13 December 2015

hope

เมื่อย่างเข้าสู่ปีใหม่ หลายคนเลือกวิธีนับถอยหลังร่วมกับครอบครัว ณ สถานที่สำคัญๆด้วยความสนุกสนาน ขณะที่หลายคนเลือกนั่งสวดมนต์ข้ามปีด้วยความสงบ หรืออีกหลายคนเลือกทำงานเพื่อให้ความสุขแก่คนอื่นๆ แต่ทุกคนล้วนปฏิบัติด้วยมี ความหวัง อยากให้การดำเนินชีวิตในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ได้พบเจอเรื่องดีๆ จึงเลือกเริ่มต้นทำในสิ่งที่มีคุณค่าทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง ความหวังจึงเป็นพลังด้านบวกที่กระตุ้นจิตวิญญาณของทุกคนให้กระตือรือร้น กระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง และมุ่งมั่นดำเนินชีวิตต่อไปจนกว่าจะบรรลุในสิ่งที่คาดหวัง ซึ่งไม่ “สูง” เกินกว่าที่ตัวเองจะทำได้ และต้องไม่พึ่งพาผู้อื่นหรือขึ้นกับโชคชะตา ไม่เช่นนั้น “สิ่งที่คาดหวังอยากทำให้เกิดขึ้นในปีนี้ ก็จะเป็นความหวังในปีถัดไปอยู่เสมอ

เนื่องด้วย ความหวังคือความรู้สึกเชื่อว่าสิ่งที่ปราถนาจะเป็นไปได้จริงในอนาคต ซึ่งหลายคนเชื่อโดยปราศจากการพิจารณาเหตุผลของความเป็นไปได้ ทำให้คนเหล่านั้นมัก หวังน้ำบ่อหน้า หรือ “รอโอกาส” โดยไม่พยายามขวนขวายหาหนทาง และเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ จนเมื่อ “สูญเสียหรือไม่สามารถฉวยโอกาส” นั้นได้ ก็จะเกิดพลังด้านลบจากความรู้สึกสิ้นหวัง เข้ามาบั่นทอนกำลังใจ ขาดความมุ่งมั่น จนกลายเป็นคนไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หากทุกคนเชื่อโดยเข้าใจและยอมรับในความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ได้รับในสิ่งที่ต้องการ ทุกคนก็จะฟื้นกลับสู่สภาวะปกติได้ในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยพลังจากความหวังใหม่ อย่างที่หลายคนเชื่อว่า “วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้” แต่ต้องไม่ลืมว่า “ถ้าวันพรุ่งนี้ไม่มี สิ่งที่ปรารถนาก็คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง”

ทุกสิ้นปีหลายบริษัทได้แสดงน้ำใจตอบแทนความทุ่มเทของพนักงานด้วยการมอบเงินโบนัส แม้ไม่ใช่เงินจำนวนมากมายนัก แต่พนักงานทุกคนก็คาดหวังที่จะได้รับในปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งพนักงานก็ต้องรู้ว่าสัดส่วนของเงินโบนัสขึ้นกับผลประกอบการ ที่มาจากยอดขายตามปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง โดยพนักงานทุกคนมีส่วนช่วยด้วยการลดความสูญเสียในขั้นตอนต่างๆ พยายามประหยัดการใช้พลังงาน ผลิตสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือต้องช่วยกันคิดหาแนวทางปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า หากทุกคนพยายามช่วยกันหาหนทางที่จะทำให้ได้ผลประกอบการที่สูงขึ้น “ความหวังก็จะไม่ลมๆแล้งๆ” อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ หรือการเมือง ก็อาจทำให้ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งหากพนักงานทุกคนเข้าใจและยอมรับในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ก็จะยังคงทำงานด้วยความมุ่งมั่นต่อไป ด้วยความหวังว่า “เหตุการณ์ในปีหน้าจะเป็นใจให้โบนัสเพิ่มขึ้น”

“หลายคนเราดำเนินชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยมีความหวัง” ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ผู้คนมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำให้เป้าหมายเป็นจริง ด้วยการให้คำปรึกษาชี้แนะ ว่าควรเพิ่มหรือแก้ไขเรื่องใด อย่างไร แล้วส่งเสริมให้ตรงจุด เพื่อกระตุ้นให้เห็นแสงสว่างที่ปลายทางอุโมงค์อย่างชัดเจน เช่น หัวหน้างานต้องแนะนำพนักงานในเรื่องที่ควรปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ผลการทำงานดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนอย่างที่พนักงานคาดหวัง นอกจากนี้ยังต้องเข้าใจความคาดหวังที่แท้จริง หรือความคาดหวังลึกๆ ด้วยการโค้ชผู้คนให้ “คิดบวก” จนมองเห็นช่องทางที่สามารถสร้างโอกาส และต้องเพิ่ม “ความเชื่อมั่น” ศรัทธาในแนวทางที่เลือก เพื่อช่วยกระตุ้นความกระตือรือร้นให้ยังพลุ่งพล่าน “เต็มเปี่ยมด้วยความหวัง” จะตอบสนองความปราถนาที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เช่น พนักงานมีความคาดหวังรายได้เพิ่มขึ้น แต่ด้วยระบบการพิจารณาการปรับขึ้นเงินเดือนทำให้พนักงานเกิดความท้อแท้ ทั้งๆที่ความมุ่งหวังที่แท้จริงคือการนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปใช้จ่ายในเรื่องการรักษาพยาบาลคนในครอบครัว ซึ่งหากองค์เข้าใจความปราถนาที่ซ่อนอยู่นี้ก็จะหาแนวทางจัดการสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมถึงครอบครัวก็จะช่วยให้พนักงานยังรู้สึกว่ามีโอกาสที่จะจัดการเรื่องที่เขาต้องการ และก็จะเกิดกำลังใจที่จะทำงานต่อไป

“หลายคนดำเนินชีวิตไปพร้อมแบกความหวัง” ของคนรอบข้าง แม้ดูเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสที่ยังต้องรับผิดชอบนำพาผู้อื่นไปสู่เป้าหมายที่ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองปราถนา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้หากเราพิจารณาศักยภาพตัวเอง รวมถึงรู้จักประเมินสถานการณ์ และสื่อสารให้เจ้าของความหวังเข้าใจและยอมรับ การแบกรับความหวังจะไม่บรรทอนแรงกาย แรงใจ และกำลังความคิด เช่น ที่ท่านผู้นำต้องทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ทั้งๆที่เพิ่งเข้ามาทำงาน ท่านก็ต้องคิดว่าเราต้องเรียนรู้อะไรบ้าง มีเรื่องใดบ้างที่ยังต้องแก้ไข แล้วค่อยปรับที่ละเล็กที่ละน้อย และต้องสื่อสารสร้างให้ประชาชนความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ที่อาจส่งผลให้ค่าครองชีพต่างจากที่มุ่งหวัง

จะเห็นว่า ความหวัง เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพบุคคล ให้มีสมรรถนะสูงขึ้นในการประยุกต์องค์ความรู้ให้เหมาะกับการดำเนินงาน และดึงศักยภาพจากภายในด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับอุปสรรคหรือโอกาส ให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด ดังนั้น เมื่อบุคคล “สมหวัง” ในสิ่งที่ทั้งตนเองและผู้อื่นปราถนา บุคคลนั้นก็จะยกระดับสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ที่สามารถจัดการทั้งตัวเอง คนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างดีเยี่ยม โดยจะไม่รู้สึกว่า “ความผิดหวัง” เป็นเรื่องสำคัญจนทำให้เราไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้ ตรงกันข้ามกลับทำให้เราสร้าง “ความหวังใหม่” ที่ท้าทายให้เรามุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมายอีกครั้งอย่างไม่ยอมแพ้ เช่นเดียวกับผู้เขียนที่มีความหวังได้สร้างสรรค์เรื่องราวดีๆที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่าน ทำให้ทุกบทความถูกบรรจงเขียนด้วย “ความหวัง” ที่จะช่วยผู้อ่านให้ได้รับแนวคิดและมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างดี

ที่มา: คอลัมน์ Productivity food for thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ