26 January 2018

การเกิดหิมะตกในทะเลทรายซาฮาร่า สภาพอากาศหนาวที่มีทั้งฝนและหิมะในหลายๆ รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีอุณหภูมิติดลบตั้งแต่ 10-40 องศาเซลเซียส รวมถึงภูมิภาคยุโรปก็กำลังเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนเช่นกัน โดยเฉพาะที่อังกฤษและไอร์แลนด์ ท่ามกลางความเดือดร้อนจากสภาพอากาศหนาวเย็น แต่ก็ยังมีอีกมุมหนึ่งของความสวยงามของสภาพอากาศที่แปรปรวน คือ การที่น้ำตกไนแองการากลับมีความสวยงามมากขึ้น เนื่องจากละอองของน้ำตกได้ทำให้ทุกสิ่งรอบๆ กลายเป็นน้ำแข็ง ไม่ว่าต้นไม้ ถนน สิ่งปลูกสร้าง เป็นความแปลกตาที่ทำให้นักท่องเที่ยวเพลิดเพลินกับการเก็บภาพสวยๆ ไว้เป็นที่ระลึก และในช่วงเวลาเดียวกันนี้  สภาพอากาศทั่วทวีปออสเตรเลียบางพื้นที่กลับมีอุณหภูมิพุ่งสูงมากกว่า 40-45 องศาเซลเซียส สำหรับพื้นที่เมืองใหญ่อย่าง นครซิดนีย์ ในช่วงกลางวันร้อนอบอ้าวถึง 37 องศาเซลเซียส เหตุการณ์ที่ระบุถึงปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่องกัน แต่ล้วนแต่มีสาเหตุจากสิ่งเดียวกัน คือ ปัญหาโลกร้อน เพราะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

มีรายงานผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์พบว่าเมื่อโลกร้อนขึ้น 2-3 องศาจะสร้างความสูญเสียต่อผลผลิตโลก 3% ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ประเทศต่างๆ อาจต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็จะสร้างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้นระหว่างประเทศที่เจริญแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแม้จะเกิดในมุมมองของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ หรือสังคม แต่กลับมีสาเหตุหลักตัวเดียวกัน เราเรียกว่า แรงขับเคลื่อน หรือ Driving Force ซึ่งการหาแรงขับเคลื่อนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการวาดภาพเหตุการณ์จำลองอนาคต (Scenario Building) เราเรียกว่าการสำรวจสภาพแวดล้อมหรือการทำ Environmental Scanning ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการสร้างภาพเหตุการณ์จำลองอนาคต (Scenario building) เป็นขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็นมากเพื่อที่จะหาแรงขับเคลื่อน (Driving Force) ของการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเด็นที่เราสนใจ เช่น ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ต่อองค์กรของเรา หรือต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่หรือการทำงานของเรา แรงขับเคลื่อนที่กล่าวถึงนี้สามารถทำให้เกิดเหตุการณ์หลายๆ อย่างทั้งในมุมของสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง หรือที่เราเรียกคำย่อๆ ว่า STEEP ดังนั้นการสร้างภาพเหตุการณ์จำลองอนาคตจะต้องสำรวจสภาพแวดล้อมจะครอบคลุมประเด็นต่างๆ เหล่านี้ แต่…ก็ไม่ใช่กฎตายตัวเสมอไป เพราะอาจมีสภาพแวดล้อมอื่นที่เราสนใจได้อีก เช่น ความมั่นคง ก็จะเป็น STEEP-S หรือการทหาร ก็จะเป็น STEEP-M หรือสนใจการสร้างคุณค่า ก็จะเป็น STEEP-V ขึ้นอยู่กับ Focal Question ของเราเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การสร้างความได้เปรียบจากการสร้างภาพเหตุการณ์จำลองอนาคตไม่ได้อยู่ที่เราทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หรือแม้แต่การตอบสนองหรือการเตรียมตัวรับมือก็ยังไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เพราะการที่เราจะสามารถสร้างความได้เปรียบได้นั้นหมายถึงเราต้องควบคุมมันได้ ดังนั้น เราต้องปั้นอนาคตด้วยตัวเอง (Shape the Future) จากความได้เปรียบในการทราบถึงแรงขับเคลื่อนต่างๆ ที่จะมาถึง เราต้องสามารถวิเคราะห์ต่อได้ว่าในบริบทหรือสภาพเหตุการณ์จำลองนั้นๆ เราจะสร้างความได้เปรียบให้เกิดขึ้นได้อย่างไร (Strategic Issues) โดยไม่ต้องรอ จะต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดหากสิ่งนั้นส่งผลบวกหรือเป็นประโยชน์ต่อเรา สำหรับในบทความนี้จะไม่ได้นำเสนอไปถึงกลยุทธ์ในการปั้นอนาคต แต่จะนำเสนอแรงขับเคลื่อนที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยในปี 2030 การนำไปใช้จะขึ้นกับ Focal Question ที่แตกต่างกันนั่นเอง โดยแรงขับเคลื่อนที่นำเสนอจะช่วยให้เราทบทวนกลยุทธ์ขององค์กรว่ายังใช้ได้หรือไม่หากเกิดสถานการณ์จำลองที่เกิดจากแรงขับเคลื่อนเหล่านี้ โดยจะต้องนำมาทำ Map of Force เพื่อกำหนดแกนของแรงขับเคลื่อน ซึ่งจากการวิเคราะห์แกนของแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยในปี 2030 มีรายละเอียดดังนี้

1. สังคม: การขยายตัวของชนชั้นกลางในประเทศเกิดใหม่ (Emerging Middle Class) มุมมอง

Cultural Heterogenization: สังคมที่ยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน Cultural Incompatibility: ความขัดแย้งที่เกิดจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

2. เทคโนโลยี: การพึ่งพาเทคโนโลยีของมนุษย์ (Human-Technology Dependence) มุมมอง

Human Centricity: มนุษย์เป็นผู้เลือกใช้เทคโนโลยี Technology Supremacy: เทคโนโลยีครอบงำการดำรงชีวิต

3. เศรษฐกิจ: การพลิกโฉมรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model Transformation) มุมมอง

Global Value Chain: การมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก Vertical Monopoly: การผูกขาดตลอดห่วงโซ่อุปทาน

4. สิ่งแวดล้อม: การจัดการภาวะโลกร้อน (Global Warming Control) มุมมอง Environmental Disaster: ภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์ Environmental Sustainability: ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

5. การเมือง: ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ (World Political Instability) มุมมอง Co-Existence: ความขัดแย้งแต่ประนีประนอมได้ Conflict and War: ความขัดแย้งนำไปสู่สงคราม

หลังจากนี้คือ การให้น้ำหนักตามประเด็นที่สนใจ (Focal Question) เพื่อเขียนภาพเหตุการณ์จำลองอนาตต ซึ่งโดยปรกติการเขียนภาพอนาคตจะเขียนประมาณ 3-4 ภาพ แล้วเลือกภาพที่ดีที่สุดมาทำแผนกลยุทธ์และนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้โดยเร็ว นั่นคือ ขั้นตอนโดยทั่วไปของการสร้างภาพเหตุการณ์จำลองอนาคตนั่นเอง

ที่มา : คอลัมน์ Think Foresight หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย นันทพร อังอติชาติ

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ