22 July 2025

ชี้นำทำให้ชัด 

 

โดยคุณสุรีพันธุ์  เสนานุช วิทยากรอิสระ ด้านการจัดการความรู้และถอดบทเรียน 

       

 

           บทบาทหลักของผู้นำ 4 ประการคือ หนึ่ง การชี้และนำ สอง การสื่อสารทำให้เข้าใจตรงกัน สาม ขับเคลื่อนด้วยการกระตุ้นผลงาน และสี่ มุ่งสู่ความสำเร็จนั้น “การชี้” เป็นกระดุมเม็ดแรกสามารถพยากรณ์ได้ไม่ยากว่าองค์กรนั้นจะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่ 

           วิสัยทัศน์คือ “การชี้” ที่เป็นรูปธรรมของผู้นำ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีหลายองค์กรที่เขียนวิสัยทัศน์ให้ดูดี แต่ไม่มีทางไป เพราะขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติ  

           ในเวทีเสวนาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้นำองค์กรที่ได้รับรางวัล Leadership Excellence Award 2024 ในโครงการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีประเด็นที่น่าสนใจของบทบาทการชี้นำซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จ ลดโอกาสการ “หลงทาง” ของคนในองค์กรที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนได้อย่างดียิ่ง 

           คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า  “เป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรมและสร้างมาตรฐานระดับนานาชาติ” ซึ่งรศ.นพ.ฉันชายกล่าวว่าทีมผู้บริหารใช้เวลาอยู่นานในการตีความร่วมกัน โดยเริ่มต้นตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศไทยต้องมีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันนี้ที่มีโรงเรียนแพทย์ 28 แห่ง

           ระยะเวลา 78 ปีนับตั้งแต่วันก่อตั้ง จากพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ด้วยมีพระราชประสงค์ให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากขณะนั้นมีเพียงคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เป็นสถานที่ฝึกอบรมแพทย์เพียงแห่งเดียว มาถึงปัจจุบันเมื่อมีสถาบันผลิตแพทย์มากขึ้น พันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม จึงต้องมีการตั้งคำถามเพื่อหาทิศทางในการก้าวไปสู่ความสำเร็จในอนาคตขององค์กร 

           “อะไรคือความแตกต่าง” เป็นคำถามเริ่มต้นที่จะค้นหาคำตอบว่าทำไมจึงต้องมีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบันและอนาคต 

           การเป็นสถาบันต้นแบบที่กำหนดไว้ จึงต้องมีเป้าหมายในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ต้องเป็นผู้นำ ได้รับการยอมรับและมีผู้ทำตาม นั่นคือการเป็นนวัตกร (Innovator 

           โดยการสร้างนวัตกรรมไม่ใช่การนับผลงาน แต่นับที่ผลสำเร็จในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เป็นที่ยอมรับ จึงบรรลุถึงคำว่าสถาบันต้นแบบอย่างแท้จริง แล้วนำไปสร้างมาตรฐานในการเรียน การสอน การวิจัย โดยยึดคุณธรรมเป็น Guiding principle การตีความที่ชัดเจนถึงแนวทางปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้การสื่อสารเพื่อ “ชีนำ” เข้าใจได้อย่างทั่วถึง เห็นความสำเร็จที่จับต้องได้ 

           ตัวอย่างโครงการที่เป็นต้นแบบของโรงเรียนแพทย์ก็คือการทำโครงการแพทย์ชนบท ที่ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้แพทย์ไป retrain ในภูมิภาค เป็นที่มาของการผลิตแพทย์ที่เรียกว่า Cpird  

           ปี 2568 เริ่มการเรียนแบบไม่มีเกรด เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด และพร้อมที่จะเป็นแพทย์ ประเด็นหลักที่สื่อสารไปทั่วทั้งองค์กรก็คือ “ต้องมองตัวเองให้ชัดว่าหน้าที่ของเราคืออะไร ทำไมต้องมีเราในวันพรุ่งนี้ ถ้าทำเหมือนเดิม อนาคตคงไม่มีเราก็ได้” 

นวัตกรรมจึงเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับแนวทางในการปฏิบัติ สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือต้องเป็นนวัตกรรมที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง สร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพียงการคิดค้นหาสิ่งใหม่ แต่นำไปใช้ไม่ได้จริง  

           ความชัดเจนในการตีความวิสัยทัศน์ จึงเป็นกระดุมเม็ดแรกที่มีผลต่อความสำเร็จอย่างยิ่ง แต่ก็มีหลายองค์กรที่ผู้นำมักจะมองข้ามไป ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นผลงานเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จมากกว่า ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเปิดโอกาสให้มีอิสระในการคิด แต่ก็จำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนเป็นเสมือนดวงดาวส่องนำทางในความมืดด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นความคิดนั้นอาจหลงทาง ไม่สร้างประโยชน์ เสียเวลาและทรัพยากรขององค์กรไปอย่างน่าเสียดาย 

           การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ปฏิบัติจริงจึงเป็นความรู้ที่มีคุณค่า กระตุ้นให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ที่อาจมองข้าม ช่วยให้สังคมก้าวเดินไปในอนาคตร่วมกันอย่างมีคุณภาพ 

 

สรุปขั้นตอนของการทำให้การชี้นำชัดเจน

✅ ตั้งคำถามถึงเป้าหมายที่จะก้าวเดินไปว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร เพื่ออะไร

✅ ทำให้เป้าหมายนั้นมีแนวทางปฏิบัติ

✅ ทำความเข้าใจถึงความสำเร็จของเป้าหมายให้ตรงกัน

 

ค้นหาหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

4 Steps to be a Great Supervisor (4 ขั้นตอนสู่การเป็นสุดยอดหัวหน้างาน ตามแนวทาง TWI)
วันที่ 14-15 สิงหาคม 2568 รายละเอียด คลิก

Meaningful Work Impact : ค้นหาศักยภาพ สร้างพลังในการทำงาน
วันที่ 14-15 สิงหาคม 2568 รายละเอียด คลิก

Leading with Empathy and Vulnerability
วันที่ 19 สิงหาคม 2568 รายละเอียด คลิก




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น