20 November 2015

STEEP-PApada-Workplace

‘คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะจะกลายเป็นของที่ถูกนำไปตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์!’ ‘วัฒนธรรมการทำงานเข้าเช้าเลิกเย็นจะกลายเป็นเรื่องประวัติศาสตร์’ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของรูปแบบการทำงานในอนาคต ที่ Athena ได้เขียนบทความไว้ใน Shapingtomorrow.com

สถานการณ์ขององค์กรที่ต้องพบกับคู่แข่งที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ความนิยมของการใช้อุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยี และการใช้อุปกรณ์เสมือนจริงต่างๆ ในอนาคต จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมของสถานที่ทำงานให้ต่างไปจากเดิม คำถามคือภายในปี ค.ศ.2020 รูปแบบการทำงานของเราจะเป็นอย่างไร และ องค์กรยังต้องการพื้นที่สำหรับเป็นสำนักงานอีกหรือไม่?

ในอนาคตเราจะได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคโนโลยี หรือวัฒนธรรมการทำงาน อาทิ ด้านเทคโนโลยี การมีสิ่งที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial intelligence) และหุ่นยนต์อยู่ในที่ทำงาน จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งจะทำให้รูปแบบของการทำงานสำนักงานก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน เราอาจจะเห็นรูปการประชุมทางไกลแบบสามมิติ หรือการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นภาพโฮโลแกรม 3 มิติขนาดเท่าคนจริงนั่งรายรอบโต๊ะประชุม และดำเนินการประชุมชได้โดยที่ผู้เข้าร่วมประชุมตัวจริงไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในห้องประชุมนั้น หรือการประชุมหรือกิจกรรมที่ต้องมาทำร่วมกันภายในองค์กรสามารถแทนที่ได้ ด้วยเทคโนโลยีจอสามมิติแบบเห็นได้รอบตัวผู้ใช้งาน ในขณะที่ เทคโนโลยีการสื่อสารได้ถูกใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการทำงานประจำวันมากขึ้น ดังนั้น ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีของเมืองต่างๆ จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาตัดสินใจลงทุนและสร้างธุรกิจของผู้ประกอบการ ขณะเดียวกัน ด้านความปลอดภัย จะมีการพัฒนากระบวนการด้านความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีที่ช่วยปกป้องเครือข่ายจากการถูกเจาะข้อมูล จะทำให้ผู้คนสามารถใช้อุปกรณ์และเครือข่ายในการทำงานได้อย่างวางใจได้มากยิ่งขึ้นด้วย

ด้านวัฒนธรรมการทำงาน พนักงานในอนาคต จะมีความคาดหวังถึงการทำงานแบบยืดหยุ่นในลักษณะ 24 ชั่วโมง 7 วัน (ไม่มีเวลาทำงานตายตัว) พนักงานในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงาน Gen M จะมีความต้องการที่จะทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งเหมาะกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้จากทุกสถานที่ พนักงานจะเริ่มเรียกร้องหา Productive office ที่พวกเขาสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ สำหรับการพัฒนาพนักงาน การสร้างเส้นทางความเติบโตในด้านความรู้ จะเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาพนักงานในอนาคต ที่จะช่วยให้ความสามารถของพนักงานตรงกับความต้องการขององค์กรมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ผู้บริหารและพนักงานจะต้องร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อสร้างและคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร

จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้องค์กรบางแห่งจะเพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้นในเรื่องการวัดผลงาน โดยเลือกใช้ระบบการวัดผลการดำเนินงานตาม commitment ของพนักงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ผลสำเร็จของงาน ซึ่งทำให้พนักงานสามารถเลือกวิธีการทำงาน สถานที่ และเวลาในการทำงานเองได้ ตราบเท่าที่พวกเขายังสามารถทำงานสำเร็จได้ตามเป้าหมาย ในขณะที่ 58% ของงานบริการภายในสำนักงานจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ อุปกรณ์ที่ให้ภาพสามมิติเสมือนจริง (Virtual reality tools) จะถูกนำเข้ามาใช้ในการทำงาน

การพัฒนาด้านการออกแบบพื้นที่ทำงานจะเน้นที่การลดจำนวนคนในพื้นที่ทำงานนั้นๆ ทั้งนี้ ดังจะเห็นได้จากองค์กรขนาดใหญ่หลายๆ องค์กรในปัจจุบัน เริ่มตระหนักแล้วว่าการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ด้วยการจับคนเข้าไปนั่งทำงานในพื้นที่เดียวกันอย่างแออัดนั้น ไม่ได้ส่งผลถึงการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพเลย

ผลที่เกิดขึ้นกับความต้องการพื้นที่สำหรับสำนักงาน ก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล จะทำให้ความต้องการใช้พื้นที่สำหรับสำนักงานมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าพื้นที่ว่างสำหรับการทำสำนักงานจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 2% ต่อปี โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2016 จำนวน 43% ของพนักงานชาวอเมริกันจะทำงานจากที่บ้าน เพราะความสะดวกง่ายดายในด้านเทคโนโลยี และการเข้าถึงข้อมูล จะเป็นเสมือนการติดอาวุธให้กับพนักงาน และผู้บริหารในการที่จะมีข้อมูลที่สำคัญสำหรับการทำงานอยู่ที่ปลายนิ้วอยู่แล้ว ไม่ว่าพวกเขาจะทำงานอยู่ที่ใด และเมื่อพื้นที่ทำงานไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop computers) จะกลายเป็นของที่ถูกนำไปตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์!

ผลต่อความผูกพันกับองค์กรของพนักงาน เนื่องจากในอนาคต การทำงานจากภายนอกสำนักงานจะค่อยๆ กลายเป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรในองค์กร และจะกลายเป็นสิ่งจูงใจในการรับสมัครพนักงานเข้าทำงาน รวมทั้งเป็นเครื่องมือสร้าง Employee Engagement ใหม่สำหรับองค์กร เพราะพนักงานจะชื่นชอบสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปิดโอกาสสำหรับการเข้ากลุ่มสังคมที่พวกเขาได้เจอเพื่อนที่ชื่นชอบในเรื่องเดียวกัน ในขณะที่ ผู้คนที่ฉลาดและมีการศึกษาดีในอนาคต จะไม่สามารถทนกับที่ทำงานที่ทำให้พวกเข้ารู้สึกเหมือนเป็นพนักงานออฟฟิศที่ต้องทำงาน 9 โมงเช้า เลิก 6 โมงเย็นตลอดเวลา ดังนั้น เป็นไปได้ว่าวัฒนธรรมการทำงานเข้าเช้าเลิกเย็นแบบเดิมๆ ก็จะพลอยกลายเป็นเรื่องประวัติศาสตร์สำหรับการทำงานในอนาคตไปด้วยเช่นกัน

แหล่งที่มา : http://www.shapingtomorrow.com/summary/insights/416790

 




Writer

โดย อพาดา สุวรรณโรจน์

หัวหน้าแผนกสัมมนาและกิจกรรมการตลาด
ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ