4 January 2016

human


“คนทุกคนปรารถนาจะมีชีวิตที่ดีกว่า และคนทุกคนมีศักยภาพที่ไม่มีขีดจำกัด หากมองเห็นโอกาส การพัฒนาศักยภาพที่ซ่อนอยู่”

Human centered Productivity เป็นแนวคิดที่มีเป้าหมายให้คนทุ่มเทศักยภาพและจิตใจในการทำงานเพื่อสร้างสรรค์องค์กร ซึ่งเป็นที่มาของนวัตกรรม โดย Dr. Choi Dong –Kyu  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์เพิ่มผลิตภาพแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เป็นผู้เชี่ยวชาญที่เริ่มศึกษาองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมในประเทศเกาหลี  โดยเชื่อว่าคนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนวงจรนวัตกรรม เพราะโลกในอนาคตกำลังเผชิญกับความท้าทายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากร การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ความไม่มีเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจของโลก เป็นต้น  ความท้าทายเหล่านี้ทำให้โลกต้องการผลิตภาพ เพราะโลกมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นคำว่า “ผลิตภาพ (Productivity)” ในแนวคิดของ Dr. Choi Dong –Kyu    จึงไม่ได้มองแค่เพียงระดับองค์กร แต่จะต้องคำนึงถึงในระดับประเทศ และระดับโลกด้วย เพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่คนรุ่นต่อไปในอนาคต

แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้คนบรรลุถึงจุดที่จะดึงเอาศักยภาพออกมาใช้อย่างเต็มที่

คนทุกคนมีทัศนคติ มีความคิด มีความสามารถที่ส่งผลต่อการทำงาน จึงทำให้คนบางคนสามารถสร้างนวัตกรรมชั้นเยี่ยมได้ จากความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่  ในขณะที่บางคนไม่สามารถทำได้ หรือบางคนมีความสามารถแต่ไม่อยากทำ ทั้งที่อยู่ในองค์กรเดียวกัน

ในแนวคิดของ Human centered Productivity มีความเชื่อในทฤษฎีของ  Maslow ที่ว่าองค์กรต้องบ่มเพาะคนให้อยู่ในระดับสูงสุดของความต้องการ นั่นคือการเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง คนกลุ่มนั้นจะทุ่มเทให้กับองค์กรอย่างเต็มที่ ซึ่งการบ่มเพาะความต้องการนี้ มีปัจจัยสำคัญก็คือการสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นกับคนในองค์กร

ในรายงาน Gallup’s 2013 “State of the Global Workplace” ซึ่งได้ทำการสำรวจความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรของพนักงาน (Employee Engagement) ทั่วโลกจาก 140 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย กับพนักงานกว่า 150,000 ราย ผลปรากฏว่ามีพนักงานเพียง 13% เท่านั้นที่รู้สึกรักและผูกพันต่อองค์กร อีก 63% บอกว่าไม่ผูกพันกับองค์กร และมีถึง 24% ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าพนักงานไม่รู้สึกรักองค์กรที่ทำงานอยู่เลย ด้วยเหตุผลว่าพวกเขาไม่มีความสุขในการทำงาน และมีทัศนคติที่ไม่ดีกับองค์กร และยังเผยแพร่ความคิดแง่ลบให้กับพนักงานคนอื่นๆในที่ทำงานอีกด้วย

Dr. Choi Dong –Kyu    จึงได้ทำการศึกษาองค์กรต่างๆ  และได้สรุป 5 ปัจจัยหลักที่ช่วยบ่มเพาะให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ และนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิด Human centered Productivity ซึ่งก็คือปัจจัยในการสร้างความผูกพันที่ตอบสนองความต้องการตามทฤษฎีของ  Maslow นั่นเอง ปัจจัยที่หนึ่ง คือความมั่นคงในการทำงานและการได้รับค่าจ้างเพิ่ม ซึ่งทำให้คนเลือกที่จะอยู่กับองค์กรที่มีชื่อเสียงและความมั่นคงเป็นอันดับแรก ปัจจัยที่สอง คือการจัดสรรประโยชน์อย่างเป็นธรรม ด้วย ระบบการประเมินผลและข้อตกลงในการจัดสรรค่าตอบแทน ซึ่งทำให้คนที่ทุ่มเทได้รับผลประโยชน์ ส่วนคนที่ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ หรือทำงานแบบเช้าชาม เย็นชามก็ไม่ควรได้รับ ระบบการประเมินผลและการพิจารณานั้นต้องมีโปร่งใส และสร้างการยอมรับทั่วทั้งองค์กร เพราะส่งผลต่อขวัญและกำลังใจโดยตรง

ปัจจัยที่สาม คือความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นระหว่างผู้บริหารและพนักงาน ปัจจัยข้อนี้มีความสำคัญมาก ความเชื่อมั่น ศรัทธาในผู้บริหารจะทำให้พนักงานทุ่มเท เสียสละให้การทำงาน บทบาทของผู้บริหารคือผู้ที่กำหนดทิศทางที่ชัดเจน และเป็นลมใต้ปีกที่จะนำพาคนในองค์กรไปสู่เป้าหมาย ปัจจัยทั้ง 3 ประการข้างต้น เป็นพื้นฐานที่ทำให้คนมีความรู้สึกที่ดี มีความมั่นใจต่อการทำงานในองค์กร ตอบสนองความต้องการพื้นฐานในทฤษฎี 3 ขั้นแรกของ Maslow คือ ความต้องการทางร่างกาย ความต้องการความปลอดภัย และความต้องการทางสังคม

ปัจจัยที่ 4 คือการให้อิสระทางความคิดและการตัดสินใจ ซึ่งจะทำให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจและรู้สึกเป็นเจ้าของที่จะมาพร้อมกับความรับผิดชอบ อยากเห็นผลสำเร็จ ตอบสนองความต้องการขั้นที่ 4 ของ Maslow คือความต้องการมีเกียรติยศชื่อเสียง และปัจจัยสุดท้าย คือความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยการต่อยอดจากปัจจัยที่ 4 ตอบสนองต่อความต้องการที่จะเป็นผู้มีความสามารถสูง ซึ่งเป็นความต้องการระดับสูงสุด ดังนั้นผู้บริหารต้องสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรให้เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่เรื่องทางกายภาพ แต่ต้องเป็นการสร้างความรู้สึกอยากเรียนรู้ กล้าคิด กล้าทำในสิ่งใหม่ๆ กิจกรรมข้อเสนอแนะที่หลายองค์กรทำอยู่ก็เป็นแนวทางเบื้องต้นที่ดี และจะดียิ่งขึ้นถ้าความคิดดีๆ ของพนักงานได้รับการนำไปปฏิบัติจริง ทำให้พนักงานมีความภาคภูมิใจและอยากที่จะสร้างสรรค์เพื่อองค์กรมากยิ่งขึ้น

เมื่อพูดถึงการสร้างนวัตกรรม หลายคนมักคิดไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นลำดับแรก ซึ่งอาจหลงลืมไปว่าเทคโนโลยีทั้งหลายนั้นมีคนเป็นผู้คิดค้นขึ้นมา ฉะนั้นการทำให้คนมีความสามารถในการสร้างสรรค์นั้นจึงเป็นโจทย์ที่ต้องตีให้แตกสำหรับผู้บริหารองค์กร และผู้บริหารประเทศ

แนวทางของ Human centered Productivity ให้ความสำคัญที่คนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง  โดยทำให้คนทุ่มเทศักยภาพและจิตใจ ทำงานด้วยความรู้สึกอยากทำและเต็มใจที่จะทำ จนถึงขั้นเป็นความปรารถนาที่จะทำ (Passion) เช่นเดียวกับนักสร้างนวัตกรรมระดับตำนานทุกคนในโลกนี้

ด้วยความเชื่อในศักยภาพของคน ซึ่งต้องมาพร้อมกับการเคารพในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันด้วย การสร้างสรรค์จึงจะบังเกิดขึ้น

ขอบคุณแหล่งข้อมูล “พัฒนาคนอย่างไรให้สรรค์สร้างนวัตกรรมแก่องค์กร” โดยดุจดาว ดวงเด่น วิทยากรที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันเพิ่มผลิตแห่งชาติ

 

ที่มา: คอลัมน์ “Productivity food for thought” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น