29 October 2015

STEEP-Siriporn-How to equip-01

ในช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน รวมทั้งภาคธุรกิจ ซึ่ง Michael Gryseels และ Jacques Bughin ได้เขียนบทความถึงแนวทางการจัดการองค์กรในยุคที่กำลังจะก้าวสู่ยุคแห่งดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการตลาดและเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมออนไลน์มาเป็น Big Data ซึ่งการปฏิวิติด้านดิจิทัลนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1. ดิจิทัลสามารถสร้างบริษัทขนาดใหญ่ได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่น Baidu, Facebook, Google และ Tencent มูลค่าทางการตลาดของ 20 บริษัทอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งส่วนใหญ่อายุกิจการไม่เกิน 15 ปี เท่ากับ 25% หรือ หนึ่งในสี่ของ 20 บริษัทขนาดใหญ่ของโลกเมื่อเปรียบเทียบเชิงรายได้ โดยบางบริษัทในที่นี้มีอายุมากกว่า 100 ปี

2. ดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ทำให้บางธุรกิจต้องเลิกกิจการไป ตั้งแต่ธุรกิจเพลงจนถึงยานยนต์

3. ดิจิทัลทำให้ลูกค้ามีพลังเรียกร้องมหาศาล โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเอเชีย ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 ของลูกค้าด้านบริการทางการเงิน กล่าวว่า “การสำรวจทางออนไลน์มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการผลิตภัณฑ์ของธนาคารที่มีความแตกต่างกัน”

สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมาข้างต้นได้เกิดขึ้นแล้ว แนวโน้มต่อไปจะเกิดการกำจัดธุรกิจที่ไม่ทันกับความต้องการลูกค้าเพิ่มมากขึ้น องค์กรต้องมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จาก Big Data ที่สามารถสนับสนุนให้เครื่องจักรกำหนดชุดคำสั่งที่ช่วยให้เกิดการจัดการด้านพลังงานตามความต้องการหรือการเรียกร้องให้ดูแลสิ่งแวดล้อมของลูกค้าได้ นอกจากนี้ ยังมีระบบอัตโนมัติที่ชาญฉลาดอันเป็นผลกระทบจาก Internet of Thing และความฉลาดด้านดิจิทัลเสมือนจริง (Digital Artificial Intelligence) ก็เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

เอเชียเป็นแถวหน้าของการพัฒนาด้านดิจิตอล จากรายงานของ World Economic Forum’s Global Information Technology Report 2015 ระบุว่า ธุรกิจของประเทศจีน อาทิ Tencent และ Baidu ได้กลายเป็นบริษัทชั้นนำด้านอินเทอร์เน็ตของโลก ท่ามกลางนักนวัตกรรมที่สร้าง Application ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันอย่าง Grab Taxi โดยเสนอตำแหน่งของรถแท็กซี่บนสมาร์ทโฟนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Codepay ที่เสนอบริการด้านการจ่ายงานผ่านระบบดิจิทัลซึ่งสามารถใช้ได้ในประเทศที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน และ Samsung จากประเทศเกาหลีใต้ ที่พัฒนา Samsung Smart Driving สำหรับชุดการวิเคราะห์เครื่องยนต์และการบำรุงดูแลรักษา

แต่กระนั้น หลายบริษัทในเอเชียและภูมิภาคอื่นก็มีความพยายามในการต่อสู้เพื่อจะปรับตัวเองต่อการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน เมื่อบริษัทตัดสินใจลงทุนในดิจิทัล ส่วนใหญ่จะทำเพียงเพิ่มเติมในระบบการบริหารจัดการองค์กรเท่านั้น แต่ไม่ได้มองถึงพลังของดิจิทัลที่จะปรับเปลี่ยนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจขององค์กร องค์กรต้องใช้พลังของดิจิทัลทำให้เกิดการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่ทำสร้างคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้นในวันนี้และในอนาคตให้ได้

เพื่อที่จะให้องค์กรต่าง ๆ เข้าใจว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงข้างต้น McKinsey ได้พัฒนา Digital Quotient (DQ) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินจุดอ่อนและจุดแข็งด้านดิจิทัล DQ ได้กำหนด 18 วิธีการฎิบัติที่ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ วัฒนธรรมองค์กร กลยุทธ์ ความสามารถ และบริบทองค์กร ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลการดำเนินงานด้านการเงินในอนาคตหากองค์กรไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัล

ผลจากการประเมินพบว่ากลุ่มตัวอย่างของบริษัทที่มีคะแนน DQ สูงจะมีผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นสูงเป็น 3 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่มีคะแนน DQ ต่ำ และอัตราการเติบโตของรายได้ (Compound Annual Growth Rate) จะมากกว่าเป็น 5 เท่า บริษัทที่มีผลประกอบการที่ดี่ที่สุดจะมีคะแนนในด้าน 4 ด้านขอ DQ สูงด้วยเช่นกัน McKinsey แบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เป็น Superstar หมายถึง บริษัทที่ทำได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับต่างธุรกิจ Digital Souls หมายถึง บริษัทบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่สามารถผลักดันให้เกิดความสามารถขององค์กรด้านดิจิทัล และ Digital Hands หมายถึง บริษัทที่มีความสามารถที่สามารถเอาชนะวัฒนธรรมดิจิทัลที่องค์กรไม่มี อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ บริษัทที่มีคะแนน DQ สูงจะมีวัฒนธรรมที่สนับสนุนในเรื่องของการยอมรับความเสี่ยงด้วย แนวคิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มักจะมีการทำ prototypes และส่งให้ลูกค้าจำนวนหนึ่งทดสอบเพื่อรับผลตอบรับและข้อเสนอแนะก่อนจะนำออกสู่ตลาด

สำหรับปัจจัยด้านคุณภาพที่มีความสำคัญต่อการที่บริษัทจะได้คะแนน DQ สูงยังเป็นเรื่องของ Commitment ของผู้บริหารระดับสูง นอกจากแนวคิดของผู้บริหารต่อเรื่องดังกล่าว การส่งเสริมให้พนักงานมีความสามารถในเรื่องที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ แล้วการสร้างโครงสร้างและบรรยากาศในการทำงานที่เอื้อก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน หลาย ๆ องค์กรชั้นนำส่วนใหญ่จะมีการกำหนดแผนงานในเรื่องของดิจิทัลและกำหนดงบประมาณสนับสนุนอย่างชัดเจน

นอกจากปัจจัยภายในดังกล่าว การใช้ดิจิทัลเชื่อมถึงลูกค้าเพื่อสร้างบริการและประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายผ่านช่องทางต่าง ๆ ก็ยังเป็นความท้าทายอยู่ หรือแม้แต่องค์กรที่มีคะแนน DQ สูง ๆ จะค้นหาพนักงานที่มีความสามารถด้านดิจิทัลยังเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การวัดผลตอบแทนจากการลงทุนด้านดิจิทัลจึงยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทาย

หลายๆ องค์กรที่พยายามที่จะเป็นผู้นำด้านดิจิทัลอาจจะมีความหวาดกลัวอยู่ อย่างไรก็ตามมี 3 ขั้นตอนที่จะสร้างแรงผลักดันและผลประโยขน์ ดังนี้ 1. หาผลสรุปถึงทิศทางขององค์กรที่จะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและกำหนดสถานภาพและวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน 2. กำหนดแนวคิดตั้งต้นที่มีโอกาสการสร้างมูลค่าในอนาคต 3. ให้ความสำคัญและดำเนินการตามแนวคิดตั้งต้นในข้อ 2 อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญต้องสร้าง Commitment ให้เกิดขึ้นจริง

แหล่งที่มา : https://agenda.weforum.org/2015/04/how-to-equip-organisations-for-the-digital-era/




Writer

โดย ศิริพร เพชรคง

นักวิจัย ส่วนวิจัยการเพิ่มผลผลิต
ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ