26 January 2017

คุณค่าในทุกคำ

เรื่องของอาหารการกินในยุคนี้ ไม่ใช่เป็นแค่กินให้อิ่มหรือกินอร่อย แต่เป็นเรื่องทางสังคม ที่บ่งชี้ถึงรสนิยม การใช้ชีวิต การไปร้านอาหารกลายเป็นแฟชั่นอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องมีการโพสลงในเฟซบุ๊ค และกลายเป็นช่องทางการตลาดของร้านอาหารโดยอัตโนมัติ ธุรกิจร้านอาหารจึงต้องสร้างลูกเล่นใหม่ๆ เพื่อดึงดูดใจลูกค้า

รวมถึงธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น อาหารสำเร็จรูปที่ร้านสะดวกซื้อ ที่เริ่มเคลื่อนที่ไปเป็นอยู่ในตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ เครื่องดื่มผสมสมุนไพร โซดากลิ่นผลไม้ ฯลฯ

แต่ความต้องการของผู้บริโภคยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ในบทความ Consumer Food Products Face A Sea Change จากเว็บไซต์ digitalistmag.com เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจอาหารในอนาคตที่ให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลักๆ ก็คือ ความต้องการเฉพาะบุคคลและความยั่งยืน

โดยเฉพาะใน Gen. Z ไม่ใช่แค่เรื่องของความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกแบบตามความต้องการเฉพาะ แต่ผลิตภัณฑ์และบริการนั้นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมกับการสร้างสรรค์สังคมด้วย

ผู้ประกอบการยุคใหม่จึงต้องเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการตามความต้องการของพวกเขาอย่างเต็มที่ โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ เช่น เครื่องจักรผลิตน้ำโซดาของ Coca-Cola ลูกค้าสามารถเข้ามาผสมสูตรน้ำโซดาตามความต้องการได้ โซดาของ Coca-Cola จึงมีสูตรเฉพาะมากกว่า 100 สูตร ด้วย 3D food printing บริษัทผลิตอาหารเด็ก มีช่องทางให้ลูกค้าเลือกส่วนผสมด้วยตนเอง และผลิตตามความต้องการนั้นให้กับลูกค้า

นอกจากความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสูตรเฉพาะ แนวโน้มที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องของความปลอดภัยในอาหาร จากความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับสารเคมีในขั้นตอนการผลิตอาหารตั้งแต่การเพาะปลูกหรือการเลี้ยงสัตว์ ที่มีการใช้สารเคมีเร่งการเติบโต กำจัดโรค ให้ได้ผลิตผลที่ตลาดต้องการ ไปจนถึงกระบวนการผลิตอาหาร และบรรจุภัณฑ์ที่มีสารเคมีเข้าไปเป็นองค์ประกอบในเกือบทุกขั้นตอน ผลิตผลจากเกษตรอินทรีย์จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในผลิตภัณฑ์อาหารในอนาคตมากขึ้น ในบทความOrganic Food Market Growing due to Consumers Increasingly Aware about the Harmful Effects of Chemicals & other Additives จากเว็บไซต์ http://satprnews.com เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากล่าวว่าในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ผู้บริโภคหันกลับมาให้คุณค่ากับสินค้าการเกษตรที่ใช้วิถีดั้งเดิมในการผลิต ที่เป็นไปตามธรรมชาติ ปราศจากการใช้สารเคมี ผลิตผลของเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มีความต้องการเฉพาะการนำไปเป็นอาหาร แต่ในการทำเครื่องสำอางค์ก็มีแนวโน้มที่หันมาเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติปราศจากสารเคมีมากขึ้นด้วย

ซึ่งแนวโน้มนี้สอดคล้องกับประเด็นของความยั่งยืนที่กล่าวมาในข้างต้น เพราะนอกจากผู้บริโภคจะมองในด้านความปลอดภัยของตนเองแล้ว ยังมองถึงผลกระทบของสารเคมีจากการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และกระบวนการผลิตอาหารที่มีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากสภาวะโลกร้อนล้วนมาจากการกระทำของมนุษย์เกือบทั้งสิ้น อุตสาหกรรมอาหารก็เป็นจำเลยสำคัญไม่ต่างไปจากอุตสาหกรรมอื่นๆ

ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารตามความต้องการของตนเองได้ การตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบในอาหารก็ไม่ใช่เรื่องยาก รวมทั้งการตรวจสอบสารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหารด้วยตนเอง แม้ว่าวิถีชีวิตของคนเมืองในอนาคตต้องการการบริโภคที่สำเร็จรูป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะยอมจำนนต่อการไม่มีทางเลือก ตรงกันข้ามพวกเขามีโอกาสที่จะเลือกมากขึ้นด้วยข้อมูลที่มีอยู่มากมาย การเชื่อมโยงของข่าวสาร และเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเลือกนั้นทำได้อย่างสมบูรณ์ราวกับปรุงอาหารด้วยตนเอง

ปัจจุบันประเทศไทยก็มีเครือข่ายผู้ขับเคลื่อนด้านเกษตรอินทรีย์และความปลอดภัยในอาหารที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น และขยายวงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ แม้ดูเหมือนว่าธุรกิจอาหารสำเร็จรูปยักษ์ใหญ่ยังคงครอบครองตลาดจนแทบไม่มีที่ว่างให้ธุรกิจอาหารรายอื่น แต่เมื่อวิถีการผลิตเช่นนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอนาคตก็คงอยู่ได้อีกไม่นาน

เพราะผู้บริโภคอาหารต้องการคุณค่าในทุกคำที่บริโภค คุณค่าที่มีต่อสุขภาพ และคุณค่าต่อโลกไปพร้อมกัน ธุรกิจอาหารรายใหญ่ระดับโลกหลายราย จึงต้องมีภารกิจในการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาความอดอยาก ขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไปพร้อมๆ กับเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตที่มีคุณค่าตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือของผู้บริโภค




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น