10 November 2017

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม 4.0 ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะส่งกระทบโดยตรงต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน  รูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า New Digital Business Model จะเข้ามาเสริมพลังให้รูปแบบการติดต่อธุรกิจแบบ B2B และ B2C มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น อำนวยความสะดวกให้สินค้าและบริการสามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างตรงกลุ่ม ทำให้การโต้ตอบทางธุรกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประหยัดทรัพยากรทั้งทางด้านต้นทุนและเวลา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของ B2C คือ Amazon Market Place, Apple App Store และ Etsy หรือ ตัวอย่างของ B2B อย่างเช่น Alibaba และ SAP Ariba เป็นต้น อันที่จริง     ก่อนหน้านี้ Business Model ได้มีการปรับตัวไปบ้างแล้วจากการเข้ามาของ e-Business ที่มีการนำ Computer Science เข้ามาบริหารจัดการ และเมื่อไม่นานมานี้มีการผนวก Engineering Science เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Zott et al. 2011) ดังนั้น รูปแบบการดำเนินธุรกิจในอนาคตจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วและไม่ควรยึดติดกับความสำเร็จในอดีต

รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดคือ การสามารถเชื่อมต่อและสื่อสารอย่างเป็นระบบระหว่างข้อมูลและหลักฐานเพื่อแสดงข้อเท็จจริงว่าธุรกิจสร้างคุณค่าและส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าได้อย่างไร ซึ่งสัมพันธ์กับการสร้างรายได้ การบริหารต้นทุนและกำไรของบริษัทเพื่อให้เกิดการตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล และเมื่อมีข้อมูลที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ พร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการติดต่อสื่อสาร Digital Business Model จึงเกิดขึ้นนับจากจุดนั้น (Jaekel 2016) การเข้าถึงข้อมูลความต้องการของลูกค้าที่แท้จริงทำให้การผลิตสินค้าและบริการมีความชาญฉลาดและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น โดยจะใช้เวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสั้นกว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ดังนั้น การประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาคุณค่าในปัจจุบันและวิเคราะห์คุณค่าในอนาคต ตลอดจนความสามารถในการสร้าง    คุณค่าที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ร่วมกับกับเครือข่ายเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ โดยสามารถเรียบเรียงและประสานการทำงานร่วมกันราวกับการเล่นดนตรีของวงออเคสตร้า จะเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบ Digital Business Model

จากการสำรวจผู้ประกอบการขนาดกลางในประเทศเยอรมันจำนวน 2,078 บริษัท ว่ามีการใช้ Digital Business Model ใน 5 องค์ประกอบต่อไปนี้หรือไม่ 1. การติดต่อลูกค้าส่วนใหญ่ผ่านทาง Online 2. ผลิตภัณฑ์และบริการส่วนใหญ่ของบริษัทถูกนำเสนอบน digital platform 3. มีบริการเสริมหรือสนับสนุนผลิตภัณฑ์บน digital platform 4. Supplier ของทางบริษัทมีการใช้ digital platform ในการติดต่อธุรกิจหรือให้บริการเสริมกับทางบริษัท และ 5 ผลิตภัณฑ์สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลบน digital platform ได้ ซึ่งจากผลสำรวจพบว่ามีเพียง 25% เท่านั้นที่มีการใช้รูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัลและส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่มากกว่าขนาดเล็ก (Saam et al. 2016) ดูเหมือนต้นตำรับก็ยังประสบข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนธุรกิจของเยอรมันให้เป็นดิจิทัลเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เยอรมันมีการกำหนดรูปแบบการดำเนินธุรกิจรวมถึงการวางแผนทางธุรกิจที่ตอบสนองต่อการปรับเปลี่ยนสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ไว้ 14 รูปแบบหากบริษัทต้องการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิทัล ดังนี้

                 1. Product Customization

ผลิตภัณฑ์ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า Industry 4.0 สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างกันไปตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้ หรือที่เรียกว่า “mass customization”

                 2. Mass Sustainability

ต้องเกิดความยั่งยืนภายใต้การผลิต “mass customization” เพราะมีการผลิตที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยจะผลิตสินค้าที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

                 3. Everything as a Service (Xaas)

รูปแบบการดำเนินธุรกิจของ I 4.0 จะมีคุณลักษณะที่มีองค์ประกอบของการมุ่งเน้นในงานบริการเป็นพื้นฐาน XaaS เป็นแนวทางที่ทำให้การบริโภค การใช้สินค้า เป็นการให้บริการตลอดช่วงอายุของการบริโภคสินค้านั้นๆ มีความปลอดภัยและสะดวกสบาย กระบวนการผลิตจะถูกออกแบบให้มีความสัมพันธ์กับการให้บริการ โดยสามารถดำเนินการแยกโดยอิสระได้หากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม โครงสร้างขององค์กรและการดำเนินธุรกิจจะต้องสนับสนุน XaaS  องค์กรจะต้องมีการลงทุนที่เหมาะสมรวมถึงการพัฒนาสมรรถนะของพนักงานเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยภายใต้ XaaS จะประกอบไปด้วยการทำงานอย่างบูรณาการกันระหว่าง VaaS, MaaS, Paas และ IaaS

                 4. Value as a Service (VaaS)

เป็นการให้บริการส่วนบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการ VaaS จะแปลงความต้องการของลูกค้ามาเป็นมุมมองด้านการให้บริการผ่านการบริโภคสินค้าเพื่อสร้างมูลค่า ลูกค้าจะไม่ได้ซื้อสินค้า แต่ลูกค้าจะซื้อประสบการณ์การใช้สินค้าหรือซื้อตราสินค้า เป็นต้น

                 5. Module as a Service (MaaS)

การมุ่งตอบสนองคุณค่าตามสัญญาจะให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ดังนั้น การออกแบบ Hardware และ Software จะมุ่งประโยชน์ต่อผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยจะต้องออกแบบให้ Hardware และ Software ที่มีผลต่อการส่งมอบคุณค่า แม้จะแยกดำเนินการอยู่แต่ต้องสามารถทำงานร่วมกันได้

                 6. Platform as a Service (PaaS)

การสร้างสภาพแวดล้อมและการติดต่อสื่อสารที่สามารถสนับสนุนตลอดช่วงชีวิตของการใช้บริการ ต้องมีการสนับสนุนด้าน Hardware, Software และ Serviceware  ยกตัวอย่างเช่น Virtual Fort Knox, App Stores

                 7. Infrastructure as a Service (IaaS)

โครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุน MasS อย่างไรก็ดี IaaS จะต้องเข้าใจในรูปแบบการดำเนินธุรกิจในการที่จะเช่าคอมพิวเตอร์และโปรแกรมที่ต้องการ ความหลากหลายของโปรแกรมที่สามารถเลือกตามความต้องการ ไม่จำเป็นต้องลงทุนในโปรแกรมที่ไม่ได้ใช้งานบ่อย ไม่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างที่ต้องคอยดูแลรักษา สามารถกำหนด scale ที่ต้องการใช้ให้มีความยืดหยุ่นในช่วงที่มีการใช้งานมากได้

                 8. Smart Pricing

การเชื่อมต่อระหว่าง Big Data และชุดคำสั่งที่สร้างไว้เพื่อการตัดสินใจ (Intelligent Algorithms) จะสามารถหาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้และราคาที่ต้องจ่าย โดยมีการคำนวณต้นทุนของปัจจัยแวดล้อมทั้งหมดเข้าไปอยู่ชุดคำสั่งเพื่อการตัดสินใจด้วย ซึ่งจะได้การกำหนดราคาอย่างเป็นระบบที่เรียกว่าจ่ายเท่าที่ใช้หรือ pay-per-use

                 9. Smart Services

การให้บริการที่ชาญฉลาดจะมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งผู้ใช้นี้อาจจะเป็นลูกค้า พนักงาน ประชาชน คนไข้ หรือนักท่องเที่ยว โดยสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม ผู้ใช้สามารถเข้าถึงการเชื่อมต่อระหว่างผลิตภัณฑ์และบริการบน Service Platform โดย Platform นี้จะสามารถเข้าใจความชอบและความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ Data-driven Business Model เป็นความสามารถที่จะเชื่อมข้อมูลที่มีความหลากหลายที่มาจากประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้โดยตรงแบบ Real Time เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ทันที โดยรูปแบบธุรกิจนี้จะมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำ ให้ความพึงพอใจมากกว่าให้ความเป็นเจ้าของสินค้า ดังนั้นผู้ขายจำเป็นต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวนี้ รูปแบบของ Smart Service ได้แก่ user-centric, cross company และ industry-convergent ซึ่งมีการใช้ข้อมูลและชุดคำสั่งเพื่อการตัดสินใจในการสร้างคุณค่าประสบการณ์การใช้ให้กับผู้ใช้อย่างมาก เทคโนโลยีสำหรับการได้มาซึ่งข้อมูลเช่น Sensor การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ Algorithms มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบน Platform และต้องมีระบบสนับสนุน digital ecosystem

                10. New Usage Model

ในการเชื่อมระหว่าง Smart Services กับรูปแบบการแบ่งปันการใช้หรือการจ่ายเท่าที่ใช้ได้ถูกยกเป็นประเด็นในการถกเถียง ยกตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าเสมือนจริงของ Avatars จะนำมาคิดเงินจริงๆ ได้อย่างไร New Usage Model จะช่วยให้สามารถกำหนด intelligent pricing จาก smart services ได้

                11. Cost-Benefit Analysis of Digital and Networked Solutions

เมื่อระบบเครือข่ายและดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่า จะทำให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถที่จะวัดในทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในเชิงปริมาณนั้นเป็นการวัดความสำเร็จในการประหยัดต้นทุนรวมถึงการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนในเชิงคุณภาพสามารถวัดได้จากความสำเร็จในการปรับปรุงการวางแผนและการควบคุมกระบวนการผลิตที่มีความยืดหยุ่นและสร้างความ     พึงพอใจให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน การใช้ทรัพยากรก็จะมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผลประโยชน์เชิงคุณภาพนี้สามารถเชื่อมต่อกิจกรรมอื่น ๆ ทำให้การวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ที่เกิดจาก digitalization มีหลากหลายมุมมองมากกว่าในอดีต

                12. ROI and TCO Analysis

เนื่องจาก Industry 4.0 ส่งผลต่อทั้งกิจการตั้งแต่เครื่องจักรและอุปกรณ์ในระดับ shop floor ยังรวมไปถึงในสำนักงาน และยังส่งผลกระทบต่อพนักงานและรูปแบบการดำเนินธุรกิจด้วย นอกเหนือจากเรื่องประสิทธิภาพข้างต้นแล้ว ยังต้องพิจารณารายได้เพิ่มเติมที่เกิดขึ้นจากระบบดิจิทัลและเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพขึ้น การคิดต้นทุนต้องพิจารณาถึงการเป็นเจ้าของทั้งหมด หรือการคิดต้นทุนตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ต้นทุนไม่เป็นเพียงแค่ค่าใช้จ่ายในการซื้อกิจการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงทุกแง่มุมของการใช้งานในภายหลังอีกด้วย

                13. Purchasing and Industry 4.0 (Including Development and Bid Criteria)

การมีระบบเครือข่ายและดิจิทัล ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างฝ่ายจัดซื้อและฝ่ายผลิตมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม ในแง่ของการจัดซื้อก็จะทำให้มีแผนการจัดซื้อจัดหาที่มีความชัดเจนขึ้น มีซัพพลายเออร์ใหม่ๆ ของลูกค้าแต่ละราย เนื่องจากระบบดิจิทัลและเครือข่ายจะให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้ช่วยปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ในห่วงโซ่คุณค่า ไปจนถึงข้อมูลที่มีคุณภาพส่งให้กับการวางแผนตารางการผลิต ซึ่งเป็นผลดีที่ได้รับนอกเหนือจากการเกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต

                14. Business Model Analysis

การวิเคราะห์โมเดลทางธุรกิจ ในการใช้แนวทางดังกล่าวข้างต้นเพื่อดำเนินโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ จำเป็นต้องวิเคราะห์โมเดลทางธุรกิจที่มีอยู่เชิงลึกและรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิเคราะห์ลักษณะขององค์ประกอบของโมเดลธุรกิจแต่ละด้าน ซึ่งทำให้การวิเคราะห์ต้องใช้ความเชี่ยวชาญหลายด้านผสมผสานกัน จึงจะสามารถวิเคราะห์ได้จากหลายมุมมองที่แตกต่างกัน

ดังนั้น โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Industry 4.0 บริษัทจำเป็นต้องพิจารณา 14 เรื่องข้างต้นในแผนกลยุทธ์ของบริษัทด้วย

ที่มา :

Jaekel, Michael (2016): Die Anatomie digitaler Geschäftsmodelle. 1. Aufl. 2015. Wiesbaden: Springer Fachmedien Wiesbaden GmbH (essentials). Online verfügbar unter http://www.springer.com/de/book/9783658122805.

Zott, Christoph; Amit, Raphael H.; Massa, Lorenzo (2011): The Business Model. Recent Developments and Future Research. Journal of Management.

Saam, Marianne; Viete, Steffen; Schiel, Stefan (2016): Digitalisierung im Mittelstand: Status Quo, aktuelle Entwicklungen und Herausforderungen. Forschungsprojekt im Auftrag der KfW Banken-gruppe. Unter Mitarbeit von Unter Mitarbeit von Armando Häring, Jette Kellerhoff, Jörg Ohnemus und Lukas Trottner. Mannheim: ZEW Zentrum für europäische Wirtschaftsforschung. Online verfügbar unter http://ftp.zew.de/pub/zew-docs/gutachten/Digitalisierung-im-Mittelstand.pdf, zuletzt geprüft am 24.08.2017.

ที่มา : คอลัมน์ Think Foresight หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย นันทพร อังอติชาติ

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ