประยุกต์ (Applied imagination) นั่นคือ ความคิดสร้างสรรค์เป็นจินตนาการที่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นและการผลิตสิ่งแปลกใหม่ ไม่ใช่จินตนาการโดยทั่วไป

ความคิดสร้างสรรค์จึงจำเป็นต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ ในชีวิตประจำวัน เรามักจะเห็นว่า วิธีการคิดของพนักงานในแต่ละอาชีพล้วนแตกต่างกัน ถ้าโยนปัญหาเดียวกันให้นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักบัญชี นักการตลาด  ศิลปิน หรือเจ้าของธุรกิจ SMEs คิดหาทางออก แต่ละคนก็จะมีวิธีการสร้างสรรค์แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมือนกัน นั่นเพราะแต่ละอาชีพมีพื้นฐานความรู้ที่ไม่เหมือนกัน วิธีการแก้ไขปัญหาจึงแตกต่างกัน

ถ้าเทียบความคิดสร้างสรรค์กับ KM Process หรือกระบวนการในการจัดการความรู้ให้เกิดคุณค่าแก่องค์กร 6 ขั้นตอน (กำหนด , สร้าง/แสวงหา, รวบรวมและจัดเก็บ , เข้าถึง , แบ่งปัน และใช้)   ซึ่งเราได้เคยคุยกันไปแล้วนั้น  การใช้ความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นขั้นที่องค์กรส่วนใหญ่ละเลยไป นั่นคือการ “ใช้” ความรู้ที่องค์กรมีให้เป็นประโยชน์แก่ตัวองค์กรเอง ดังนั้น การใช้ศักยภาพ KM อย่างเต็มที่จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะก่อให้เกิดนวัตกรรมตามที่องค์กรปรารถนา

เอกสารอ้างอิง

  1. John Kapeleris. (2011). “How to Stimulate Personal Creativity”. URL: http://johnkapeleris.com/blog/?tag=creative-thinking.
  2. Karlyn Adams. (2005). “The Sources of Innovation and Creativity”. A Paper Commission by the National Center on Education and the Economy for the New Commission on the Skills of American Workforce.
  3. Kyung Hee Kim. (2006). “Can We Trust Creativity Tests? A Review of the Torrance Tests of Creative Thinking (TTCT)”. Creativity Research Journal. Vol. 18. No. 1, 3–14.
  4. Maria Popova. “The Art of Thought: Graham Wallas on the Four Stages of Creativity, 1926”. URL: http://www.brainpickings.org/2013/08/28/the-art-of-thought-graham-wallas-stages/.



Writer

โดย นภัสวรรณ ไทยานันท์

นักวิจัย ส่วนวิจัยการจัดการองค์กร
ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ