15 March 2017

เมื่อความก้าวหน้าแห่งอนาคตเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ผู้คนจึงต้องปรับตัวด้วยการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง หรือ G20 ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศมหาอำนาจของโลก ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมุ่งสู่ยุคเศรษฐกิจแห่งอนาคตด้วยเช่นกัน

การปฏิวัติดิจิตอลได้เกิดขึ้นแล้ว แม้จะยังห่างไกลจากจุดสูงสุด แต่ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน หรือ ที่บ้าน เราได้พึ่งพาระบบอินเทอร์เน็ต และ สมาร์ทโฟน ในชีวิตประจำวันมากขึ้น และมีใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมถึง ดิจิตอลคลาวด์ ที่ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ และในอนาคต การผลิตแบบดิจิตอล จะเป็นรูปแบบการทำงานของโรงงานอุตสาหกรรม แน่นอนว่า ระบบดิจิตอลจะเป็นตัวขับเคลื่อนอนาคต นำมาซึ่งความท้าทาย และ โอกาส

จากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ติดอยู่ในกับดักของการเจริญเติบโตที่ต่ำลง เกิดการชะลอตัวของภาคการผลิต และปัญหาความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้น ประเทศเยอรมนี ในฐานะประธานกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง หรือ G20 (The Group of Twenty Finance Ministers and Central Bank Governors : G20) ได้มุ่งเน้นที่ศักยภาพของการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ระบบดิจิตอล เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมว่าด้วยการเจริญเติบโตและการจ้างงานรูปแบบใหม่เทคโนโลยีเช่น คลาวด์คอมพิวเตอร์ ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) จะเป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรม การมีส่วนร่วม และ สวัสดิการสังคม โดยจะช่วยรับมือกับความท้าทายของนโยบายในวงกว้าง รวมทั้งด้านสุขภาพ การเกษตร การกำกับดูแลระบบสาธารณะ ภาษี การขนส่ง   และ การศึกษาและสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และ ราคาที่ลดลง จะช่วยลดความแตกต่างในการเข้าถึงและการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ทั้งภายในประเทศ และ ระหว่างประเทศ

ด้วยความเป็นมาข้างต้น ประเทศเยอรมนี ในฐานะ ประธานการประชุม G20 จึงมุ่งเน้นในสามประเด็นสำคัญ ดังนี้ :

ประเด็นที่ 1 การจะบรรลุผลสำเร็จ และ ได้รับประโยชน์ จากศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิตอลนั้น จะต้องอาศัย คุณภาพ และ ราคาที่สามารถแข่งขันได้ เพื่อที่จะเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสาร ที่รองรับการใช้งานระบบดิจิตอลและการให้บริการ

G20 สามารถที่จะสร้างความแตกต่าง โดยการผลักดันให้ ทุกครัวเรือน และ ทุกบริษัท มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ภายในปี 2025 แต่การจะทำได้ตามนั้น จะต้องมีการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเราต้องมั่นใจว่าเราไม่ได้ทำให้ศักยภาพในการเติบโต และ การร่วมมือกันเกิดความถดถอย ด้วยการดำเนินงานที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือ ความไม่พร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน

ประเด็นที่2 อุตสาหกรรม 4.0 หรือ การเคลื่อนตัวเข้าสู่การเป็นดิจิทัล (Digitalization) ของการผลิต จะนำเราเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของการสร้างสรรค์นวัตกรรม และ การวิจัยและพัฒนา และมุ่งเน้นเกี่ยวกับนโยบายการแข่งขัน รวมทั้งความร่วมมือด้านกฎระเบียบระหว่างประเทศ และ การทำงานร่วมกันระหว่างประเทศเกี่ยวกับมาตรฐานและบรรทัดฐาน

การทำงานร่วมกันของ Interface เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 และ Internet of Things (เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และ เครื่องมือต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน) สำหรับบริษัทที่มีโรงงานผลิตอยู่ทั่วโลก จำเป็นต้องมีเครื่องจักรที่สามารถสื่อสารข้ามพรมแดนได้ ด้วยกรอบการบริหารจัดการที่เคร่งครัดและไม่เลือกปฏิบัติ ของกลุ่มประเทศสมาชิก G20 ที่จะสนับสนุนให้นักลงทุน สนใจลงทุนในผลิตภัณฑ์ดิจิตอลและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs และ Start-Ups ให้พิจารณาทำธุรกิจที่จะก้าวสู่ Digitalization เป็นอันดับแรก

ประเด็นที่ 3 การปฏิวัติดิจิตอล ต้องอาศัยการไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสาร ในขณะเดียวกัน ต้องมีการรับประกันความเป็นส่วนตัว มีความน่าเชื่อถือ และมีการรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย เช่นเดียวกับการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภค ซึ่งการจะดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายทั้งหมดนี้ จำเป็นจะดำเนินการควบคู่ไปกับ การจัดทำรูปแบบปฏิบัติที่เท่าเทียมกันของประเทศสมาชิก G20

ในการจัดเก็บข้อมูล และ การวิเคราะห์ข้อมูล ที่มีขนาดใหญ่ จำเป็นที่จะต้องมีระบบที่สามารถรับมือกับปัญหาความเป็นส่วนตัว และ ป้องกันความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง G20 สามารถให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์ในการสร้างการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างประเทศ มีมาตรการและกรอบการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน รวมทั้ง มีการบริหารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของระบบดิจิตอล และ กฎการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบเศรษฐกิจดิจิตอลที่เข้มแข็ง

การเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ระบบดิจิตอล จะทำให้เกิดตลาดใหม่และตำแหน่งงานใหม่ และบางตำแหน่งงานที่มีอยู่ อาจจะต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบ หรือ ปรับเปลี่ยนเครื่องมือในการทำงาน เราจำเป็นต้องมุ่งเน้นการสร้างความมั่นใจให้ผู้คนเป็นพิเศษ โดยการให้ความรู้ และ ทักษะที่เพียงพอ ที่จะทำให้ผู้คนได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิตอล หรืออย่างน้อยต้องรู้เท่าทัน โดยไม่ตกเป็นเหยื่อ การปกป้องผู้ที่ยังขาดความรู้ ให้ปรับตัวให้เข้าสู่ระบบดิจิตอล จะต้องมีนโยบายเชิงรุกใน

การปรับรูปแบบการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาความรู้ความสามารถในงาน (On the job trainings)

การศึกษาดิจิตอล หมายถึง การวางแนวทางและความมุ่งมั่นในตนเองที่จะเข้าสู่อนาคตดิจิตอล หากเราไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านนี้ การเข้าสู่ระบบดิจิตอลจะเป็นไปได้ยาก ทั้งในด้านธุรกิจและสังคม การให้การศึกษา ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ผู้คนจำนวนมากในทุกประเทศ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเศรษฐกิจดิจิตอล และ สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาส และ จัดการข้อดีข้อเสียต่างๆ

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิตอล เยอรมนีได้จัดวางวาระการประชุมผู้นำ G20 ในปี 2017 ที่เน้นเรื่องดิจิตอลเป็นสำคัญ เริ่มด้วย การยกประเด็นดังกล่าว เข้าสู่การประชุม G20 ที่จัดขึ้นที่ประเทศจีนในปีที่ผ่านมา

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) ก็มีเป้าหมายเดียวกับ G20 โดย OECD ได้เริ่มดำเนินการวิเคราะห์การตอบสนองนโยบายในวงกว้าง เพื่อประโยชน์สูงสุดของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิตอลและรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น

OECD และ ประเทศเยอรมนี ในฐานะประธาน G20 จะร่วมกันดำเนินงานในการส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรม โดยเริ่มต้น ในวันที่ 12 มกราคม กับการประชุมประเด็นสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ระบบดิจิตอล ในกลุ่มประเทศ G20 ที่จะมีขึ้นในกรุงเบอร์ลิน ต่อด้วย การประชุมรัฐมนตรีดิจิตอล ของ G20 ที่จะจัดที่เมืองดึสเซิลดอร์ฟ ในเดือนเมษายน และ การประชุมผู้นำ G20 ณ เมืองฮัมบวร์ก ในเดือนกรกฎาคม

OECD และ G20 มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้ ผู้คนตระหนักถึงศักยภาพอันหาศาลของเศรษฐกิจดิจิตอล ที่จะนำมาซึ่ง นวัตกรรม การเติบโต และความเจริญรุ่งเรืองทางสังคม ให้กับทุกคนในทุกประเทศ

ที่มา : http://www.de.digital/DIGITAL/Redaktion/EN/Standardartikel/Op-Ed/2017-01-12-op-ed-gabriel-gurria-policy-4-0.html




Writer

โดย ณัฐพร สิริลัพธ์

รักษาการ หัวหน้าแผนกบริการกลาง แผนกบริการกลาง
สำนักผู้อำนวยการ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ