12 February 2016

reinvention

 

เมื่อไม่นานมานี้มีเมืองซานฟรานซิสโกประกาศห้ามการใช้ขวดพลาสติก ซึ่งนับว่าเป็นเมืองแรกของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศนโยบายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการก้าวไปสู่เป้าหมาย  zero-waste ในปี ค.ศ. 2020

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่อาจประนีประนอมได้อีกต่อไป

พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของทุกๆ คน โดยเฉพาะสังคมไทย มีการใช้พลาสติกกันฟุ่มเฟือยอย่างน่าตกใจ ไม่เฉพาะถุงพลาสติกที่แม่ค้าพ่อค้าใส่สินค้าให้ลูกค้าไม่อั้น แม้ว่าจะเป็นแค่พวงมาลัยพวงละสิบบาท หรือพริกขี้หนูห้าบาท แต่ยังมีแก้วพลาสติกจากร้านกาแฟตั้งแต่รถเข็นไปถึงร้านแฟรนไชน์สุดหรู และขวดน้ำพลาสติก ที่ไม่ได้ใช้เฉพาะการดื่ม ถ้าสังเกตให้ดีริมถนนตอนเช้าที่มีพระสงฆ์ยืนรอรับบาตร เดี๋ยวนี้แม่ค้าพ่อค้าที่จัดชุดใส่บาตร จะมีน้ำขวดพลาสติกเล็กๆ เตรียมไว้ให้ญาติโยมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลกันด้วย จึงมีขยะขวดพลาสติกที่ใช้เพื่อการนี้อีกมหาศาลในแต่ละวัน

มีรายงานหลายชิ้นเกี่ยวกับความเสียหายจากพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้รับการเผยแพร่อย่างที่ควรจะเป็น

แน่นอนว่าอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกมีมูลค่าสูง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่การที่หลายประเทศเริ่มมีนโยบายลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง ก็แสดงว่ายังมีทางออกในเรื่องนี้ที่ควรศึกษาเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป

ในหนังสือ The Road to Reinvention เขียนโดย Josh Linkner  เชื่อมโยงกับประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ

Reinvention เป็นกระบวนการคิดถึงความยั่งยืนในอนาคตขององค์กร ไม่ใช่แค่การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเมี่อเผชิญหน้ากับปัญหา แต่เป็นการคิดใหม่ ทำใหม่ที่ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่ ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา

คำถามก็คือผู้ผลิตพลาสติกเคยคิดถึงเรื่องนี้บ้างหรือไม่ ในขณะที่พลาสติกสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย ถ้าอุตสาหกรรมพลาสติกไม่คิดใหม่ ทำใหม่ จะอยู่รอดได้อย่างไรในอนาคต

ธรรมชาติสอนมนุษย์อยู่เสมอในความไม่จีรัง ยั่งยืน แต่มนุษย์เองยังเพียรถามหาแต่ความยั่งยืน แนวคิดของ Reinvention ก็ตอบว่าถ้าต้องการความยั่งยืน ก็ต้องเปลี่ยนแปลง นั่นคือการทำตามครรลองของธรรมชาตินั่นเอง

อุตสาหกรรมที่ยังเป็นต้นเหตุของการสร้างมลพิษต้องคิดใหม่ ทำใหม่ วันนี้แม้สินค้ายังขายได้ แต่ใครจะรู้บ้างว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ในเมื่อกำลังมีความพยายามที่จะค้นคว้า วิจัยหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นมาแทนที่การใช้พลาสติกอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีหลายผลิตภัณฑ์ที่ทำสำเร็จแล้ว เพียงแต่ต้นทุนยังสูงเกินกว่าที่ผู้บริโภคบางกลุ่มจะรับไหว แต่เชื่อว่าอีกไม่นานปัญหานี้ต้องหมดไป เพราะกระแสความต้องการสูงมาก จากความตระหนักในพิษภัยของพลาสติก

การที่หลายประเทศมีนโยบายลดการใช้พลาสติกออกมาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นบังคลาเทศ ออสเตรเลีย ไต้หวัน ฯลฯ เป็นสัญญาณบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า ถ้าวันนี้อุตสาหกรรมพลาสติกไม่คิดใหม่ ทำใหม่ โอกาสที่จะสูญหายไปจากตลาดเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ผลิตภัณฑ์ระดับตำนานอย่างกล้องโพลารอยด์ เป็นเรื่องสอนใจที่ดี 50 ปีของความสำเร็จของนวัตกรรมนี้ทำให้ผู้บริหารคิดว่ามันคงจะอยู่ยั้งยืนยง จึงไม่คิดจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอะไรเลย แม้ว่าจะมีผู้เสนอแนะอย่างไรก็ตาม

Josh Linkner  ผู้เขียน The Road to Reinvention นำเสนอให้องค์กรทุกองค์กรสร้างคนสายพันธุ์ใหม่ที่จะต้องปลูกฝังแนวคิด Reinvention เข้าไปในคนเหล่านี้ให้ได้

การทำ CSR วันนี้ก็เช่นกัน ถึงเวลาที่ต้อง Reinvention แล้ว เพราะเห็นได้ว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้ดีขึ้น ถ้าเป็นคนก็ต้องบอกว่าเป็นอาการของโรคเรื้อรังที่กำลังจะเข้าขั้นโคม่าอีกไม่ช้า

แต่ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ นายทุนระดับชาติก็ยังไม่มีการเปลี่ยนความคิดแต่อย่างใด องค์กรเหล่านี้มีกิจกรรม CSR อย่างต่อเนื่อง เท่าๆ กับการเป็นจำเลยในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดเวลาเช่นกัน ไม่ว่าจะหยิบปัญหาใดขึ้นมา เพราะวันนี้สังคมไทยยังพยายามแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรอมชอม และยังเข้าข่ายไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเราจะรอจนไม่มีโอกาสแม้แต่จะหลั่งน้ำตา หรือจะคิดได้ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ปัญหาด้วย Reinvention

ที่มา: คอลัมน์ Productivity Food for Thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น