9 May 2018

 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกยุคต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างทั้งโอกาสและผลกระทบ กับผู้เล่นในเกมเศรษฐกิจ ทั้งในระดับขององค์กรไปจนถึงระดับชาติ เกิดการล้มลงของผู้นำตลาดเดิมและเกิดผู้มีอิทธิพลใหม่ที่พุ่งขึ้นมา

หากกล่าวถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 1.0 ที่มีการพัฒนาเครื่องจักรไอน้ำมาใช้แทนแรงงาน ผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ อังกฤษมหาอำนาจในเวลานั้น   อุตสาหกรรมยุค 2.0 มีการปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นแบบ mass production มีเครื่องจักรและระบบสายพรานจากพลังงานไฟฟ้า ทำให้โรงงานผลิตสินค้าได้จำนวนมากในราคาที่ถูกลง ผู้นำคือ อเมริกา โดยมีบริษัทอย่าง ฟอร์ดมอเตอร์ ที่กอบโกยรายได้ไปมหาศาล อุตสาหกรรมยุค 3.0 มีการนำระบบอิเล็คทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ มาช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้น ผู้นำการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตเหล่านี้ คงหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น ที่ขยายฐานการผลิตไปมากมายทั่วโลก

มาถึงยุคนี้ที่พูดถึงอุตสาหกรรม 4.0 ว่าจะนำพาการเปลี่ยนแปลงมาอย่างรวดเร็วและรุนแรง ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย มาช่วยให้การผลิตมีการเชื่อมต่อของข้อมูลผ่านระบบโครงข่ายทั่วโลก ความต้องการจากลูกค้า ส่งผ่านทุกห่วงโซ่การผลิต เกิดการผลิตแบบ mass customization ที่สามารถผลิตสินค้าที่หลากหลาย ออกแบบเป็นพิเศษสำหรับลูกค้าเฉพาะราย แต่ยังคงประสิทธิภาพการผลิตได้จำนวนมากในราคาที่ประหยัด ยุค 4.0 อาจจะพูดยากว่าชาติใดจะกระโดดขึ้นมาเป็นผู้นำการปฏิวัติ จะเป็นเยอรมัน เกาหลี หรือชาติอื่นๆ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้พรมแดน แต่ที่แน่ใจได้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมสร้างโอกาสให้กับคนที่เตรียมพร้อมและใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์

แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีชาวจีน ผู้ปลุกปั้นอาลีบาบา e-commerce เจ้าใหญ่ระดับโลก คงเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง จากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล เขาได้แสดงมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับโอกาส ความเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาตัวเองของมนุษย์อย่างเราๆ ในงานประชุมของ World Economic Forum ณ กรุงดาวอส สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อช่วงต้นปีนี้

เขาเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนของประเทศจีน เขาไม่ได้รับการศึกษาที่ดีนักและไม่มีเทคโนโลยีทันสมัยให้ใช้ ให้เรียนรู้ (ไม่น่าเชื่อว่าต่อมาเขาจะเป็นเจ้าของบริษัทด้านไอทียักษ์ใหญ่ของโลก) แต่วิธีคิดแบบแจ็ค หม่า ที่แตกต่างจากคนอื่น ทำให้เขามองว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น และเขาได้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง เตรียมตัวเองให้พร้อม พัฒนาตัวเอง เพื่อให้บรรลุกับเป้าหมายที่เขาเชื่อว่าจะเกิดขึ้น.. อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีดิจิทัล คือ สิ่งที่เขาเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของโลก

ถ้าเราคิดถึงแค่พรุ่งนี้ เดือนหน้า หรือปีหน้าว่าจะประสบความสำเร็จมันคงเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่โอกาสสำหรับผม โอกาสของคนจนแบบผมที่จะประสบความสำเร็จได้ คือ ต้องคิดให้ไกลถึง 10 ปีข้างหน้า

คำพูดของแจ็ค หม่า ประโยคนี้ถือว่าเป็นวิธีคิดสำคัญ ในการมองหาโอกาสของคนที่ประสบความสำเร็จ

ประเด็นหนึ่งแจ็ค หม่า ได้แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่อาจจะกระทบกับชีวิตมนุษย์และการทำงานในยุคที่หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ มีความสามารถสูงมาก เขาบอกว่า “เราไม่สามารถทำงานเก่งกว่าเครื่องจักรได้ เพราะเครื่องจักรทำได้ถูกต้อง รวดเร็ว ไม่หยุดพัก แต่สิ่งที่เราเหนือกว่าเครื่องจักร คือ คุณค่า ศรัทธา ความคิดอิสระ การทำงานเป็นทีม ความใส่ใจผู้อื่น ซึ่งเป็นส่วนของความรู้สึก ที่ไม่สามารถสอนหรือให้ความรู้กันได้ งานที่ใช้สิ่งเหล่านี้ จึงเป็นงานที่ยังต้องให้คนเป็นผู้ปฏิบัติไม่สามารถใช้เครื่องจักรทดแทนได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรฝึกเด็กให้เล่นกีฬา ดนตรี ศิลปะ หรืองานอดิเรก เพราะสิ่งเหล่านี้หล่อหลอมทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skills) ที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากเครื่องจักร”

Digital Transformation เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน หากเราศึกษา พัฒนาตัวเอง เปิดใจกับความท้าทายใหม่ๆ โอกาสแห่งความสำเร็จคงมีมากขึ้น ย้อนกลับไปตอนที่พิธีกรแนะนำตัวแจ็ค หม่า กับที่ประชุม ว่า “เค้าคือชายไม่กี่คนในประเทศจีน ที่มองเห็นโอกาสและศักยภาพของอินเตอร์เน็ต จนสามารถสร้างตลาดใหญ่ที่สุดในโลก และปลุกปั้นองค์กรที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างมหาศาล”

หากโอกาสถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญแห่งความสำเร็จ แล้วคุณล่ะ มองเห็นอะไรในโอกาสนี้..? แล้วคุณเตรียมพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้วหรือยัง..?

ที่มา : คอลัมน์ Think Foresight  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย ธัชรินทร์ วุฒิชาติ

การศึกษา : วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และ วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมโลหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติการทำงาน :
วิศวกร ฝ่ายเทคโนโลยีการผลิตและฝ่ายขาย กลุ่มบริษัทเครือไทยยาซากิ
เจ้าหน้าที่ส่วนงานแผนและบริหาร โครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)
นักวิชาการ ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ปัจจุบัน : ตำแหน่ง นักพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ