19 January 2018

“จะมอบสิ่งใดเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับผู้ใหญ่ที่เคารพ เพื่อนๆ ที่คิดถึง ผู้คนรอบข้างที่เราห่วงใย รวมถึงลูกค้าที่ปรารถนาดีกับเราเสมอมา” บ่อยครั้งเรามักได้ไอเดียจากการมองหาสิ่งของ ซึ่งกำลังอยู่ในกระแสความนิยม จึงมักได้ข้อสรุปเป็นอาหารประเภทบำรุงสุขภาพให้ปลอดจากโรคภัย หรือสิ่งของที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งมักเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน หรือเรามักนึกถึงสิ่งของตกแต่งบ้าน สถานที่ทำงาน ซึ่งเน้นรูปลักษณ์สวยงาม สีสันแปลกตา รวมถึงให้โชคให้ลาภ โดยอาจไม่ได้คำนึงถึงว่า ผู้รับจะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใด ตัวอย่างเช่นในช่วงเวลา 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้รับข้าวสารหลากหลายพันธุ์ ซึ่งล้วนเป็นของขวัญที่มีคุณค่ายิ่ง แต่หลายคนก็ไม่ได้นำมารับประทาน เนื่องจากไม่รู้จักวิธีหุง หรือนำไปสร้างสรรค์ร่วมกับเมนูอาหารประเภทอื่น เพื่อเพิ่มรสชาติและคุณประโยชน์ หรือแก้วอลูมิเนียมเก็บความเย็น ที่นิยมซื้อให้กัน ก็มักเน้นรูปลักษณ์เก๋ไก๋ แปลกตา โดยไม่ได้เน้นออกแบบความจุของแก้วให้สามารถใช้แทนแก้วกาแฟกระดาษ หรือพลาสติกที่ขายทั่วไป และไม่ได้มีการส่งเสริมให้นำมาใช้เพื่อช่วยลดขยะ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ดังนั้นหากผู้ให้มองเห็นคุณค่าของขวัญมากกว่าเป็นเพียงของที่ระลึก หรือประโยชน์เพียงใช้อุปโภคบริโภค แต่เป็นการส่งต่อความสุขไปยังทุกคนรอบข้าง รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัว ก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดไอเดียใหม่ๆ มองหาของขวัญที่สร้างความประทับใจแก่ผู้รับ

ด้วยไอเดีย “ส่งต่อความสุข” ทำให้หลายองค์กรนำเสนอรูปแบบของขวัญปีใหม่อย่างน่าสนใจ เช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) จัดแคมเปญ มอบของขวัญปีใหม่ 2561 ให้คนไทยส่งความสุขถึงกัน โดยส่งข้าว สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปตรงจากมือชาวนาและเกษตรกร จากผู้ให้ไปถึงผู้รับโดยตรง หรือแนวคิดของซุปเปอร์มาเก็ตแห่งหนึ่งสร้างสรรค์กระเช้าปีใหม่ ให้เป็นความยั่งยืนของท้องถิ่น โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งผลไม้ และสินค้าอุปโภคบริโภค มาจัดเป็นกระเช้าปีใหม่ ซึ่งผลิตจากกลุ่มจักสานและหัตถกรรมพื้นบ้านในจังหวัดต่างๆ เป็นต้น

แม้แต่ของขวัญจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย เพื่อนำมาใช้ลดหย่อนภาษีต่างๆ หรือการให้บริการฟรีของหน่วยงานต่างๆ ก็ช่วยให้ประชาชนสามารถนำเงินจากส่วนลด ไปส่งต่อความสุขให้กับคนในครอบครัว

เห็นได้ว่าเราสามารถส่งมอบความปรารถนาดีให้กับผู้คนได้มากมายด้วยของขวัญเพียงชิ้นเดียว เพียงนึกถึงว่าใครบ้างเป็นผู้รับ และความสุขของเขาเหล่านั้นคืออะไร จากนั้นจงใช้ความรู้สึกรักและห่วงใย ปลดปล่อยไอเดียของการส่งต่อความสุขให้พรั่งพรูออกมา แล้วเราจะพบคุณค่าของการส่งต่อความสุขช่างยิ่งใหญ่ยิ่งนัก

ในหนึ่งเดือนก่อนปีใหม่ มีผู้ชายคนหนึ่งได้ส่งต่อความสุข ผ่านการวิ่งด้วยระยะทาง 2,191 กิโลเมตรจากใต้สุด สู่เหนือสุดของประเทศ เขาทำให้ผู้คนในทุกพื้นที่ยิ้มอย่างมีความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการให้อันยิ่งใหญ่ ทำให้ผู้คนเข้าใจความเสียสละของแพทย์และพยาบาล ทำให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เกิดพลังมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อตนเอง ทำให้ทั้งเด็กอนุบาล เด็กประถม เด็กมัธยม เด็กมหาลัย ได้รับแรงบันดาลใจให้หันมาทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากในโรงพยาบาลห่างไกลมีความหวังที่จะอยู่รอดด้วยเครื่องไม้เครื่องมือครบครันจากการหันมาใส่ใจมากขึ้นของผู้รับผิดชอบและผู้คนในสังคม ทั้งยังทำให้นักมวย ดารา นักร้อง มาร่วมกันสื่อสารความเห็นอกเห็นใจ ความมีน้ำใจเอื้ออารีย์ของพี่น้องชาวไทยซึ่งไม่เคยทอดทิ้งกัน และที่สำคัญ ส่งต่อความสุขของการมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยด้วยการออกกำลังกายอย่างจริงจัง

ด้วยไอเดีย “ส่งต่อความสุข” คงช่วยเปลี่ยนมุมคิดจาก “หาอะไรเป็นของขวัญ“ ไปเป็น “ของชิ้นนั้นจะส่งต่อความสุขให้ผู้คนได้อย่างไร” รวมถึง “ส.ค.ส” บัตรอวยพรส่งความสุขที่เราคุ้นเคยและนิยมส่งให้บุคคลที่เรารักและเคารพ ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ จะมีคุณค่ามากขึ้นเพียงใดหาก “ความสุขนั้นได้รับการส่งต่อ” ไปเป็นกำลังใจ ให้ผู้คนอีกมากมาย เรียกว่าสร้าง “สุขทวีคูณ” รับศักราชใหม่

ที่มา : คอลัมน์ Think Productivity หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ