3 April 2020

เมื่อวันก่อนมีโอกาสอ่านงานบทความของ Gallup บริษัทวิจัยยักษ์ใหญ่ของโลก ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและคนทำงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้นำที่สามารถรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิผล

การวิจัยครั้งนี้ Gallup ได้ให้ความหมายของคำว่า “ผู้นำ” ไว้กว้างใหญ่กว่าแค่ผู้นำประเทศหรือนักการเมือง แต่ยังหมายรวมถึงผู้นำกองทัพ ผู้นำในองค์กร ผู้นำชุมชม ผู้นำครอบครัว ผู้นำทางศาสนา ผู้นำทางความคิดและไลฟ์สไตล์ อย่างพวกเซเลบริตี้และเน็ตไอดอลต่างๆ ด้วย

 

 ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนและคนทำงานต้องการเห็นคุณสมบัติของผู้นำ
ในยุค COVID-19 5 ประการด้วยกัน คือ

1

ความเห็นอกเห็นใจ
Compassion  

ผู้นำที่ดีต้องมีจิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตาธรรม มีความเห็นอกเห็นใจประชาชนและคนในทีม ทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

———-

2

ความมั่นคงไม่หวั่นไหว
Stability

ผู้นำต้องมีความสุขุมรอบคอบ สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่เละเทะหรือลนลานจนมั่ว มองเห็นสถานการณ์ในระยะยาวได้ไกลกว่าแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านไป

———-

3

ความน่าเชื่อถือ
Trust

ผู้นำต้องเป็นที่อาศัยพึ่งพิงของประชาชนและสมาชิกในทีมได้ ทุกคนรู้สึกอุ่นใจ เชื่อใจ และไว้ใจว่าในยามวิกฤติ เรามีผู้นำที่มีความสามารถ จะนำพาพวกเราให้อยู่รอดปลอดภัยได้

———-

4

ความหวังและกำลังใจ
Hope

ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ความหวังและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการคิดแง่บวก ไม่เหนื่อยหน่ายท้อแท้ต่อปัญหาและอุปสรรคทั้งหลาย รวมทั้งยังต้องทำหน้าที่ในการกระตุ้นให้ทุกคนมีพลังและกำลังใจที่จะเดินหน้าสู้ต่อไปด้วย

———-

5

แรงบันดาลใจในการสร้างอนาคต
Inspiration for the Future

ทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา หลังฝนตกท้องฟ้าจะแจ่มใส วิกฤติมาแล้วก็ผ่านไป ผู้นำต้องคิดและเตรียมการล่วงหน้า เมื่อวันที่ท้องฟ้ากลับมาสดใสอีกครั้ง เราต้องมีพลังและความพร้อมในการออกวิ่งเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ เหมือนกบจำศีล ที่รอคอยวันฝนโปรยปราย เพื่อออกหากินและขยายพันธุ์ต่อไป

———-

ปัจจัยทั้ง 5 นี้ มีความสำคัญและต้องมาด้วยกันเสมอ หากขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไป ความสำเร็จย่อม  เกิดขึ้นไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้นำที่มีความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) แต่ขาดความมั่นคง (Stability) ก็จะทำให้ทีมอ่อนแรงลง จนไม่มีจุดยืนและไม่สามารถต่อสู้กับวิกฤติได้ต่อไป ส่วนผู้นำที่ค่อยหมั่นสร้างความหวังและกำลังใจ (Hope) แต่ขาดความน่าเชื่อถือ (Trust) ก็คล้ายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อผ่านลมปากที่ไม่มีใครเชื่อ เท่านั้น เป็นต้น

ลองประเมินตัวเองและผู้นำในองค์กรของคุณดู
ข้อไหนที่ทำได้ดีและข้อใดควรปรับปรุง




Writer

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

กรรมการ สลิงชอท กรุ๊ป