15 March 2022

4 กระบวนท่าวิทยายุทธ์

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
[email protected]

เมื่อเห็นความจำเป็นที่จะต้องนำเอาเครื่องมือ “การถอดองค์ความรู้” มาใช้เพื่อ “สร้างและแสวงหาความรู้” ตามที่มีการ “บ่งชี้ความรู้” อย่างถูกต้อง ชัดเจน ก็ถึงเวลาที่จะมาฝึกวิทยายุทธ์ให้มีความสามารถพอที่จะไป “ถอดองค์ความรู้” ตามที่ต้องการ

วิทยายุทธ์ที่ต้องฝึกฝนมีทั้งหมด 4 กระบวนท่าหลัก ในช่วงแรกอาจรู้สึกว่าเป็นงานยาก ความเชี่ยวชาญมาจากการนำไปใช้บ่อย ๆ  จากความยากจะกลายเป็นความง่ายและรู้สึกว่าเป็นเรื่องสนุก น่าสนใจเพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกครั้งที่ “ถอดองค์ความรู้”

ขอยืนยันจากประสบการณ์ที่ทำงานด้าน “ถอดองค์ความรู้” มามากกว่า 20 ปี ไม่มีครั้งไหนที่ไม่สนุกและไม่ได้เรียนรู้ จึงตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้มีโอกาสทำงานนี้ และความรู้ที่ได้มาสามารถนำมาใช้ได้ในหลายมิติ หลายมุมมอง ไม่เพียงแต่การนำมาถ่ายทอดในงานวิจัย บทความ ยังพบว่าบางครั้งนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

 

4 กระบวนท่าวิทยายุทธ์
ประกอบด้วย ทักษะการจับประเด็น ทักษะการสัมภาษณ์
ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ หรือที่เรียกกันว่า System Thinking
และ ทักษะการวิเคราะห์

 

ทักษะการจับประเด็น

เป็นความสามารถในการแยกประเด็นหลักหรือ Key Theme กับองค์ประกอบหรือส่วนขยาย เพราะถ้าแยกไม่ได้ก็อาจหลงไปกับส่วนขยายจนหลงลืมประเด็นหลัก อาจพลาดความรู้ที่เป็นแก่นไปจับเอาเปลือกหรือกระพี้มาแทนได้

 

ทักษะการสัมภาษณ์

เป็นกระบวนท่าที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนพอสมควร แต่เป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในการถอดองค์ความรู้ ทักษะนี้ประกอบไปด้วย หนึ่ง การตั้งคำถามที่มีกรอบตรงประเด็นและครอบคลุมองค์ความรู้ที่ต้องการ สอง การกำกับทิศทางในการสัมภาษณ์ สาม การสร้างบรรยากาศไว้วางใจ ผ่อนคลาย สี่ ความสามารถในการสะท้อนกลับเพื่อความชัดเจน ถูกต้องขององค์ความรู้ ซึ่งในบทความต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องนี้โดยละเอียด

 

ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ
System Thinking

จะช่วยให้การถอดองค์ความรู้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน เพราะทุกองค์ความรู้ไม่ได้เป็นความรู้เชิงเดี่ยว จึงต้องรู้ด้วยว่าในความรู้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องใดอีกบ้าง ความรู้นั้นมีองค์ประกอบอะไร และในวิธีปฏิบัติมีขั้นตอนอย่างไร ทักษะนี้จะนำไปใช้ในการเรียบเรียงเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างมีนัยสำคัญ

 

ทักษะการวิเคราะห์

ที่จะช่วยในการประมวลและจัดหมวดหมู่องค์ความรู้ที่ได้รับให้มีความชัดเจน ง่ายต่อการนำไปเรียนรู้ในลำดับต่อไป

ในชีวิตประจำวันทักษะที่เริ่มต้นฝึกฝนได้ด้วยตนเองก็คือ ทักษะการจับประเด็น ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ และทักษะการวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การฟัง ฝึกการจับประเด็นหลักหรือ Key Theme ให้ได้ แล้วพิจารณาองค์ประกอบว่ามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง ถ้าเป็นวิธีปฏิบัติมีลำดับขั้นตอนอย่างไร ฝึกวิเคราะห์เรื่องที่อ่าน หรือรับฟังว่าอะไรคือข้อเท็จจริง (Fact) อะไรคือความจริง (Truth) เพราะข้อเท็จจริงที่ประจักษ์อาจไม่ใช่ความจริงก็ได้ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ข้อมูลที่ได้รับในแต่ละนาทีจำนวนมหาศาล ขอแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง “Data Literacy” ของ รศ.ดร.วรากรณ์  สามโกเศศ ซึ่งท่านได้อธิบายไว้อย่างกระจ่างชัดและน่าสนใจอย่างยิ่ง

ในกรณีที่ผู้มีความรู้ในองค์กรจะสร้างความรู้ของตนเองถ่ายทอดให้คนในองค์กรต่อไป การถอดความรู้ของตนเองออกมาก็สามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการสัมภาษณ์ แต่ก็ต้องมีความเข้าใจในหลักการและวิธีการของการถอดองค์ความรู้เช่นกัน ซึ่งมีทักษะที่ต้องใช้ 2 เรื่องสำคัญคือ การจับประเด็น และการคิดเชิงระบบ เมื่อเร็ว ๆ นี้สถาบันวิชาการแห่งหนึ่งได้ให้ผู้เขียนจัดการอบรมเรื่องการถอดองค์ความรู้ให้กับนักวิชาการของสถาบัน มีการฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้นเพื่อให้นักวิชาการสามารถถอดบทเรียนของตนเองออกมา เสียงสะท้อนจากนักวิชาการที่เข้าอบรมกล่าวว่าในตอนแรกไม่เข้าใจเลยว่าทำไมต้องมาอบรมเรื่องนี้ เพราะมีความรู้อยู่กับตนเองแล้ว แต่เมื่อได้ถอดความรู้ออกมา และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำให้เห็นคุณค่าของการได้ทบทวนความรู้ และสามารถนำความรู้นั้นไปสร้างมาตรฐานการทำงานให้ดีขึ้น

 

ดังนั้นหากจะให้การจัดการความรู้สร้างมูลค่าให้แก่องค์กร หรืองานที่ทำอย่างแท้จริง

การถอดองค์ความรู้ คือ เครื่องมือที่ไม่นำมาใช้ไม่ได้แล้ว

 

แนะนำหลักสูตร
Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้)
👉 คลิก




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น