25 September 2019

 

โดยทั่วไปเมื่อเราพูดถึงระบบนิเวศ หรือ ecosystems เราจะนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในธรรมชาติ จนกระทั่ง ในปี 1993 Moore ให้ความเห็นไว้ว่าธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่สามารถที่จะเติบโตหรือพัฒนาได้ด้วยตนเอง องค์กรธุรกิจจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางธุรกิจหรือ business ecosystem ที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ แนวคิดเรื่อง ecosystems ได้มีการพัฒนาและปรับตัวเรื่อยมา จนมาถึงยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ธุรกิจจะต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ ระบบนิเวศทางธุรกิจในยุคนี้ซับซ้อน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจัดการในยุคนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก

คำถามเชิงกลยุทธ์สำคัญที่ต้องหาคำตอบ คือ 1) รูปแบบการทำงานร่วมกันภายในระบบนิเวศแตกต่างจากเดิม อย่างไร 2) ระบบนิเวศประเภทไหนที่เหมาะสมที่สุด สำหรับผู้ที่ต้องการครอบครองตลาด 3) ผู้ครอบครองตลาดสามารถสร้างกลยุทธ์การนำระบบดิจิทัลมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ได้อย่างไรรูปแบบการทำงานร่วมกับของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ในระบบนิเวศยุคดิจิทัล แตกต่างไปจากยุคเดิมโดยสิ้นเชิง เทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างผู้เล่นเพิ่มขึ้นมากมายพร้อมๆ กัน รูปแบบความสัมพันธ์ก็หลากหลาย เพื่อสร้างความเข้าใจจะขอยกตัวอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง ในอดีตผู้ผลิตรถยนต์ทั้งสองร่วมทุนหรือเป็นพันธมิตรกับ เพื่อเข้าร่วมตลาดใหม่ (เช่นจีน) เกิดความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนนับ 100 ราย แต่วันนี้บริษัทรถยนต์ยุโรปสร้างระบบนิเวศกว่า 30 คู่ค้าใน 5 อุตสาหกรรมที่แตกต่างในหลายประเทศ เพื่อผลิตรถยนต์ที่เชื่อมต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกัน อุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ซอฟแวร์ ฮาร์แวร์ แอพพิเคชั่น คลาว์แฟตฟอร์ม ธุรกิจประกันภัย โทรคมนาคม และบริการพิเศษอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น บัตรเครดิต

ความร่วมมือในธุรกิจยุคดิจิทัลที่การเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

เมื่อโลกเปลี่ยนไปวิถีการดำเนินธุรกิจก็เปลี่ยนไป หากใครไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ก็ไม่สามารถอยู่ในระบบนิเวศของโลกยุคใหม่ได้ แล้วบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ในระบบนิเวศใหม่ได้ จากการศึกษาของ BCG group พบประเด็นสำคัญ ดังนี้

ความหลากหลายทางภูมิศาสตร์  ความร่วมมือของบริษัทในยุคดิจิทัลก้าวข้ามข้อจำกัดในเรื่องสถานที่   ซึ่งหมายถึงการทำงานร่วมกันมักเกิดขึ้นจากระยะไกล ไม่มีอุปสรรคด้านภูมิศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรม กว่า 90% ของบริษัทในระบบนิเวศเกี่ยวข้องกับคู่ความร่วมมือมากกว่าห้าประเทศ และ 77% ของบริษัทในระบบนิเวศเกี่ยวข้องกับการพัฒนาในตลาดเกิดใหม่

มุ่งเน้นการข้ามอุตสาหกรรม  บริษัทในระบบนิเวศดิจิตอลต้องใช้การแบ่งปันความเชี่ยวชาญ ข้อมูลเทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญา การวิจัยพบว่า บริษัท 83%ในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรมากกว่าสามอุตสาหกรรม และ บริษัท 53% เกี่ยวข้องกับพันธมิตรมากกว่าห้าอุตสาหกรรม

ข้อตกลงมีเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นมากขึ้น  ระบบนิเวศมีแนวโน้มที่จะใช้โครงสร้างการจัดการที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ระบบนิเวศจะสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าอย่างรวดเร็ว

การสร้างมูลค่าร่วมกันอย่างต่อเนื่อง  ระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสร้างประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วม การสร้างมูลค่าที่เชื่อมต่อกันเป็นทอดๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่ต่อลูกค้า ตัวอย่างเช่น Alexa ของ Amazon เป็น Voice Control System หรือระบบซอฟแวร์ควบคุมด้วยเสียง ใช้ร่วมกับ Hardware ของ Amazon ตัวอย่างของการ “พัฒนา Skill ให้ Alexa สามารถหาข้อมูลและจองแพ็คเกจท่องเที่ยวกับ Expedia ใครก็ตามที่มีอุปกรณ์ที่ติดตั้ง Alexa เอาไว้ก็สามารถติดตั้งความสามารถนี้เพิ่มเติมได้ Amazon เปิดให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาทักษะความสามารถในการโต้ดอบเรื่องอะไรก็ได้ลงไปในตัว Alexa ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 5,000 Skills และยังขยายพันธมิตรกับผู้ผลิต Smart Home Devices หลายๆ ราย เช่น GE Appliances ทำให้ทุก ๆ อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เชื่อมเข้ากับ Alexa ผ่าน Wi-Fi

การเลือกระบบนิเวศที่เหมาะสม

ทางเลือกใดที่เหมาะสมกับบริษัทขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic objective) และสมรรถนะหลักของบริษัท ผู้บริหารระดับสูงต้องตัดสินใจเลือกประเภทของระบบนิเวศที่เหมาะสมที่สุด จากการวิเคราะห์ความสามารถหรือสมรรถนะหลักขององค์กรว่ามีแค่ไหน อย่างไร จากเดิมที่มักจะกำหนดวัตถุประสงค์เพียงการเพิ่มคุณภาพและลดต้นทุน มาเป็นต้องเพิ่มเรื่องดิจิทัลเข้าไป แต่ละทางเลือกสร้างโอกาสที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจแบ่งการเลือกระบบนิเวศที่เหมาะสม ได้ 3 รูปแบบ ดังภาพที่แสดงด้านล่างนี้

หลักสิบประการของการจัดการระบบนิเวศ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

  1. เลือกประเภทของระบบนิเวศที่เหมาะสม จุดเริ่มที่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ และสมรรถนะหลักขององค์กร ซึ่งอาจต้องการเลือกมากกว่าหนึ่งประเภทตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
  2. กำหนดรูปแบบการกำกับดูแล ทุกๆ ระบบนิเวศต้องมีการกำกับดูแล หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้เข้าร่วม ประหนึ่งวงออเคสตรา บทบาททั้งหมดต้องชัดเจน ทั้งความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม เพื่อให้พันธมิตรทุกคนรับรู้ รับทราบความคาดหวังระหว่างกัน การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับประเภทของระบบนิเวศที่คุณเลือก
  3. พัฒนากลยุทธ์สร้างรายได้ พิจารณาว่าปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศจะสร้างมูลค่าและสร้างรายได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ระบบสมาร์ทเชื่อมต่อการสั่งสินค้าสามารถเพิ่มรายได้ที่สูงขึ้นและสามารถสร้างรายได้จากบริการแพลตฟอร์ม มูลค่าการทำธุรกรรมสร้างรายได้ค่าโฆษณาหรือค่าธรรมเนียมการใช้งานหรือค่าธรรมเนียมการสมัคร
  4. มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าร่วมกัน ระบบนิเวศที่แข็งแกร่งและน่าดึงดูดเป็นระบบนิเวศที่ผู้ร่วมทั้งหมดต่างได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วม และมุ่งเน้นแบ่งปันคุณค่าที่เกิดขึ้นระหว่างกัน
  5. สร้างพันธมิตรที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับแรก มอบบทบาทและความรับผิดชอบในความร่วมมือของแต่ละผู้ร่วมนิเวศ สร้างอาณาจักรเชิงพาณิชย์ที่ยิ่งใหญ่ด้วยการเพิ่มการสร้างคุณค่าภายในระบบนิเวศ
  6. รักษาความคล่องตัวลื่นไหล ยืดหยุ่นระหว่างกัน ให้สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในอาณาจักรของธุรกิจ รวมทั้งการสร้างพันธมิตรใหม่ๆ หรือนำออกไปได้อย่างรวดเร็ว
  7. สร้างความไว้วางใจในหมู่คู่ค้า กลไกการป้องกัน ข้อจำกัดและสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับภาระผูกพันตามสัญญาในข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลและการควบคุม ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
  8. สร้างความสัมพันธ์ในชุมชนระหว่างพันธมิตร จัดการประชุมกับพันธมิตรเพื่อรับข้อเสนอแนะ ร่วมสร้างสรรค์พูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงของแผนงานต่าง ๆ สร้างการรับรู้และความรู้สึกร่วมกัน เพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน
  9. กำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อการติดตาม กำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่เกี่ยวข้องกับรายได้ ผลกำไรและระดับคุณภาพของการให้บริการของแต่ละคู่ค้า และตัวชี้วัดของระบบนิเวศโดยรวม รวมทั้งติดตามและทบทวนผลการดำเนินงานเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส เพื่อปรับปรุงตามความจำเป็น
  10. แยกระบบนิเวศใหม่จากธุรกิจดั้งเดิม เพื่อให้แน่ใจว่าระบบนิเวศยังคงความคล่องตัวและไม่ถูกจำกัดด้วยนโยบายและขั้นตอนของสภาพแวดล้อมเดิมขององค์กร โดยให้พวกเขาแยกหน่วยงานต่างหาก หรือรายงานตรงต่อผู้บริหารระดับสูง

    ……………………………………………

บทสรุป

มีโอกาสทางธุรกิจเกิดขึ้นมากมายในโลกยุคดิจิทัล รูปแบบธุรกิจในยุคที่การเชื่อมต่อไร้ขีดจำกัดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่เกิดขึ้นบางครั้งเราต่างไม่คาดคิดมาก่อน แต่การจะดำรงอยู่เพื่อเป็นผู้ครองตลาดในนิเวศของธุรกิจยุคนี้หรือยุคก่อน สิ่งที่เหมือนกันคือต้องเริ่มต้นที่ความเข้าใจในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ แล้วหันกลับมามองความพร้อมของความสามารถขององค์กร ซึ่งบางสิ่งไม่มีอยู่เดิมแต่สร้างขึ้นใหม่ได้ แล้วจึงเลือกรูปแบบการเปลี่ยนแปลงธุรกิจที่เหมาะสมกับกิจการตนเอง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงหรือเป้าหมายของนิเวศคือการสร้างคุณค่าหรือประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า สังคม และประโยชน์ร่วมกันของผู้ที่อยู่ร่วมนิเวศ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://www.bcg.com/publications/2019/emerging-art-ecosystem-management.aspx




Writer

โดย วิภาธร เฉลิมไทย

ผู้จัดการส่วนกลยุทธ์และแผน ส่วนกลยุทธ์และแผน
ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ