14 August 2020

ฟื้นธุรกิจหลัง COVID-19 ด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

โดย คุณจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้าน Innovation  สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ไม่ว่าจะเป็นงานเดิมหรืองานใหม่ ในท้ายที่สุดของตัวชี้วัดความสามารถการแข่งขัน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาวก็ตาม ผลิตภาพหรือ Productivity ยังเป็นตัวหลักของทุกธุรกิจ องค์กรใดที่การดำเนินงานภายในไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีประสิทธิผล ย่อมไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ และต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด ในขณะที่องค์กรที่มีผลิตภาพสูง มีระบบที่ดีมีมาตรฐาน กระบวนการภายในใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ โดยไม่มีความสูญเปล่าสิ้นเปลือง และผลผลิตที่ได้มีประสิทธิผลตรงตามสเปคหรือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เมื่อเจอวิกฤตจะสามารถหยุดยั้งและรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยผ่อนจากหนักเป็นเบา และเมื่อถึงวันที่สภาพเศรษฐกิจและธุรกิจกลับฟื้นคืนมาใหม่อีกครั้ง ก็จะสามารถก้าวเดินได้ในทันที เรียกว่าพื้นตัวเร็วกว่าคนอื่น การปรับปรุงผลิตภาพที่เคยคิดแต่ไม่ได้ทำในช่วงเวลาปกติ ในช่วงนี้ที่ทุกคนเริ่มว่างและมีเวลา ถ้าช่วยกันอุดช่องว่าง ลดช่องโหว่ เสริมเติมสิ่งที่ขาด และปรับเปลี่ยนสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าเดิมเข้าไปในกระบวนการได้ จะเป็นการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ที่ดีที่สุด

ดังนั้น ในขณะที่ทุกคนต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด COVID-19 นั้น จะเห็นว่าสิ่งหนึ่งซึ่งทุกคนเปลี่ยนแปลงไปในทันทีคือ ทัศนคติที่มีต่อเทคโนโลยี ก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่ยังปฏิเสธถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการใช้ชีวิต การเรียนการสอน การทำงาน การประกอบกิจการ การทำธุรกิจ แต่ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่า อยู่ที่ไหนไม่สำคัญ ตราบใดที่เรายังมีสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ และสัญญาณอินเทอร์เน็ต เราก็สามารถทำอะไรหลายๆอย่างได้ บางทีค้นพบว่าสะดวกกว่าตอนไม่ใช้มันเสียอีก แต่แน่นอนมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ยังคงต้องการการพบเจอและรวมกลุ่ม การสื่อสารทางไกลในโลกไซเบอร์จึงไม่ใช่การแทนที่ แต่เป็นการเติมเต็มมากกว่า

แม้ว่าคนส่วนใหญ่อาจจะคุ้นเคยและท่องอินเทอร์เน็ตอย่างเมามันวันละหลายชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ใช้ในการพิมพ์ข้อความโต้ตอบ สนุกสนานจากการเล่นเกมส์เพื่อผ่อนคลาย และหาความสำราญจากความบันเทิงที่หลากหลาย แต่เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงาน ความกังวลใจต่อความก้าวล้ำนำหน้าจนทำอะไรหลายอย่างได้ดี ได้ในปริมาณมาก รวดเร็ว และมีข้อผิดพลาดน้อยกว่าที่คนทำ จนก่อให้เกิด “ความกลัว” และกลายเป็นแรงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในหลายองค์กรเมื่อก่อนมีโควิด ไม่ว่าจะกลัวการสูญเสียงาน กลัวสูญเสียความสำคัญ หรือเลยไปจนถึงการสูญเสียธุรกิจที่ทำอยู่ก็ตาม

technology

ตัวอย่างที่มองเห็นอย่างชัดเจนคือ ความร่วมไม้ร่วมมือ ร่วมคิดร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปันของคนในสังคม โดยเฉพาะในประเทศไทย เกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ทั่วไปมาพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมต้นทุนต่ำ (Low cost innovation) สิ่งที่ไม่เคยเห็นและดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ในอดีต ก็สามารถทำมันขึ้นมาได้ในช่วงเวลาอันสั้นที่ต้องแข่งกับเวลาและการแพร่ระบาดที่อาจจะรุนแรงขึ้น

Process Innovation
ยกระดับปรับกระบวนการ

สิ่งที่เกิดขึ้นในทันทีหลังพบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ในชื่ออย่างเป็นทางการว่า COVID-19 ดูเหมือนว่าจะมีเพียงสถานพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่อดีตเพื่อรับมือกับผู้ป่วยลักษณะนี้โดยเฉพาะ สถาบันบำราศนราดูล (Bamrasnaradura Infectious Diseases Institute) สังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลที่ได้ยินบ่อยที่สุดจากทุกสื่อในช่วงแรก แสดงว่ากระบวนการให้บริการของโรงพยาบาลทั่วไปไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีเชื้อดังกล่าว นั่นเพราะว่าการติดต่อเกิดขึ้นได้ง่ายจากสารคัดหลั่ง และการไอจาม ทำให้ต้องแยกพื้นที่เฉพาะออกจากการให้บริการผู้ป่วยทั่วไป

ถ้าเราพิจารณากระบวนการให้บริการของโรงพยาบาล อาจแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ การบริการผู้ป่วยนอก (OPD) การบริการผู้ป่วยใน (IPD) และการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน (Emergency) ซึ่งแยกแตกต่างกันในรายละเอียด คนทั่วไปมักจะคุ้นชินกับการบริการผู้ป่วยนอก เมื่อเกิดอาการไม่สบายก็จะเข้าโรงพยาบาลตรวจเช็คอาการ รับการวินิจฉัยเบื้องต้น และรับยากลับไปดูแลตัวเองต่อที่บ้าน สำหรับคนไข้ที่หนักถึงขั้นทรุดและต้องอยู่ภายใต้การดูแลรักษาต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด ก็จะต้อง admit หรือนอนต่อในโรงพยาบาลเป็นการเข้าสู่การบริการผู้ป่วยใน ส่วนผู้ป่วยจากอุบัติเหตุร้ายแรงหรือเจ็บป่วยหนักกระทันหันก็จะเข้าสู่การบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน

covid-19

 

กรณีของ COVID-19 การบริการทั้ง 3 ส่วนจะดำเนินการควบรวมกันเป็นบริการเดียว และต้องแยกพื้นที่ควบคุมเชื้อเป็นการเฉพาะออกจากผู้ป่วยโรคอื่น ดังนั้นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรทางการแพทย์ และสถานที่พร้อม จำเป็นต้องยกระดับปรับปรุงกระบวนการใหม่ พร้อมกับแก้ไขวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ที่สำคัญจะต้องเว้นระยะห่างหรือกันพื้นที่แยกระหว่างผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง และผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะติดเชื้อ กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ไม่ใช่แค่สวมใส่หน้ากากอนามัยเท่านั้น หากแต่ต้องสวมชุดป้องกัน มีผนังกั้น ควบคุมความดัน และพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำและรู้ผลได้รวดเร็ว ซึ่งก่อนที่จะกล่าวถึงเทคโนโลยีที่ใช้และนวัตกรรมต้นทุนต่ำที่เกิดขึ้นมาใหม่ เรามาพิจารณากระบวนการวินิจฉัยรักษาที่ออกแบบขึ้นมาใหม่เพื่อการนี้

กระบวนการให้บริการทางการแพทย์กรณี COVID-19 เริ่มต้นตั้งแต่ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะป่วยหรือคิดว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งอาจไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนป่วยที่ติดเชื้อโควิดมา ไม่ว่าท่านจะมีอาการไข้หรือยังไม่มีก็ตาม แต่เชื่อว่าหลายคนที่อยู่ในสภาวะแบบนั้นก็อาจจะร้อนใจจนอาจคิดเลยไปไกลกระทั่งว่า “ติดหรือยัง ?” ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนตั้งแต่คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และต้องอยู่ในโรงพยาบาลจนกว่าจะหายดี ถึงจะได้รับอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ แล้วถ้าทุกคนได้ติดตามอ่านข่าวทุกวันก็จะเห็นการรายงานตัวเลขอยู่ 2 ส่วน

ส่วนแรก
คือ ตัวเลขเกี่ยวกับการระบาดของโรค ซึ่งจะนำเสนอตัวเลขหลักๆ อยู่ 3 ตัว

ตัวแรก คือ จำนวนผู้ติดเชื้อ(รายวันและตัวเลขสะสม)  ตัวที่สอง คือ จำนวนผู้เข้ารับการรักษาหรืออยู่ระหว่างการรักษา(ตัวเลขรายวันและตัวเลขสะสม) และ ตัวเลขผู้เสียชีวิต (ตัวเลขรายวันและตัวเลขสะสม) โดยมีการแสดงออกมาเป็นกราฟเส้น และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาอธิบายให้เราเห็นว่ามีทางเลือกในการควบคุม 3 ลักษณะ คือ
1. หอไอเฟล (เป็นกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อที่ขึ้นสูงอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน ซึ่งในทางการแพทย์อธิบายว่าเมื่อขึ้นทุกจุดสูงสุด จะลดลงมาเองอย่างรวดเร็ว)
2. จอมปลวก (เป็นกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อที่ขึ้นในอัตราหนึ่งซึ่งสูงปานกลาง และจะลงมาช้ากว่าไอเฟลแต่เร็วกว่าหลังเต่า)
3. หลังเต่า (เป็นกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นสูงทีละช้า ๆ และจะอยู่นิ่งในระดับหนึ่งซึ่งไม่สูงมากนัก แต่จะค่อย ๆ ลงทีละช้า ๆ เช่นกัน)

Covid-19

การประมวลผลข้อมูลตัวเลขรายวันและการวิเคราะห์แนวโน้มของกราฟดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการนำเทคโนโลยีที่เราเรียกว่า Data Analytics and Visualization ซึ่งแน่นอนต้องมีระบบการจัดการฐานข้อมูลและการดึงข้อมูลมาจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อมาประมวลผลแบบเรียลไทม์และสรุปผลอย่างรวดเร็วทุกวัน

กรณีหลายประเทศในยุโรปและชาติตะวันตกเลือกใช้วิธีการแบบไอเฟล คือปล่อยให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการรุนแรงกักตัวเองที่บ้านและดูแลรักษาตัวเอง จะรับเฉพาะคนป่วยหนักเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะยังไงโรงพยาบาลก็ไม่สามารถจะรักษาได้หมดทุกคน หลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียเลือกที่จะใช้วิธีการควบคุมการเคลื่อนย้ายของคนในประเทศ และป้องกันในทุกวิถีทาง โดยเฉพาะการให้ความรู้อย่างเข้มข้นแก่ประชาชนในการดูแลรักษาตัวเอง เหมือนที่ประเทศไทยใช้การรณรงค์

“กินร้อน ช้อนเรา เว้นระยะห่าง 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ไปในที่ชุมชน หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือจับสิ่งของ และล้างมืออยู่เสมอ”

ตลอดจนการขอความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน ให้พนักงานที่ไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปทำงานที่สำนักงาน เปลี่ยนมาทำงานที่บ้านแทน (work from home) โดยดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากที่สุด

ส่วนที่สอง
คือ ตัวเลขเกี่ยวกับกระบวนการวินิจฉัยรักษา

ซึ่งจะสะท้อนถึงกำลังความสามารถในการดูแลผู้ป่วย โดยหมายถึงทรัพยากรทั้งหมดที่ต้องใช้ อาทิ จำนวนแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เครื่องมืออุปกรณ์ในการวินิจฉัยรักษา จำนวนเตียงและพื้นที่ห้องควบคุมเชื้อ รวมถึงระยะเวลาที่ต้องใช้ในแต่ละขั้นตอน ซึ่งจากแผนภาพกระบวนการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19 ที่ผมเขียนขึ้นมา และข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของผู้ป่วยที่หายดีจากการรักษามาแล้ว พบว่าระยะเวลาตั้งแต่ตรวจพบเชื้อจนถึงรักษาหาย (ในรูปคือ t2 + t3 + t4) ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน อาจเร็วหรือช้ากว่านี้ขึ้นกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและโรคประจำตัวที่มีมาก่อน ซึ่งเวลาการรักษาคงไม่อาจลดลงได้ สิ่งที่สามารถลดลงได้คือระยะเวลาตรวจคัดกรองขั้นต้นและเวลาตรวจยืนยันการติดเชื้อผ่านห้องแล็บ เมื่อรวมทรัพยากรจากทุกสถานพยาบาลที่มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยโควิด จะบอกได้ว่าระบบสาธารณสุขของประเทศจะดูแลและควบคุมสถานการณ์นั้น ๆ ได้ดีเพียงใด รวมไปถึงการเลือกที่จะใช้แนวทางใดในการจัดการกับโรคระบาดดังกล่าว

covid-19

จะเห็นว่าตัวเลขส่วนที่สองมีความสัมพันธ์กับตัวเลขส่วนที่หนึ่ง กรณีประเทศไทยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประชาชน และองค์กรต่าง ๆ เป็นอย่างดี ทุกคนมีวินัยและปฏิบัติได้ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้แนวทางไว้คือ Physical distancing และสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง ถูกสถานที่ และถูกเวลา ความพยายามที่จะให้จำนวนผู้ติดเชื้อมีอัตราเพิ่มขึ้นน้อยลงเรื่อย ๆ จาก หลักร้อยต่อวัน เป็นหลักสิบต่อวัน และดีที่สุดคือเป็นหลักหน่วยตัววัน จนถึงปัจจุบันประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศแล้ว คงมีเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และถูกกักตัวทันที (State quarantine) ถือได้ว่านโยบายด้านสาธารณสุขของไทยและมาตรการควบคุมเป็นไปด้วยดี

ร่วมคิด ร่วมสร้างนวัตกรรมต้นทุนต่ำ

ถ้าเราได้ติดตามอ่านข่าวการตื่นตัวในแวดวงการวิจัย พัฒนา และการสร้างเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาใช้เอง ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และไม่ต้องรอพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากมีราคาที่สูงแล้ว ในช่วงเวลานี้ก็ขาดแคลนไม่สามารถหาได้ง่าย เพราะทุกประเทศก็มีการระบาดและติดเชื้อ ดีที่สุดคือการพึ่งพาตัวเอง ดังนั้นวัสดุอุปกรณ์อะไรที่ไม่เพียงพอก็ต้องระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในการสนับสนุนโรงพยาบาลในการช่วยเหลือผู้ป่วยจากโควิด นวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ที่ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาขึ้นมานั้นแบ่งได้ตามลักษณะการใช้งานในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการตั้งแต่เลข 1 ถึงเลข 10 ทั้งนี้ นอกจากเป็นการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการรองรับผู้ป่วยในจำนวนที่มากขึ้นในเวลาเดียวกันแล้ว ยังทำให้ลดเวลาในการให้บริการในขั้นตอนต่าง ๆ ลง ซึ่งสำคัญที่สุดคือการลดเวลาที่เป็นคอขวด (t0 และ t1) ได้แก่ การสอบประวัติ คัดกรองขั้นต้น เพื่อแยกแยะหาผู้ติดเชื้อจริงและคัดแยกผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ในทันที ดังนี้

 

จุดที่ 0

มีการพัฒนา Web App หรือ Mobile App เพื่อให้คนทั่วไปที่อาจจะหนาวๆร้อนๆ มีไข้ ไอจาม สงสัยว่าตัวเองจะติดโควิดหรืออยู่ในข่ายกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ได้ตอบแบบสอบถาม แล้วจะได้รับคำตอบว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อไป โดยไม่ต้องตื่นตกใจที่จะเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ภาพ : แบบคักกรองความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ที่มา Facebook FanPage ไทยคู่ฟ้า @ThaigovSpokesman

จุดที่ 1 จุดที่ 2

เป็นกระบวนการตรวจวินิจฉัยขั้นต้น นอกจากการซักประวัติแล้ว ปัจจุบันก็มีชุดตรวจที่รู้ผลได้อย่างรวดเร็ว (Rapid test) พัฒนาขึ้นมา อาทิ Chula COVID-19 Strip Test ภายใต้แนวคิด “จุฬาฯ พารอด” รู้ผลเร็วเพียง 10 นาที ใน 4 ขั้นตอน หรือ Rapid Test Kit ที่ใช้หลักการ Immunochromatography (ICT) ที่พัฒนาขึ้นมาโดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ จุดที่ 3 เป็นการตรวจละเอียดเพื่อยืนยันซ้ำในห้อง Lab

covid-19
ภาพ : Chula COVID-19 Strip Test ที่มา https://www.chula.ac.th/news/28743/

จุดที่ 4

เป็นการวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์อื่น ๆ นวัตกรรมที่มีและพัฒนาขึ้นมา อาทิ ห้องควบคุมเชื้อความดันลบ (สำหรับผู้ป่วย) ห้องปลอดเชื้อความดันบวก (สำหรับบุคลากรการแพทย์) แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ที่มีน้ำหนักเบา ควบคุมเชื้อ และเข้าเครื่อง X-Ray ได้ ที่พัฒนาขึ้นโดย มูลนิธิ SCG เครือซิเมนต์ไทย

จุดที่ 5 และจุดที่ 6

สำหรับผู้ป่วยที่นอนรับการรักษาในโรงพยาบาล ภายในห้องควบคุมเชื้อ นวัตกรรมที่เกิดขึ้น อาทิ หุ่นยนต์ Pinto ที่ใช้ในการแจกจ่ายอาหารและยา ควบคุมระยะไกล ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องเข้าไปใกล้ชิดผู้ป่วย อุปกรณ์ครอบศรีษะผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในช่วงที่แพทย์ทำการรักษา

ภาพ : ‘Pinto’ robots ที่มา https://www.pattayamail.com/

จุดที่ 7 และจุดที่ 8

เป็นกระบวนการสร้างความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ จะเห็นได้ว่ามีทั้งวิศวกรในบริษัทเอกชน นักวิจัยและพัฒนาจากมหาวิทยาลัย และทีมแพทย์ของโรงพยาบาล ร่วมด้วยช่วยกัน อีกทั้งยังมีการระดมทุนจากภายนอกเพื่อนำมาผลิตวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามแนวคิด Open Innovation

 

จุดที่ 9

เกิดแนวคิดใหม่ในการนำโรงแรม สถานที่ที่เหมาะสม มาทำโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่กักตัว รวมถึง App ในการ Track and Trace ในชื่อ “ไทยชนะ” เพื่อช่วยในการติดตามผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงได้ง่าย

Covid-19
ภาพ : www.ไทยชนะ.com

จุดที่ 10

แนวคิดในการนำพลาสมาจากผู้ป่วยมาใช้พัฒนายาจากภูมิคุ้มกันของผู้ที่หายป่วย

Covid-19

เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์โรคระบาดจากไวรัส COVID-19 คลี่คลายและควบคุมได้แล้ว การระบาดจะเข้าสู่ภาวะปกติก็ต่อเมื่อมีวัคซีนป้องกัน เหมือนกับวัคซีนในโรคอื่น ๆ แล้วก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่มีคนมีภูมิคุ้มกัน มีคนติด คนป่วย และคนหาย ไม่ต่างจากไข้หวัด แต่สิ่งที่น่าจะเปลี่ยนไปอย่างค่อนข้างแน่นอนก็คือ การปรับตัวของคนในการดำรงชีวิต การทำงาน การทำธุรกิจการค้า การผลิตในโรงงาน และการบริการต่าง ๆ ที่จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างมาก เพราะเห็นแล้วว่าถ้าเกิดวิกฤตในลักษณะใกล้เคียงกันนี้อีกครั้งในอนาคต เศรษฐกิจและสังคมจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าปัจจุบัน โดยมีแผนสำรองและแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ได้ดีขึ้น กรณีศึกษาของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์นี้ เป็นสิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่า นวัตกรรมต้นทุนต่ำทำได้ แม้ว่าจะไม่ได้ใหม่หรือก้าวล้ำนำหน้ามาก แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้พัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ ควบคู่กับแนวคิดใหม่ นำมาสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์และใช้งานได้จริง




Writer

โดย จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว

ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร