16 November 2015

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีผลดีกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ และยังดีกับการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้..! ถ้าคุณไม่อยากเสี่ยงในวันข้างหน้า”

ข้อคิดจาก UN ซึ่ง Bhaskar Chakravorti ได้เขียนไว้ใน World Economic Forum ถึงเหตุผลที่องค์กรควรลงทุนเพื่อ ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้นำจาก 193 ชาติ ได้มารวมตัวกันที่มหานครนิวยอร์ค ในการประชุมสามัญของ UN และลงมติยอมรับ “เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” (the Sustainable Development Goals) เป็นเป้าหมายระยะยาว อันเริ่มต้นจากการยุติความยากจนในทุกรูปแบบและทุกที่ อีกทั้งยังครอบคลุมเรื่องต่างๆ อันได้แก่ ความเท่าเทียมกันทางเพศ ความมั่นคงทางอาหาร สันติภาพ สุขภาพ ความสะอาดของแหล่งน้ำและสุขาภิบาล เมืองที่ยั่งยืน และอื่นๆ (ตามรูป)

Sustainable Development Goals_E_Final sizes

ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นที่น่าชื่นชม แต่รัฐบาลต่างๆ ก็เริ่มผิดสัญญาในข้อตกลงที่ได้เริ่มต้นไว้ก่อนหน้านี้ ในการสมทบเงิน 2-3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 4% ของ GDP โลก เพื่อใช้ดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งภาคเอกชนก็สามารถช่วยในเรื่องนี้ได้

ทำไมภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ถือหุ้นคงต้องร่วมกับความริเริ่มนี้ของ UN ?

เหตุผลแรก ภาคเอกชนสามารถสร้างรายได้ถึง 60% ของ GDP และมีการจ้างงานถึง 90%ของตำแหน่งงานทั้งหมด และอยู่ในฐานะที่ดีในการดำเนินการหลายๆ เรื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากมีทรัพยากรและความสามารถที่ดี

เหตุผลที่สอง หากประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาบางเรื่อง จะก่อให้เกิดผลประโยชน์กับบริษัท และผู้ถือหุ้นจากการพัฒนานวัตกรรมและเกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

จากการวิจัยของ Tufts’ Fletcher School ทำให้เข้าใจเหตุผลที่บริษัทควรตระหนักถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน มีแรงจูงใจจาก 4 ปัจจัย ดังนี้

1. ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ จากหยุดชะงักในการดำเนินงาน การจัดหาวัตถุดิบ และผลกระทบกับชื่อเสียง

2. การปฏิบัติตามบรรทัดฐานในการประกอบกิจการอุตสาหกรรม ทั้งในเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานต่างๆ

3. การเป็นผู้นำในตลาด ยึดครองส่วนแบ่งและลูกค้าในอนาคต

4. สร้างความนิยม ความน่าเชื่อถือให้กับผู้ถือหุ้น

ประเด็นเหล่านี้เป็นกระแสหลักในการพัฒนาของโลก ที่ทำให้บริษัทมีที่ยืนอยู่ในตลาดที่มีการเติบโตในอนาคต ตัวอย่างของบริษัท โคคา-โคล่า ที่มีรายได้ถึง 75% จากการขายผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ และยังได้รับการยอมรับอย่างสูงจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ถึงแม้จะเป็นผู้ใช้น้ำและพลาสติก สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม แต่โค้กก็ได้เข้าร่วมในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการแบ่งปันพื้นที่ในการขนส่งผลิตภัณฑ์ให้กับขนส่งยาและเวชภัณฑ์ในแอฟริกา การลงนามความร่วมมือกับ WWF ในการฟื้นฟูลุ่มน้ำใน 50 ประเทศ การช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเพื่อพัฒนาโอกาสใหม่ๆ และปรับปรุงผลิตภาพ รวมทั้งพัฒนาขวดน้ำพลาสติกที่ใช้วัสดุสังเคราะห์จากพืชเป็นครั้งแรก

นอกจากกรณีของโค้กที่เป็นตัวอย่างของการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว ผู้ผลิตเบียร์อย่าง SABMiller ได้เปลี่ยนการนำเข้าวัตถุดิบจากยุโรปมาเป็นการใช้ข้าวฟ่างที่เพาะปลูกจากเขตแห้งแล้งในแอฟริกา ทำให้ลดต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งสู่ผู้บริโภคในแอฟริกา ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรท้องถิ่น และยังเกิดกลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่นิยมการดื่มเบียร์จากข้าวฟ่าง

ผู้ผลิตเสื้อผ้าเอาท์ดอร์ แบรนด์ Patagonia ได้ออกโฆษณาจัดแคมเปญในช่วง Thanksgiving 2011 ว่า “อย่าซื้อเสื้อตัวนี้” เพื่อให้ผู้ซื้อคิดถึงการซ่อมเสื้อตัวเก่าและนำกลับมาใช้ใหม่ การรณรงค์นี้สะท้อนให้เห็นถึงภารกิจความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของแบรนด์ ส่งผลให้ได้รับความสนใจจากลูกค้ากลุ่มเอาท์ดอร์ซึ่งชื่นชอบธรรมชาติมากขึ้น และทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 40% ใน 2 ปีต่อมา

การปรับกระบวนการทางธุรกิจ การเคลื่อนย้ายทรัพยากร หรือการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ สามารถช่วยให้เป้าหมายเรื่องนี้สำเร็จ ทั้งยังเป็นโอกาสในการเกิดนวตกรรมใหม่ ซึ่งต้องลงทุนในอนาคตอันใกล้แต่อาจจะได้ผลตอบแทนทางการเงินที่ไม่แน่นอนหรือต้องระยะยาว นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคต่างๆ ขององค์กรด้วย

การวิจัยพบว่า ความยากในการวัดผลกระทบต่อสังคม การหาช่องทางการระดมทุนที่มั่นคง และการตั้งหน่วยงานเพื่อมารับผิดชอบโครงการ เป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างนวัตกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีความต่างกับการสร้างนวัตกรรมสินค้าของบริษัทต่างๆ ที่มีการลงทุนและได้รับผลตอบแทนจากตัวผลิตภัณฑ์โดยตรง การสร้างนวัตกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ต้องลงทุนกับสาธารณะและเกิดประโยชน์ในวงกว้างทั้งกับสังคม สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่คู่แข่ง ทำให้เรื่องนี้ไม่เป็นที่น่าสนใจในการดำเนินการมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความท้าทายมาก

ดังนั้น UN จึงได้นำเสนอเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ กับสื่อมวลชน ใช้ผู้มีชื่อเสียงอย่าง Beyonce หรือ Usain Bolt เพื่อปลุกเร้าให้พวกเราเข้ามามีส่วนร่วมกับแคมเปญ “เปลี่ยนโลก” ซึ่งตอนนี้ภาคธุรกิจยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้โครงการยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่บริษัทหลายแห่ง ที่มีนวัตกรรมและทรัพยากรมากพอก็ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมด้วย

หากบริษัท อยากเริ่มต้นกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ มี 3 ขั้นตอน คือ

1. เลือกเป้าหมายที่จะดำเนินการ – กำหนดเนื้อหาเพื่อสร้างการรับรู้ เป็นภาษาทางการค้าที่เข้าใจง่าย เพื่อสื่อสารกันภายใน และสร้างหน่วยงานขึ้นมาดำเนินการ พร้อมจัดสรรทรัพยากร ให้สิทธิ์ ความรับผิดชอบ และการตัดสินใจ

2. กำหนดและมอบหมายตัววัดผลกระทบ รวมทั้งจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม – ตัววัดนี้ควรวิเคราะห์หาคุณค่าร่วม (Shared Value) ทั้งผลกระทบทางธุรกิจและทางสังคม

3. เตรียมพร้อมสำหรับการก้าวข้ามสิ่งเดิมๆ – สร้างความร่วมมือกับลูกค้า คู่ค้า ผู้ร่วมธุรกิจ หน่วยงานราชการ NGOs ธุรกิจชุมชน เพื่อหาโอกาสในการลดช่องว่าง เพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา : https://agenda.weforum.org/2015/09/4-reasons-companies-should-invest-in-sustainable-development/

 




Writer

โดย ธัชรินทร์ วุฒิชาติ

การศึกษา : วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และ วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมโลหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติการทำงาน :
วิศวกร ฝ่ายเทคโนโลยีการผลิตและฝ่ายขาย กลุ่มบริษัทเครือไทยยาซากิ
เจ้าหน้าที่ส่วนงานแผนและบริหาร โครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)
นักวิชาการ ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ปัจจุบัน : ตำแหน่ง นักพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ