21 December 2016

sci2

มนุษย์กำลังเข้าสู่ยุคแห่งการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่แตกต่างไปจากในอดีต จนนำมาซึ่งการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากร หรือแม้กระทั่งความโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจซึ่งผูกติดกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้งเชื่อมโยงเข้าสู่ชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ช่วยให้องค์กรสามารถลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรต่างๆ ลงได้ ประเด็นเรื่องความยั่งยืนจึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถปรับตัวต่อสภาพการณ์ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง

มุ่งสู่ “ความยั่งยืน” ก้าวสำคัญแห่งอนาคต

จากพลวัตรความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นำไปสู่การเกิดเทรนด์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นกระแสการจัดทํารายงานความยั่งยืนสำหรับผู้บริหารองค์กร เพื่อรายงานผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกเหนือจากผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ หรือบทบาทที่เพิ่มขึ้นของผู้บริหารระดับสูงในการร่วมสร้างความยั่งยืน กฎหมายใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือความตระหนักขององค์กรต่าง ๆ ที่มองเห็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจํากัดในการดําเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงกระแสการจัดลำดับของบรรดาองค์กรชั้นนำ ที่มุ่งเน้นให้องค์กรของตนเองมุ่งสู่ความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้บรรดาองค์กรทั้งหลายหันมาให้ความสำคัญในการเลือกนำแนวทางการสร้างความยั่งยืนมาปรับใช้ในองค์กรเพื่อเป้าหมายแห่งความสำเร็จในอนาคต

“ความยั่งยืน” จึงเป็นการทำให้องค์กรเกิดความสมดุลทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม (Triple Bottom Line) ไม่มุ่งเน้นเพียงแต่ด้านใดด้านเดียว ต่อมาองค์การสหประชาชาติยังได้มีการเพิ่มคำว่า Partnership และ Peace เพื่อให้ครอบคลุมในเรื่องความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และยังได้กำหนด Sustainable Development Goals จำนวน 17 ข้อให้องค์กรทั้งหลายผลักดันไปใช้เป็นพันธกิจขององค์กร นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนต่อไปอีกด้วย

แนวทางไปสู่ความยั่งยืนนั้นจะช่วยให้องค์กรสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ถือเป็นการลดการใช้ทรัพยากร และเพิ่มรายได้ ส่วนในมิติของการดำเนินงาน การผลักดันให้องค์กรมีเป้าหมายไปสู่ความยั่งยืนจะก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในภาคธุรกิจที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ เพิ่มผลิตภาพขององค์กรและเกิดการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร รวมทั้งสร้างแนวคิดการเรียนรู้และปรับปรุงให้เกิดขึ้นในองค์กรอีกด้วย

Sustainable Corporation Index: SCI คืออะไร?

เมื่อพูดถึงความยั่งยืนแล้ว คงหนีไม่พ้นการวัดว่าองค์กรของเราอยู่ในจุดไหน ซึ่งระดับการพัฒนาการด้านความยั่งยืนแบ่งออกได้เป็น 2 เครื่องมือวัด ได้แก่ ดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ DJSI (Dow Jones Sustainability Indexces) และ CERES Roadmap to Sustainability หรือที่เรียกว่าแนวทางการประเมินสู่ความเป็นเลิศ เพื่อการดําเนินการอย่างยั่งยืน (Sustainable Corporation Index: SCI) ที่มุ่งเน้นการจัดทำเกณฑ์ประเมินเพื่อให้องค์กรไปสู่ความยั่งยืน โดยแบ่งออกเป็น Tier ต่าง ๆ เพื่อให้ทราบว่าอยู่องค์กรอยู่ในระดับใด และจะก้าวต่อไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร ซึ่งเกณฑ์จะมีอยู่ด้วยกัน 4 Pillars และ 20 Expectations หรือเกณฑ์การประเมิน 20 ข้อ

หัวข้อหลักทั้ง 4 ข้อ (4 Pillars) ที่ใช้เป็นเกณฑ์การประเมิน ประกอบด้วย Governance for Sustainability โครงสร้างการบริหารจัดการและกระบวนการกําหนดกลยุทธ์และเป้าหมายต้องมีการบูรณาการกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นความเป็นธรรมและความโปร่งใส, Stakeholder Engagement การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในเชิงรุก เพื่อประเมินความสําคัญของเป้าหมายและความมีประสิทธิผลของกลยุทธ์, Disclosure การเปิดเผยข้อมูลความรับผิดชอบด้านความยั่งยืน และ Performance การวัดความก้าวหน้าในการดําเนินการด้านความยั่งยืนขององค์กร

 

“เสริมสุข” และ “ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช” นำทัพองค์กรตัวอย่างในการสร้างความยั่งยืน

บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ถือเป็นตัวอย่างขององค์กรที่กำลังก้าวไปสู่ความยั่งยืนด้วยการเข้าร่วมโครงการพัฒนาองค์กรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (Roadmap for Organizational Sustainability Growth) กับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเมื่อปีที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพขององค์กร โดยนำเกณฑ์จากแนวทางการประเมินสู่ความเป็นเลิศเพื่อการดําเนินการอย่างยั่งยืน มาใช้กำหนดประเด็นเพื่อการปรับปรุงองค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

“เสริมสุข” ต่อยอดไปสู่ความยั่งยืนด้วยการนำแนวทางการประเมินสู่ความเป็นเลิศมาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์กร คุณโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจต่อเนื่องได้กล่าวว่า “ในปี 2555 เสริมสุขเข้าร่วมเป็นบริษัทในเครือของบริษัทไทยเบฟ ต่อมาในปี 2558 บริษัทไทยเบฟมีนโยบายดำเนินการเรื่องความยั่งยืนที่จะต้องได้รับการรับรองจาก DJSI (Dow Jones Sustainability Indexces) ทางเสริมสุขก็เป็นส่วนหนึ่งในการนำเอาข้อมูลไปรวมเพื่อใช้วัดคะแนนด้วย คณะทำงานของเสริมสุขจึงได้ยกเอาปัญหาต่าง ๆ มาร่วมพูดคุยเพื่อหาจุดอ่อน นำไปสู่การปรับปรุงองค์กรให้ตอบโจทย์กับความยั่งยืน และได้เข้ารับการตรวจประเมิน Sustainable Corporation Index กับทางสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเมื่อปีที่ผ่านมา จึงพบว่าเสริมสุขยังอยู่ใน Tier 3 และ 4 ทั้งที่มีนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการรักษาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ดังเช่นโยบายเสริมสุข Green Dimension เพื่อลดการใช้พลังงานและผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เมื่อองค์กรได้เข้าร่วมโครงการแล้ว ก็สามารถปิดช่องว่าง (Gap) ที่เกิดขึ้นได้หลายจุด เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต”

ส่วน คุณอดุลย์ เปรมประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันพืชตรากุ๊ก กล่าวถึงการวางแนวทางไปสู่ความยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจ ด้วยธุรกิจขององค์กรจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน ถ้าสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่ได้ องค์กรก็อยู่ไม่ได้ รวมทั้งยังมีการพัฒนาเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ และต้องมีกำไรเพื่อคืนสู่สังคม พนักงานในองค์กร ชุมชนและผู้ถือหุ้นหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร

ก่อนที่เราจะไปทำการประเมิน SCI องค์กรได้เข้าร่วมโครงการนำร่องต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร ถือเป็น Roadmap ที่เราต้องวางไว้โดยบริษัทปูพื้นฐานการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด นำไปสู่การพัฒนากระบวนการทำงานของตัวเองและการผลิตอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่องค์กรอยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตร จึงต้องมีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา และพันธกิจที่สำคัญคือ ความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกขององค์กร ซึ่งกว่าจะได้ออกมาเป็นเป้าหมายและพันธกิจขององค์กรที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น เราต้องไปวิเคราะห์องค์กรและธุรกิจของเราเสียก่อน ดังที่องค์กรได้ทำมาโดยตลอดนั่นเอง

 




Writer