27 May 2015

บทความฉบับนี้ยังคงเกาะติดแนวทางการสร้างสรรค์องค์กรให้เป็นพื้นที่น่าทำงานสำหรับบรรดามนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย เพราะโลกวันนี้ได้เปลี่ยนไปในทางที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีทางเลือกในการทำงานมากกว่าเดิม และถ้าเป็นคนเก่งและดีด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึงนายจ้างแทบต้องปูพรมแดงให้เดินกันทีเดียว บางทีเราอาจก้าวเข้าสู่ภาวะสงครามแย่งชิงคนเก่ง (War for Talents) กันแล้วก็ได้ไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรไม่อาจเพิกเฉยกับการพัฒนาองค์กรให้มีบรรยากาศทางบวกที่ชวนให้คนเก่งที่อยู่กับเรามีขวัญกำลังใจ เกิดพลังสร้างผลงานเด่น ไม่อยากย้ายไปซบอกนายใหม่ และเมื่อคนใหม่เดินเข้าสมัครงานมารู้สึกว่า “ทำอย่างไรดี ฉันอยากทำงานที่นี่จัง”

ในปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมามีบริษัททำวิจัยและที่ปรึกษา ชื่อ Great Place To Work ได้ดำเนินการสำรวจบรรษัทข้ามชาติทั่วโลก (Multi-national Companies) ที่มีสำนักงานสาขาพร้อมทั้งพนักงานมากกว่า 5,000 คนกระจายตัวในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งร้อยละ 40 ของจำนวนพนักงานทั้งหมดทำงานอยู่ในต่างประเทศที่ไม่ใช่สำนักงานใหญ่ จริง ๆ แล้ว เขาทำสำรวจมา 25 บริษัททั่วโลก เช่นเดียวกันกับบริษัทขนาดกลางและเล็ก (Small & Medium Enterprises-SME) ที่มีผลการสำรวจเช่นเดียวกัน ผู้อ่านสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลได้จาก http://www.greatplacetowork.com เนื้อหาในตอนนี้จะมุ่งเจาะลึกไปที่องค์กรขวัญใจเบอร์หนึ่ง ได้แก่ Google ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อดิจิตอลที่ฮิตสุดในบ้านเรา ประมาณว่า “อยากรู้อะไรให้ถามอากู๋” ที่ผู้เขียนจะให้ทั้งมุมมองของพนักงานว่าประทับใจองค์กรตรงไหน และแนวปฏิบัติที่บริษัทเขาทำให้บุคลากร ประมาณว่าดูที่ผลก่อนแล้วย้อนมาดูที่เหตุ ก็เรื่องของความรู้สึกวัดกันที่ใจของผู้รับ ไม่ได้นับกันที่กิจกรรมว่าฉันทำอะไรให้เธอบ้าง จริงไหมท่านผู้อ่าน

Google รู้ทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้เรื่องใจของพนักงานก่อนอื่นเรามาดูข้อมูลเบื้องต้นกันว่าบุคลากรของ Google เขาให้คะแนนนายจ้างในมิติความสุดยอดด้านต่าง ๆ มีทั้งหมด 6 มิติด้วยกันได้แก่ (1) ความท้าทายในงาน (Great Challenges) (2) บรรยากาศการทำงาน (Great Atmosphere) (3) การให้รางวัล (Great Rewards) (4) ความรู้สึกภาคภูมิใจ (Great Pride) (5) การสื่อสาร (Great Communication) และ (6) เจ้านาย (Great Bosses) สรุปคะแนน ดังนี้

GreatRatedGoogle

  1. ความท้าทายในงาน (Great Challenges) ได้คะแนนร้อยละ 97
  2. บรรยากาศการทำงาน (Great Atmosphere) ได้คะแนนร้อยละ 97
  3. การให้รางวัล (Great Rewards) ได้คะแนนร้อยละ 97
  4. ความรู้สึกภาคภูมิใจ (Great Pride) ได้คะแนนร้อยละ 98
  5. การสื่อสาร (Great Communication) ได้คะแนนร้อยละ 97
  6. เจ้านาย (Great Bosses) ได้คะแนนร้อยละ 95

googleinc_WordCloud2504

ภาพสรุปความประทับใจของพนักงาน (Employee Quotes)

คำพูดด้านล่างเป็นตัวอย่างการให้ภาพสะท้อน (Feedback) ของพนักงานที่มีต่อบริษัท ซึ่งแน่นอนว่า เป็นข้อมูลเชิงบวกอยู่แล้ว เพราะเรากำลังฝึกจับถูกมองหาจุดดีของเขาที่องค์กรของท่านอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ (มุมมองเชิงลบอย่าไปสนใจเลยนะ เพราะเป็นเรื่องภายในของเขา ให้ผู้บริหารเขาจัดการกันเองแล้วกัน) มาดูกันว่าคนของเขาชื่นชมบริษัทในเรื่องใดกันบ้าง ดังข้อความต่อไปนี้

“ฉันไม่เคยพบบริษัทไหนที่ใส่ใจต่อความคิดเห็นของพนักงานขนาดนี้มาก่อน ผู้บริหารให้ความสำคัญกับการสำรวจความคิดเห็นประจำปีอย่างจริงจัง รวมทั้งผลสำรวจที่ออกมาก็มีการเปิดเผยและนำไปดำเนินการปรับปรุงอย่างรวดเร็ว” (I have never seen a company that is so responsive to feedback from employees. The annual survey is taken very seriously and the feedback is addressed quickly.)

“เอกลักษณ์ของ Google คือ การใส่ใจพนักงานอย่างที่สุดและอาหารฟรี และการได้ทำงานร่วมกับคนที่นี่เป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นสุดยอดที่ทำงาน เพราะนอกจากจะได้ทำงานกับคนฉลาดแบบสุด ๆ ที่ไม่ขี้โม้โอ้อวดแล้ว พวกเรายังทำงานกันเหมือนบริษัทนี้เป็นของเราเองแถมยังทำงานกันเป็นทีมเหมือนพี่เหมือนน้องกันอีกด้วย” (While the perks and free meals are unique perks of Google, the people are what makes this place a great place to work. People are super smart, but not boastful and there is a sense of belonging and family within the team.)

“Google เป็นบริษัทที่เผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่ ๆ ยาก ๆ ที่เราไม่เคยเจอมันมาก่อน แต่พวกเรากลับรู้สึกตื่นเต้นทุกวันที่ได้มาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาพวกนั้น นั่นเป็นเพราะมันทำให้เรารู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ที่มากไปกว่าตัวเอง” (Google is a company that tackles super large problems that have never been solved before. Coming into work every day is exciting, because we get to be part of something greater than ourselves.)

“ทุกคนที่นี่ใจดีอย่างไม่น่าเชื่อ พวกเรามุ่งมั่นที่จะทำให้ Google มีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดีที่สุดและพยายามส่งต่อความเอื้อเฟื้อในการทำงานให้แก่กันและกัน โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและตัวอย่างความสำเร็จที่จะเป็นประโยชน์ในการทำงานทั้งภายในกลุ่มงานของตนเอง และนอกกลุ่มงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันรวมถึงแบ่งปันให้สังคมภายนอกได้รับรู้อีกด้วย” (Everyone is incredibly kind and focused on making Google a great environment. People are continually making an effort to make this a collaborative workplace both by sharing ideas and best practices for within their line of work and also by
creating groups for activities that are non-work related inside and outside the office.)

“Google ให้ความสนใจต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของบุคลากรอย่างจริงใจ โดยเฉพาะการเติบโตภายในบริษัท ซึ่งได้มีการเตรียมโอกาสไว้ให้พนักงานอย่างเหลือเฟือในทุกพื้นที่ขององค์กร ที่สำคัญคือบริษัทให้ความสำคัญต่อการลงทุนในบุคลากรเพื่อที่จะรักษาคนเก่งไว้ให้อยู่กับบริษัท” (Google has a genuine interest in developing their employees’ careers, especially when it comes to internal mobility. There are tons of opportunities everywhere and Google really invests in their employees to retain their top talent.)

“การทำงานกับองค์กรที่เต็มใจให้โอกาสและจัดสรรทรัพยากรสำหรับทดลองความคิดใหม่ ๆ ที่ล้ำหน้าถือว่าเป็นการให้รางวัลคนทำงาน ซึ่ง Google แคร์ต่อความรู้สึกตรงนี้ทั้งของคนทำงาน ผู้ใช้งาน ความเป็นส่วนตัว และคุณภาพผลิตภัณฑ์” (Being at a company that’s willing to allocate resources to very forward-thinking ideas is rewarding. Google truly cares so much about the user, privacy and well-made products.)

“ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วเกี่ยวกับสวัสดิการที่สุดยอดของที่นี่ได้แก่ อาหารฟรี บริการนวดผ่อนคลาย บริการซักเสื้อผ้า และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ โอกาสที่ได้ทำงานโครงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจของทั้งบริษัท และยังเปิดโอกาสให้แก่กิจกรรมเล็ก ๆ ที่ริเริ่มจากทีมงานเล็ก ๆ อย่างไม่จำกัดอีกด้วย” (Everyone knows about the perks, which are great: free food, massages, laundry facilities,etc. Additionally though and probably more important, is the opportunity to work on innovative and interesting projects across the entire organization, not just limited to a small ‘new initiatives’ team.)

ความรู้สึกประทับใจเหล่านี้เป็นเพียงผลลัพธ์ส่วนหนึ่งเท่านั้นของการบริหารจัดการองค์กรแบบให้ความสำคัญแก่การบริหารทรัพยากรบุคคล เพราะผู้บริหารเชื่อว่า บุคลากรที่เปรียบได้ดังทรัพยากรที่มีคุณค่าเหล่านี้ย่อมนำซึ่งผลงานที่เป็นเลิศแก่บริษัทถ้าเขาสามารถทำงานโดยปราศจากความกังวลใจ หรือมีความกังวลใจน้อยที่สุดเกี่ยวกับเงื่อนไขการจ้าง ผลประโยชน์ สวัสดิการ และเกิดแรงจูงใจในการทำงาน การตระหนักถึงคุณค่าของผลงานตนเอง รวมถึงบรรยากาศอื่นที่ช่วยกระตุ้นพลังความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจสื่อดิจิตอล

หากสรุปคร่าว ๆ จากถ้อยความเหล่านี้จะพบว่าพวกเขาประทับใจในทั้งสิ่งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ของสิ่งที่บริษัทให้การดูแล ประเภทที่จับต้องได้ เช่น สวัสดิการและผลประโยชน์สำหรับคนที่ทำงานเสมือนกับอยู่ในโรงเรียนกินนอน และค่าตอบแทนที่ให้เกียรติกับมันสมองชั้นเลิศ ส่วนที่จับต้องไม่ได้แต่กระทบความรู้สึก เช่น โอกาสในการทำงานที่ท้าทาย โอกาสก้าวหน้าและการพัฒนาที่สอดคล้องกัน บรรยากาศการทำงานเป็นทีม บทบาทของผู้นำที่เชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของบุคลากรทุกระดับ ฉบับหน้าจะมาเล่าต่อถึงแนวทางการปฏิบัติของ Google ว่าเขาทำอะไรกันบ้างในมิติต่าง ๆ ถึงได้ผลลัพธ์ดี๊ดีแบบที่หลายท่านอยากจะย้ายตัวเองไปทำงานที่นี่หรือคิดว่าถ้าที่ทำงานเราเป็นแบบนี้บ้างก็ดีสินะ แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าสวัสดีค่ะ

 

ถอดความจากเรื่องและภาพ : http://www.greatplacetowork.com/best-companies/100-best-companies-to-work-for
ภาพเพิ่มเติมจาก : http://searchenginewatch.com/IMG/355/271355/google-hummingbird.png?1380228373



Writer

โดย ศศิภา ปริปุณณะ

• วิทยากรที่ปรึกษาอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารและพัฒนาบุคลากร
• ปริญาโท สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์
• ประสบการณ์ที่ผ่านมา อาทิ ด้านพัฒนาบุคลากร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยากรที่ปรึกษา ด้านบริหารทรัพยากรบุคล สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ