23 July 2015

ThinkDifferent

อุตสาหกรรมสมัยใหม่ใช้แรงงานคนน้อยลงทุกขณะ ในขณะที่การส่งถ่ายงานระดับปฏิบัติการลงไปให้ซัพพลายเออร์ และคู่ค้าชั้นรองลงมากลายเป็นเรื่องปกติ อุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้ามาก ยิ่งทำการผลิตเองน้อยลง ในขณะที่หันมามุ่งความสนใจที่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น รายได้จากการประกอบอุตสาหกรรมยุคใหม่จึงมาจากสองส่วนหลักด้วยกันคือ การคิดสิ่งใหม่ และการปกป้องคุ้มครองนวัตกรรมนั้นด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จึงเห็นได้ว่า บริษัทข้ามชาติที่ใหญ่โตทั้งหลายนั้น ส่วนหนึ่งไม่ได้เติบโตยิ่งใหญ่ขึ้นมาเพราะมีสายการผลิตที่ใหญ่โตมโหฬาร แม้ว่าบางอุตสาหกรรมจะยังคงไม่ทอดทิ้งระบบสายการผลิตก็ตาม แต่ก็ให้คุณค่ามากกับการพัฒนาสายการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติแทนที่

ฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบนี้ทำให้โครงสร้างการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หากพิจารณาโดยผิวเผินอาจคิดได้ว่า บริษัทคงทำการปลดพนักงานออกจำนวนหนึ่งเพื่อที่จะได้นำเอาระบบการผลิตแบบอัตโนมัติมาทดแทน อันที่จริง บริษัทอาจปลดพนักงานที่ใช้แรงงานเข้มข้นออก แล้วแทนหน้าที่เดิมด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ ในขณะเดียวกันก็จ้างงานใหม่ในส่วนของแรงงานที่มีทักษะความรู้สูง หรือนักวิจัยและพัฒนา ดังนั้น ในภาพรวมบริษัทจึงอาจจ้างงานเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ

ตำแหน่งงานที่บริษัทนวัตกรรมปรารถนาและต่างแย่งชิงกันคือ นักพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ ในสมัยก่อนคนที่ทำหน้าที่ทำนองนี้ ถูกมองในสองแง่มุมด้วยกันคือ ถ้าหากไม่ใช่นักวิจัยในห้องปฎิบัติการ ก็คงเป็นนักการตลาดที่ทำหน้าที่ในฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเป็นอาชีพที่ก้ำกึ่งระหว่างการขายกับการวางกลยุทธ์

ปัจจุบัน คนกลุ่มนี้เรียกว่า “นักนวัตกรรม” หรือบางทีก็นิยมเรียกกันว่า “นวัตกร” สำหรับคำหลังนี้ มักจะใช้เรียกคนที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาด้วยตนเอง จึงเป็นคำที่ค่อนข้างผูกติดกับความเป็นปัจเจกบุคคลมากกว่าที่จะมองในแง่ของความเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร ผู้เขียนจึงขอเลือกที่จะใช้คำว่า “นักนวัตกรรม” เพื่ออธิบายในกรณีนี้แทน

นักนวัตกรที่ดี มักจะมีส่วนผสมระหว่างความสามารถเชิงเทคโนโลยี และความสามารถในด้านการตลาด ทั้งนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักเทคโนโลยีในตัวเอง เนื่องมาจากในปัจจุบัน การเข้าถึงเทคโนโลยีนั้นทำได้ง่าย และสะดวกสบายมากกว่าในอดีต ด้วยเหตุนี้ การมีมุมมองความเข้าใจต่อเรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในระดับที่เพียงพอกับการพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ ก็น่าจะเพียงพอกับการทำงานเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม

ในทำนองเดียวกัน การมีความสามารถในด้านการตลาด ก็มิได้หมายความว่า จะต้องมีความรู้ความเข้าใจหรือเรียนจบมาโดยตรงในเรื่องการตลาด ตรงกันข้าม ความสามารถนี้หมายถึง ความสามารถที่จะมองทะลุถึงความต้องการ ทิศทาง หรือแนวโน้มของตลาดได้ จึงไม่ได้หมายความเฉพาะถึงนักการตลาดเท่านั้น

นอกจากนี้ นักนวัตกรรมที่ดี ควรมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องการเงินบ้างก็จะมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะการสร้างสรรค์สิ่งใหม่นั้น ต้องการการลงทุนใหม่ และการลงทุนใหม่ใดใดก็ตามในบริษัท จำเป็นที่จะต้องมีผลตอบแทนทางการเงินที่เหมาะสม น่าสนใจมากพอด้วย  ดังนั้น การที่นักนวัตกรรมสามารถอธิบายประเด็นนี้ต่อผู้บริหารได้อย่างชัดเจน ย่อมได้เปรียบในการนำเสนอ และจูงใจให้ฝ่ายบริหารอนุมัติงบประมาณและทรัพยากรเพื่อให้ทำโครงการนวัตกรรมที่เสนอมาได้

ผู้เขียนเห็นแนวโน้มที่ดีของอุตสาหกรรมไทยในเรื่องนี้ จากเมื่อสิบปีก่อน การทำนวัตกรรมมักเป็นเรื่องของบริษัทขนาดเล็ก หรือบริษัทเกิดใหม่เป็นหลัก

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ การเป็นบริษัทใหม่ มักจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มีก่อนหน้า และเผชิญกับคู่แข่งที่มีความสามารถมาก มีตลาดแน่นอน และส่วนใหญ่มีเงินทุนที่มากกว่า การจะแข่งขันในสนามแบบนี้ คู่แข่งที่ตกเป็นฝ่ายรองย่อมที่จะต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อเอาชนะ และหนึ่งในยุทธวิธีเพื่อเอาชัยในการแข่งขันก็คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรม

เมื่อมีนวัตกรรมหมายถึง สินค้าหรือบริการของบริษัทใหม่นั้น มีความแปลกใหม่กว่า อาจจะเป็นในแง่ของคุณภาพ คุณสมบัติ ราคา หรือมีความแตกต่างในเรื่องอื่นตั้งแต่เรื่องของฟังก์ชันการใช้งาน จนกระทั่งถึงเรื่องของดีไซน์

ดังนั้น ผู้บริโภคจึงยอมที่จะเปลี่ยนจากการใช้สินค้าหรือบริการของรายเดิม มาสู่สินค้าหรือบริการของบริษัทใหม่ การทำนวัตกรรมของบริษัทใหม่นั้นจึงส่งผลต่อการแข่งขันในขอบข่ายเช่นนี้ ส่วนเจ้าตลาดนั้น มักจะเลือกทำสิ่งที่เรียกว่า การปรับโมเดลหรือการปรับปรุงรูปแบบเพียงเล็กน้อยเป็นหลัก เนื่องจากเป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว เหตุผลความจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างนวัตกรรมจึงยังไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัด

เมื่อเวลาผ่านไป การแข่งขันได้เปลี่ยนรูปแบบปัจจุบัน ไม่ว่าบริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่ต่างต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมด้วยกันทั้งคู่ แน่นอนว่า ในเกมการลงทุนเช่นนี้ ผู้ที่มีเงินมากกว่าย่อมได้เปรียบกว่า แม้จะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีทุนที่มากกว่าทำให้มีโอกาสพลาดได้บ่อยกว่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งแล้ว คือ ย่อมสามารถทนทานกับความล้มเหลวได้มากกว่า

เนื่องจากการทำนวัตกรรมมีความเสี่ยงต่อความล้มเหลวในอัตราที่สูงมากทีเดียว ตามสถิติคือ 10:1 หรือ อัตรารอดที่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ดังนั้น ใครทนกว่ากันก็ได้เปรียบ แม้จะไม่แน่เสมอไป แต่โดยทั่วไปการมีทุน และการเข้าถึงทุน เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการทำนวัตกรรมประการหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อจำเป็นต้องลงทุนแล้ว บริษัทก็ควรเลือกบุคลากรที่เหมาะสมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า เสียทั้งเวลาและทรัพยากรอันจำกัด แต่ตรงกันข้าม การแสวงหาบุคลากรที่ต้องการเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น ยากเย็นยิ่งกว่าการสรรหาบุคลากรปกติหลายเท่า เนื่องจากคนที่สามารถชักนำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมได้นั้น เป็นกลุ่มคนที่มีบุคลิกพิเศษมาก กล่าวคือ มีทั้งความสามารถในการแสวงหาเทคโนโลยี และการประสานความแตกต่างเชิงเทคนิคให้เข้ากับแนวโน้มความต้องการของตลาดได้อย่างกลมกลืน ถ้าหากจะมองหาเพียงคนมาทำวิจัยและพัฒนาอย่างเดียว อาจจะพอหาได้ไม่ยากนัก เพราะการวิจัยขึ้นอยู่กับความชำนาญในแต่ละสาขาในเชิงลึก ส่วนการทำนวัตกรรมนั้น มองทั้งกว้างและแคบ แล้วยังสามารถประสานระหว่างความต้องการที่หลากหลายได้ดีอีกด้วย ปัจจุบันมีหลายสถาบันในประเทศไทยที่มีการฝึกนักศึกษาให้สามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมีระบบ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเรียนว่า เรื่องของนวัตกรรมนั้น ตามหลังระบบคุณภาพอยู่มาก บางทีอาจจะถึงยี่สิบปี

เพราะในแง่มุมวิชาการของระบบคุณภาพนั้น มีเครื่องมือหลายสิบเครื่องมือให้เลือกใช้ มีกูรู ผู้เชี่ยวชาญมากมายที่สามารถให้คำปรึกษาได้ นอกจากนั้น ยังมีตำราว่าด้วยระบบคุณภาพมากมายให้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในขณะที่เรื่องของนวัตกรรมนั้น แม้จะมีตำราว่าด้วยการนี้มากมาย แต่เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องในแง่มุมของการบริหาร หาใช่เครื่องมือที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ทฤษฎีที่ว่าด้วยการจัดการนวัตกรรมจึงมักไปหยิบยืมเอาแนวคิดของหลายสำนักมาเป็นของตน โดยมีเป้าหมายที่การพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่นั่นเอง

อาจจะกล่าวได้ว่า วงการศึกษาเรื่องนวัตกรรมยังล้าหลังระบบคุณภาพอยู่มาก หากมองโลกในแง่ดีคือ นี่เป็นอนาคต ยังมีที่ว่างอีกมากมายให้บริษัทสามารถพัฒนาได้อย่างอิสระ และไม่แน่ว่าอาจนำ ไปสู่การค้นพบแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละบริษัทเองก็ย่อมได้

ผู้เขียนเชื่อว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมในบริษัทคือ บุคลากร และหัวใจที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การจัดการนวัตกรรมของผู้นำองค์กร โดยผู้นำที่ว่านี้หมายถึง ผู้นำสูงสุดขององค์กร ไม่นับเบอร์สองเบอร์สาม
หรือรองลงมา

หากเบอร์หนึ่งให้ความสำคัญ และใส่ใจโดยจัดให้นวัตกรรมอยู่ในลำดับความสำคัญของการบริหารจัดการแล้ว งานนวัตกรรมจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและมีพลัง แม้ว่าในระยะแรกยังอาจไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม แต่การลงทุนนั้นจะสามารถส่งผลออกมาในรูปของการพัฒนาวัฒนธรรมนวัตกรรมขององค์กรได้อย่างมั่นคงความสำเร็จในเชิงการออกสินค้าหรือบริการใหม่ได้นั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ความสำเร็จในเชิงของการมีวัฒนธรรมที่บุคลากรสามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ร่วมมือกันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยกันนั้น เป็นเรื่องที่มีสาระสำคัญยิ่งไปกว่า เพราะสะท้อนถึงความยั่งยืนในความสามารถเชิงนวัตกรรมขององค์กรได้อย่างดี

“จากข้อมูลในการวิจัยของผู้เขียนพบว่า บริษัทส่วนใหญ่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ชิ้นต่อปี”

ผู้เขียนเคยทำการวิจัยกับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 100 บริษัท โดยจำแนกกลุ่มบริษัทเหล่านี้ด้วยเมตริกซ์ของความเป็นนวัตกรรม จากข้อมูลในการวิจัยของผู้เขียนพบว่า บริษัทส่วนใหญ่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ชิ้นต่อปี นั่นหมายความว่า บริษัทขนาดใหญ่นั้น จะพัฒนานวัตกรรมออกมาเฉลี่ย 6 เดือนครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นวงรอบของการพัฒนาที่เร็วมากพอดู หากเปรียบเทียบกับบริษัทขนาดเล็กที่มีทรัพยากรน้อยกว่า น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีอัตราการพัฒนาเป็นประการใด เสียดายที่ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อในหัวข้อนี้

เมื่อผู้เขียนได้ลองสัมภาษณ์บริษัทขนาดกลางแห่งหนึ่ง พบข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง บริษัทนี้มีขนาดกลางเมื่อเทียบในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่มีกลยุทธ์ของการทำนวัตกรรมที่ไม่แตกต่างออกไป ผู้เขียนขอสงวนนามบริษัทโดยขอใช้ชื่อสมมติว่าเป็นบริษัท ก.

บริษัท ก. ในปี พ.ศ. 2558 ว่าจ้างบุคลากรให้มาทำตำแหน่งนักวิจัยด้วยวุฒิปริญญาโทรวมกัน 12 คน และมีวุฒิปริญญาเอก 3 คน โดยคนที่จบปริญญาเอกนั้นไม่มีตำแหน่งประจำ แต่เป็นที่ปรึกษาที่มาจากมหาวิทยาลัย

ซึ่งในปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา บริษัท ก. มีการนำเอาผลงานวิจัยมากกว่า 200 เรื่องจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศมาทดลองในองค์กร แน่นอนว่า ในบรรดางานวิจัยเหล่านั้น คงเหลือเพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถ ต่อยอดพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมได้ทันที ส่วนใหญ่ต้องการเวลาและทรัพยากรเพื่อศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอีก

สิ่งที่บริษัท ก. ได้รับ จากการถ่ายทอดผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ตัวนวัตกรรมหากแต่เป็นองค์ความรู้พื้นฐานมากมายมหาศาล และวิธีการเรียนรู้ตรงนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถเร่งพัฒนาความสามารถในการทำนวัตกรรมให้เพิ่มขึ้นได้อีกเป็นทวีคูณ

อาจกล่าวได้ว่า บริษัท ก. เรียนลัดด้วยการเข้าถึงแหล่งความรู้ของยักษ์ ด้วยวิธีการลงทุนที่ต่ำมาก ลองคิดดูว่า ถ้าหากให้บริษัท ก. ต้องลงทุนเองเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานวิจัยจำนวน 200 เรื่องนั้น จะต้องใช้เวลา บุคลากร และงบประมาณมหาศาลขนาดไหน และแน่นอนว่า นั่นย่อมไม่ใช่ภารกิจหลักของบริษัท

ตรงกันข้าม การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาแม้จะมีต้นทุนของการซื้อสิทธิทางเทคโนโลยีบ้าง แต่ภายใต้บริบทของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และแนวทางการปฏิบัติของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วการถ่ายทอดสิทธิมักจะประกอบด้วยเงิน 2 ก้อน ก้อนแรกเป็นเงินที่บริษัทต้องจ่ายก่อนล่วงหน้าเพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยี อีกก้อนหนึ่งจ่ายเป็นอัตราค่ารอยัลตี้ ตามความสามารถในการผลิต ขึ้นกับยอดขาย ในกรณีที่บริษัทสามารถรับเอาเทคโนโลยีนั้นไปแล้วพัฒนาไปสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้จริง

Think2Success

ดังนั้น บริษัทจึงยังไม่ได้เสียเงินมากในตอนต้น หากแต่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ทันทีในต้นทุนที่ต่ำกว่าการลงทุนเพื่อแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง นอกจากนั้น การได้เครดิตว่ามีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยย่อมเป็นการยกระดับบริษัทขึ้นไปอีกขั้น เป็นความได้เปรียบในแง่ของภาพลักษณ์ซึ่งคู่แข่งอาจไม่มี หรือไม่สามารถไล่ตามได้

ผู้เขียนจึงสนับสนุนให้บริษัทเลือกที่จะพัฒนานวัตกรรมด้วยตัวเอง ควบคู่ไปกับการแสวงหาโอกาสการพัฒนาโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยใกล้เคียงก่อน แล้วจึงขยายความร่วมมือไปยังสถาบันอื่นภายหลัง แม้ว่าการเจรจาในช่วงแรกอาจมีประเด็นปัญหาบ้าง เนื่องจากแนวทางการปฏิบัติของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นแตกต่างกัน แต่เมื่อร่วมมือกันบ่อยครั้งเข้า บริษัทจะเข้าใจในกลไกของมหาวิทยาลัย และสามารถร่วมมือกันได้เป็นอย่างดี ในกรณีที่มีปัญหา ผู้เขียนยินดีที่จะให้คำแนะนำ และอาจช่วยประสานให้ได้ในบางกรณี

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากให้บริษัทมองการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรม เป็นหนทางหนึ่งของการทำธุรกิจซึ่งการลงทุนเช่นนี้ ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีประกอบ จะเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน แม้อาจไม่ประสบความสำเร็จในระดับโลก แต่ย่อมสามารถรับประกันความสำเร็จในระดับประเทศที่จะทำให้บริษัทสามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคง




Writer

โดย ปรีดา ยังสุขสถาพร

ผู้อำนวยการอาวุโส
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)