20 September 2017

ท่ามกลางกระแสความแรงของอุตสาหกรรม 4.0 หลายๆ บริษัทยังมีท่าทีลังเลว่าจะกระโดดเข้าร่วมขบวนการหรือไม่ ถ้าลงทุนแล้วมันจะคุ้มค่าไหม ทำแล้วจะได้กำไรเท่าไร คืนทุนได้ในเวลากี่ปี ดูเหมือนยังไม่มีงานวิจัยในประเทศไทยที่สามารถคลายข้อกังวลนี้ได้อย่างชัดเจน

แต่มีงานวิจัยของทาง McKinsey ที่มีการสำรวจ     ความคิดเห็นบริษัทผู้ผลิตในตลาดโลกที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ว่าจะทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนของสินค้าคงคลังได้ 20-30% ลดระยะเวลาที่เครื่องจักรขัดข้องลง 30-50% ลดต้นทุนในการบำรุงรักษาเครื่องจักร 10-40% เพิ่มผลิตภาพแรงงาน 45-55% ลดระยะเวลาในการออกสู่ตลาด 20-50% ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากเดิม 3-5% ฟังแล้วดูดีมากทีเดียว แต่ก็มีบริษัทเพียง 36% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ อีก 64% มีข้อจำกัดและไม่มีความก้าวหน้าในการการปรับเปลี่ยนนี้

สำหรับบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการดำเนินการนี้ เขามีปัจจัยแห่งความสำเร็จ 5 ประการ คือ

1. มุ่งให้ความสำคัญต่อการดำเนินการที่จะเกิดผลสำเร็จในส่วนใดส่วนหนึ่งก่อน

2. ตรวจสอบอย่างรอบคอบในการวางพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อตอบเป้าหมายในอนาคต

3. สร้างช่องทางในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลของผู้ที่สามารถจัดหาเทคโนโลยีตามที่ต้องการ

4. สร้างทีมงานที่เข้มแข็งและมีทัศนคติเชิงบวกพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

5. สร้างประสบการณ์ในการค้นหาแนวคิดและรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ

สำหรับเหตุผลหลักที่เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จมีอยู่ 8 ประการ คือ

1. ความยุ่งยากในการประสานความร่วมมือข้ามหน่วยงานภายในองค์กร

2. การขาดความกล้าในการปรับเปลี่ยนอย่างถอนรากถอนโคน

3. การขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องดังกล่าว

4. ความกังวลเกี่ยวกับระบบป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์

5. การขาดการวางทิศทางธุรกิจที่ชัดเจนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการลงทุน

6. ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของข้อมูลที่นำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการรวมถึงข้อมูลที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานภายนอก

7. การขาดความรู้และข้อมูลในการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญและกลไกระบบสนับสนุน

8. ความท้าทายในการบูรณาการข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก

จากการสอบถามความคิดเห็นผู้ประกอบการถึงการเตรียมความพร้อมภายใต้โครงการประเมินพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Industry 4.0) ของสถาบัน ผู้ประกอบการไทยก็ประสบกับอุปสรรคคล้ายกันนี้เช่นกัน โดยเฉพาะการขาดผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง การประเมินผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ (Economic Benefit) ความกังวลเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ และการกำหนดมาตรฐานในการกำหนด coding ของข้อมูลเพื่อให้สามารถแบ่งปันกันได้ ที่เกริ่นมาก็อยากจะบอกเคล็ดลับก่อนที่เราจะตัดสินใจปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรม 4.0 เราต้องวาดภาพโมเดลทางธุรกิจในอนาคตของเราไว้ก่อนเป็นอย่างแรก

ภาพนั้นจะต้อง Future Fit คือเหมาะสมและตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในอนาคตได้ แล้วค่อยกลับมาดูว่าการเกิดภาพนั้นเราจะต้องใช้เทคโนโลยีอะไรบ้างที่ทำให้เราเกิดภาพนั้นได้เร็วขึ้นและเกิดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญโมเดลทางธุรกิจในอนาคตของเราจะต้องตอบเรื่องดังต่อไปนี้ให้ได้ทั้งหมดซึ่งเป็นคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์และบริการในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยโดยธุรกิจจะต้องผลิตสินค้าและบริการที่สามารถตอบความต้องการของลูกค้าเฉพาะรายได้ในปริมาณมาก (Mass Customization) มีการผสมผสานการบริการเข้าไปในตัวผลิตภัณฑ์จนไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์และบริการ (Product as a Service) สามารถเรียนรู้ประสบการการณ์การใช้สินค้าและบริการของลูกค้าแต่ละรายตลอดช่วงอายุของผลิตภัณฑ์ (Journey of Customer Experiences) และต้องมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารตลอดจนช่องทางในการเข้าถึงสินค้าและการบริการต่างๆ ที่สะดวก ง่ายดาย และรวดเร็ว (Flexibility and Connectivity) สุดท้ายเชื่อมต่อกระบวนการดังกล่าวให้เป็นระบบ System Engineering หรือทำให้ระบบต่างๆ สามารถคุยระหว่างกันเองได้ โดยมีคนเข้าไปเกี่ยวข้องในลักษณะของการติดตามและควบคุมเท่านั้น

สุดท้ายก็อาจยังมีคำถามว่าทำได้แบบนี้แล้วจะยั่งยืนไหม โลกนี้มีอะไรบ้างที่ยั่งยืน คงจะตอบยาก แต่ถ้าเราสามารถทำธุรกิจได้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เราเรียกแบบนี้ว่ายั่งยืนได้ไหม ถ้าตราบใดที่สินค้าหรือบริการของเราทำออกมาแล้วมีคนสนับสนุนตลอด เมื่อก่อนการทำธุรกิจก็แค่ต้องรู้ความต้องการกับความคาดหวังของลูกค้า แต่บางครั้งลูกค้าก็ไม่รู้ว่าต้องการอะไร การถามข้อมูลไปตรงๆ อาจไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อสินค้าแล้ว พฤติกรรมการใช้สินค้า ไลฟ์สไตล์ของลูกค้า รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลอื่นๆ อาทิเข่น การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ข้อมูลท่องเที่ยว โรงแรม การแสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์ ฯลฯ หรือที่เรารู้จักกันว่าทำ Big Data Analytics เพื่อต้องการหาความต้องการหรือความคาดหวังของลูกค้าในอนาคตก่อนที่ลูกค้าจะรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร คนวิเคราะห์ต้องรู้ว่าจะต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้างและจะหาได้จากไหนและต้องใช้โมเดลทางธุรกิจอย่างไรในการวิเคราะห์ คนเหล่านี้เรียกว่า Data Scientist ข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า (Insightful Information) เพื่อให้บริษัทสามารถนำมากำหนด Value Preposition ในสินค้าและบริการของเรา หากสามารถทำให้ลูกค้าต้องซื้อแต่เราเพียงผู้เดียวหมายความว่าเราสามารถสร้าง Value Preposition นั้นให้เป็น System Lock-in ก็จะวิเศษมาก อย่างไรก็ตาม ในโลกที่เชื่อมต่อถึงกันได้ตลอดเวลาและมีความซับซ้อนแบบนี้ คู่แข่งเกิดขึ้นและจากไปอย่างรวดเร็ว การที่เรายังตอบความต้องการของลูกค้าเพียงกลุ่มเดียวก็ยังไม่ได้เป็นหลักประกันของความยั่งยืน ดังนั้น ธุรกิจจะต้องตอบความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ (Interested Party) โดยต้องเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างผลกระทบในทางใดทางหนึ่งต่อธุรกิจของเราได้ หากสามารถตอบโจทย์ได้ครบถ้วนเช่นนี้แล้ว รูปแบบการดำเนินธุรกิจของเราแบบนี้ยั่งยืนแน่นอน




Writer

โดย นันทพร อังอติชาติ

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ