12 ตุลาคม 2021

Digital และ Data ฐานรากสำคัญ มุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0
[ตอนจบ]

โดย คุณจำลักษณ์  ขุนพลแก้ว
ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร

ในบทความครั้งที่แล้ว ได้กล่าวถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จที่เป็นฐานรากสำคัญ (Key platform) ขององค์กรยุคใหม่ได้เป็น 2D คือ Digital และ Data ซึ่งถือเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่อนาคตที่สดใสได้ ขาดตัวใดตัวหนึ่งไปหรือใช้มันไม่ได้อย่างมีประสิทธิผลก็ยากที่จะอยู่รอดและแข่งขันได้ในยุคนี้ และได้สรุปสาระสำคัญจากมุมมองผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 ไปแล้วบางส่วน ครั้งนี้จะมาเติมเต็มทัศนะอื่น ๆ เพิ่มเติมถึงพัฒนาการและการประยุกต์ใช้งานด้านธุรกิจ ตลอดจนการส่งเสริมสตาร์ทอัพให้เติบโตก้าวหน้า ดังนี้

Big Data Implementation of Industry 4.0 in Korea 

Mr. David Sehyeon Baek ผู้เชี่ยวชาญเกาหลีได้ยก 2 ประเด็นสําคัญเกี่ยวกับการดําเนินการเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ประเด็นแรก คือ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) และประเด็นที่สองคือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งเขาได้ถามผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาว่า “คุณจําได้ไหมว่าปีที่แล้วในวันนี้คุณกําลังทําอะไรอยู่” ซึ่งแน่นอนคงไม่มีผู้เข้าร่วมประชุมคนใดตอบได้ ใครจะไปนั่งจำ ยกเว้นว่าจดบันทึกไว้ แต่กระนั้นก็คงต้องไปเปิดย้อนดูอยู่ดี แต่คอมพิวเตอร์สามารถจดจําได้ และบอกเราได้ในทันทีที่เราต้องการรู้ ดังนั้น ถ้าเราอยากรู้อะไรแทนที่จะถามคน น่าจะไปถามคอมพิวเตอร์คงจะได้คําตอบที่ถูกต้องและรวดเร็วกว่า และแทนที่เราจะบอกให้คนช่วยจดบันทึกข้อมูล หรือจําเหตุการณ์ต่างๆ ให้เรา จะดีกว่าไหมถ้าเราจะบันทึกมันด้วยคอมพิวเตอร์ กรณีใกล้ตัวที่หลายคนใช้กันอยูในปัจจุบันก็คือการบนทึกเหตุการณ์น่าสนใจประจำวันของเราลงใน facebook ของเรา ไม่ว่าจะแชร์สาธารณะหรือบันทึกเป็นส่วนตัวก็ตาม ทุกบันทึกจะประทับวันเวลาไว้ วันดีคืนดีหวนบรรจบกลับมาใหม่ หน้าฟีดของ facebook ก็แสดงขึ้นมาให้เราเห็นเป็นการเตือนความจำ

ทุกวันนี้ทุกคนใช้ชีวิตและจับจ่ายซื้อของ ทําธุรกรรมทางการเงิน และกิจกรรมอีกมากมายในแต่ละวันผ่านคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ออกมาได้ ลองคิดดูว่าถ้าเราเข้าไปในโรงงานสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งมีคนทํางานอยู่น้อยมาก (แทบไม่เห็นใครเลย) เราจะพูดถึงผลิตภาพ (Productivity) ให้ใครฟัง ระบบการผลิตจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาไปอย่างไร หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คุณแบ็คได้นําเสนอวีดิโอของหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นโดย Boston Dynamics ซึ่งมีขีดความสามารถสูงมาก (สามารถเข้าไปดูรายละเอียดหุ่นยนต์รุ่นต่างๆ ได้ที่ https://www.bostondynamics.com/robots) อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเขายกมาให้เห็นคือการประยุกต์ใช้ในการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์และการรักษาคนป่วยผ่านระบบที่เรียกว่า IBM Watson Health Cloud for Life Science

สิ่งที่คุณแบ็ค ทิ้งท้ายไว้ก็คือถ้าคอมพิวเตอร์มีข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับเรา และถ้าใครก็ตามเข้าถึงมันได้ ก็ หมายความว่าเขาจะรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรา ดังนั้น ระบบการรักษาความปลอดภัยในระบบเปิด (Secure and Open Platform) จึงเป็นสิ่งที่สําคัญมากในยุคนี้ และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมยุโรปจึงมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (General Data Protection Regulation – GDPR) หรือในกรณีประเทศไทยก็คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 27 พ.ค. 2562 แม้จะมีการเลื่อนบังคับใช้มาหลายรอบ)

The Role of Incubators and Accelerators
in the 4th Industrial Revolution

Mr. David Sehyeon Baek ผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลี ยังได้นําเสนอในอีกหนึ่งหัวข้อ ซึ่งเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับนวัตกรรมและการเกิดขึ้นของธุรกิจสตาร์ทอัพในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ยุคที่คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไฝ่ฝันที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจมากกว่าจะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานกินเงินเดือน ที่เกาหลีคนรุ่นใหม่อยากจะสร้างธุรกิจใหม่ของตัวเอง ซึ่งน่าจะไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ รวมถึงไทยด้วย โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว แม้ว่าผลการจัดอันดับด้านนวัตกรรม (Bloomberg Innovation Index) จะยกให้เกาหลีเป็นอันดับ 1 ก็ตามแต่ไม่มีประเทศใดสมบูรณ์แบบ (No Country Perfect) เกาหลีเองก็มีหลายปัญหาที่ต้องแก้ไข ไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ได้แก่

  1. การปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 (The 4th Industry Revolution)
  2. อัตราการว่างงานที่สูง (High Unemployment Rate)
  3. สังคมผู้สูงวัย คนหลังวัยเกษียณเพิ่มจํานวนมากขึ้น (Aging society) คาดว่าปี 2050 จะสูงถึง 34.9%
  4. อัตราการเกิดใหม่ของเด็กทารกต่ำสุดในโลก (Lowest Birthrate in the World)
  5. วิกฤตในภาคการผลิต (Crisis in Manufacturing)
  6. การเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน (Rapidly Emerging China)

ดังนั้น จําเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วงชิงความเป็นผู้นำ (First mover) ต้องตามได้อย่างรวดเร็ว (Fast follower) และต้องไม่ยึดติดกับกรอบแนวคิดเดิม (Paradigm shift) ดูเหมือนว่าธุรกิจสตาร์ทอัพจะเป็นทางออก ดังนั้น จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยส่งเสริมและสนับสนุนที่ช่วยผลักดันให้เติบโตและแข็งแรงได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) ที่จะช่วยความคิดสร้างโอกาสและเปลี่ยนมันให้กลายเป็นสิ่งใหม่ให้ได้ และหน่วยเร่งเครื่องทางธุรกิจ (Accelerator) ที่จะช่วยระดมทุน จับคู่และเปิดช่องทางธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วขึ้น คุณแบ็ค ได้แสดงให้เห็นภาพบรรยากาศของหน่วยบ่มเพาะ และหน่วยเร่งเครื่องทางธุรกิจที่เขาทํางานอยู่ ซึ่งมีสถานที่และสิ่งอํานวยความสะดวกครบครันสําหรับใครก็ตามที่มีไอเดียและผลงานที่ต้องการต่อยอดทางธุรกิจ

What Drives Industry 4.0 ?
Insights from the Analyses of Japanese Companies
and High-Performance Manufacturing Companies

Emeritus Professor Michiya Morita ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ได้นําเสนอผลวิจัยที่ทําร่วมกับ Prof.Dr.Jörn Henrik Thun (Frankfurt School of Finance & Management) และ Prof. Jose A. D. Machuca (University of Seville) เพื่อค้นหาว่า อะไรที่เป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 และอะไรที่สร้างผลทวีคูณจากมัน จากการวิเคราะห์ข้อมูล การสํารวจบริษัทญี่ปุ่น และบริษัทด้านการผลิตที่มีสมรรถนะสูง ใน 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมยานยนต์ ในอันดับต้นๆ ของตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ทําการสัมภาษณ์ผู้บริหารที่รับผิดชอบทางด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน หรือทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2015 ถึง ธันวาคม 2015 ด้วยวิธีการสํารวจที่เรียกว่า Survey Monkey แบบ 5 สเกล (1 ต่ำสุด และ 5 สูงสุด)

จากผลวิจัยเขาสรุปว่าองค์กรจะมี 3 ลักษณะ คือ องค์กรที่ไม่ได้มุ่งเน้นอะไรเป็นการเฉพาะ (Less Focused) องค์กรมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development Focus ) หรือองค์กรมุ่งเน้นความสามารถการผลิตและการจัดส่ง (Supply Chain Focus) แต่สุดท้ายจะต้องมุ่งไปสู่องค์กรที่มีสมรรถนะสูง (High Performance Organization) จึงจะสามารถแข่งขันได้


Industry 3.5 as Hybrid Strategy for Emerging Countries:
Big Data Analytics and Decision Technologies
to empower Intelligent manufacturing

Chair Professor Dr. Chen-Fu Chen ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติซิงหัว เป็นผู้จุดประกายแนวคิดใหม่ในการกําหนดกลยุทธ์การผลิตให้กับประเทศอุตสาหกรรมใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องดําเนินการตามองค์ประกอบของ 4.0 ทั้งหมด เขาเชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุดสําหรับกลุ่มประเทศเกิดใหม่และได้ทดลองดําเนินการมาหลายบริษัทในไต้หวันจนประสบความสําเร็จเป็นอย่างดี ได้ตีพิมพ์ผลงานวิชาการและได้รับรางวัลผลงานดีเด่น สิ่งที่ ดร.เฉิน นําเสนอ คือ กลยุทธ์ผสม (Hybrid Strategy) แทนที่จะมุ่ง ไปสู่ระบบการผลิตอัตโนมัติที่ชาญฉลาดและใช้หุ่นยนต์เข้ามาทํางานแทนคน เขากลับให้สร้างระบบเพื่อเน้นวิเคราะห์และตัดสินใจจากข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อยกระดับศักยภาพในการผลิต หรืออาจเรียกว่าเป็นการขยายความสามารถในการผลิตด้วยซอฟท์แวร์และข้อมูล มากกว่าการลงทุนในฮาร์ดแวร์เป็นหลัก โดยสร้างศูนย์ปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อมลูเพื่อการตัดสินใจ (The Decision Analysis Laboratory) อาศัยความร่วมมือจากหลากหลายกลุ่มและเรียกแนวคิดนี้ว่าเป็นอุตสาหกรรม 3.5

ตัวอย่างของการจัดการข้อมูลเพื่อนํามาใช้ในการตัดสินใจ หรืออุตสาหกรรม 3.5 ที่มีการประยุกต์ใช้ในไต้หวันและประสบความสําเร็จอย่างดีนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยน่าศึกษาและนำมาปรับใช้ได้ เพราะประเทศไทยก็มีปัญหาในการปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องจักรอัตโนมัติ ระบบควบคุม หุ่นยนต์ อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เซ็นเซอร์ และฮาร์ดแวร์อีกมากมายหลายชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถออกแบบและผลิตได้เองในประเทศ ส่วนใหญ่จําเป็นต้องนําเข้ามาใช้และมีราคาสูง ซึ่งถือเป็นภาระสูงมากสําหรับผู้ประกอบการ อีกทั้งอาจส่งผลถึงการขาดดุลทางการค้าอีกด้วย การยกระดับความสามารถในการผลิตของไทยด้วยการใช้ซอฟท์แวร์และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นการใช้สติปัญญาและความสามารถของคนไทยที่อยู่ในวิสัยที่จะพัฒนาได้มากกว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยี

The IoT for SMEs

Mr. Soichiro Murata ได้นําเสนอกรณีศึกษาที่น่าสนใจและมีการดําเนินการจริงไปแล้วเพื่อให้เห็นภาพของการนําเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปปรับใช้ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านการลงทุนด้านซอฟท์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจของผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าวไม่เพียงแต่การทําให้สิ่งต่าง ๆ มีความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet of Thing – IoT) เพื่อส่งผ่านข้อมูลเชื่อมโยงกับภายนอกได้เท่านั้น หากแต่ต้องคํานึงถึงกระบวนการทางธุรกิจที่จะต้องยกระดับและปรับปรุงใหม่ เรียกว่า Internet of Process หรือ IoP ซึ่ง IoP นี้เองที่นําไปสู่บริบทใหม่ในการแข่งขันทางธุรกิจ (New competition) ซึ่งมีตัวอย่างหลากหลาย เช่น เครื่องปรับอากาศ ที่การแข่งขันในบริบทเดิมจะมุ่งไปที่คุณภาพสินค้าที่ดี มีความคงทน ประหยัดไฟ และมีช่างบํารุงรักษาตามระยะ แต่บริบทการแข่งขันใหม่ เน้นการสั่งซื้อง่าย สเปคให้เลือกตามลักษณะการใช้งาน เชื่อมข้อมูลการใช้งานผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ทําให้คาดการณ์การบํารุงรักษาได้และมีโมเดลการชําระเงินที่หลากหลายจะเห็นได้ว่าไม่ได้ให้ความสําคัญ แค่ตัวสินค้าเท่านั้นหากแต่คำนึงถึงกระบวนการทางธุรกิจที่สามารถเชื่อมผ่านอินเทอร์เน็ตได้

The IoT and Opportunities
for Development of Smart Products

Mr. Joseph Kim จากบริษัท Opus One ถ้าเราเข้าไปใน Apple Store เราจะเห็น App ตัวหนึ่งชื่อว่า OPUS ONE SMART UMBRELLA JONAS ซึ่งเป็นผลผลิตจากบริษัท Opus One พัฒนาขึ้นเพื่อให้คนติดตั้งและใช้งานร่วมกับร่มอัจฉริยะ คุณคิม ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้เคยเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์และนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านอุปกรณ์มัลติมีเดียแบบพกพาของ Samsung Electronics Mobile ระหว่างปี2000-2012 ก่อนที่จะลาออกมาเพื่อมาสานฝันทําธุรกิจผลิตและจําหน่ายอุปกรณ์เสริมของโทรศัพท์พกพา (Mobile Accessories) ในระหว่างปี 2012 – 2015 ภายใต้แบรนด์ “araree” ทํารายได้ 15 ล้านเหรียญในเวลา 2 ปีครึ่ง

ก่อนที่จะมาตั้งบริษัท Opus One Inc. โดยมีสินค้านวัตกรรมตัวแรกคือ ร่มอัจฉริยะ (Smart Umbrella) ที่ใช้เทคโนโลยี IoT ติดเข้าไปที่ตัวด้ามของร่ม และเชื่อมต่อสัญญาณบูลทูธเข้ากับ Smart phone ผ่านทาง App โดยข้อมูลพยากรณ์อากาศจะถูกประมวลผลและแสดงเป็นสัญญาณเสียง แสงไฟ และการสั่นที่ตัวร่ม ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มานําเสนอ

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัยการผลิตสมัยใหม่ (Industry 4.0 Implementation Center) ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไต้หวัน (National Taiwan University of Science and Technology) ซึ่งได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ และองค์ความรู้จากสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของไต้หวัน

จากการเข้าร่วมสัมมนาและศึกษาดูงาน ตลอดจนร่วมอภิปรายกลุ่ม ทําให้เห็นว่าการจะพัฒนาหรือยกระดับโรงงานและภาคการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้น เป็นเรื่องใหญ่และสําคัญระดับชาติ จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการความร่วมมือหลายภาคส่วนเข้าด้วยกัน ไม่สามารถจะดําเนินการได้โดยลําพัง  นโยบายรัฐบาล โครงสร้างพื้นฐาน การสร้างแรงจูงใจ การรณรงค์ส่งเสริม การฝึกอบรม การให้คําปรึกษาแนะนํา การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซอฟท์แวร์บริหารการผลิต ระบบความปลอดภัยในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่จํานวนมาก และมาตรฐานการเชื่อมต่อ จะเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบมากมายที่เกี่ยวข้อง

 

หลักสูตรแนะนำ 

 




Writer

โดย จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว

ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร