7 กรกฎาคม 2015

training

“เคยหรือไม่ ที่การฝึกอบรมทำให้คน ของท่านมีความรู้เพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถ นำมาใช้ในการปฏิบัติงานจริงได้”

รูปแบบการฝึกอบรมในปัจจุบัน ต้องทำ ให้ผู้เรียนเข้าใจรายละเอียดขององค์ความรู้นั้น อย่างเป็นขั้นตอน และแต่ละขั้นตอนต้องทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในการนำไปประยุกต์ใช้ ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้ผู้เรียนนำกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในที่ทำงานมาปฏิบัติในห้องเรียน ซึ่งต้องใช้เวลาในการฝึกปฏิบัติซึ่งจะเน้นการให้คำแนะนำเป็นรายบุคคลหรือกลุ่ม เพื่อให้เกิดความกระจ่างและกระตุ้นให้เกิดทักษะในการวิเคราะห์ให้เกิดการแยกแยะจนเห็นรายละเอียดที่สำคัญ จนสามารถกลั่นกรองคัดเลือกส่วนสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงมาประกอบขึ้นใหม่ แล้วคิดสร้างสรรค์ในมุมมองใหม่ ๆ ที่ให้คุณค่าเพิ่มขึ้น  ที่ผ่านมา รูปแบบการฝึกอบรมส่วนใหญ่ผู้เรียนมักจะได้รับการถ่ายทอดเนื้อหาอย่างเข้มข้น แต่เมื่อต้องปฏิบัติจริงจังกลับเกิดความสับสน จนในที่สุดก็ได้เพียงแค่เรียนเพื่อรู้ และกลับมาใช้องค์ความรู้ และวิธีปฏิบัติแบบเดิม ๆ การฝึกอบรมเชิงรุก ต้องมุ่งเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ไม่ใช่ปฏิบัติตาม

การฝึกอบรมเชิงรุก เป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้รับการออกแบบร่วมกันระหว่างผู้สอนและองค์กรมาพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ให้สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ตามที่องค์กร คาดหวัง โดยเนื้อหาจะเป็นการผสมผสานของหลากหลายองค์ความรู้ ที่จะสอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ ลักษณะการปฏิบัติงาน รวมถึงวัฒนธรรมขององค์กร นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้จากกระบวนการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) ที่เกิดขึ้นในองค์กร มาถ่ายทอดอย่างเป็นระบบให้เกิดการนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ โดยผู้เรียนจะเกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด หรือพฤติกรรม ผ่านประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติจริงในห้องเรียนด้วยกรณีศึกษา หรือกิจกรรมที่ได้รับการออกแบบมาให้สอดคล้องกับเนื้อหา เช่น เรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจความหมาย วัตถุประสงค์  ขั้นตอนในการปฏิบัติ อย่างลึกซึ้ง และสามารถประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป และผู้ให้การฝึกอบรมเชิงรุกต้องสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างมั่นใจ เกิดความกระตือรือร้นในการร่วมกันคิด แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่ม รวมถึงสร้างบรรยากาศและแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเกิดความมุ่งมั่นในการเรียน

ผู้ให้การฝึกอบรมต้องมีทักษะในการโค้ชหรือความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เรียนให้บรรลุผลการปฏิบัติตามที่คาดหวัง ซึ่งผู้สอนต้องรู้จักสังเกตพฤติกรรมและแนวคิดของผู้เรียน สามารถมองเห็นจุดแข็งที่ต้องส่งเสริม หรือจุดอ่อนที่ควรปรับปรุง จากนั้นจึงจะสามารถกำหนดรูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสมกับบุคลิกของผู้เรียน รวมถึงการเสนอแนะแนวทางหรือกิจกรรมในการปรับปรุง หรือพัฒนาที่ผู้เรียนยอมรับ โดยผู้เรียนต้องเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ สุดท้ายผู้สอนต้องคอยให้กำลังใจ และช่วยเหลือผู้เรียนเมื่อพบว่าพฤติกรรมผู้เรียนไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์

รูปแบบการฝึกอบรมเชิงรุกยังมุ่งเน้นการพัฒนาสื่อการสอนทั้งในรูปแบบของเอกสารคู่มือ เกมส์ ภาพยนตร์สั้น และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการสอน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองภายในระยะเวลาจำกัดของการฝึกอบรม ศูนย์ฝึกอบรมต้องมี ความพร้อมในการพัฒนาได้ทั้งองค์ความรู้ และสื่อการสอน เพื่อให้การฝึกอบรมเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

ในอนาคตองค์กรจะเปลี่ยนจากการ ถามหา “หลักสูตรเฉพาะที่ต้องการเพื่อให้ สอดรับกับสมรรถนะ” ไปสู่การระบุ “ผลลัพธ์ที่ต้องการเห็นจากศักยภาพของพนักงานที่เพิ่มสูงขึ้น” จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการพัฒนาศักยภาพทหาร ก็ต้องมีองค์ความรู้ที่ได้รับการออกแบบมาให้ตรงกับรูปแบบการรบทางน้ำ ทางบก หรือทางอากาศ  เรื่องสำคัญอีกอย่างที่ทุกองค์กรอยากรู้คงไม่พ้น การวัดผลความสำเร็จซึ่งแนวทางคงต้องวัดจาก ผลิตภาพมนุษย์ (Human Productivity) หรือ ผลิตภาพส่วนบุคคล (Personal Productivity) ที่พิจารณาจาก “สัดส่วนของผลลัพธ์ที่ได้รับจากการสร้างสรรค์ด้วยองค์ความรู้ใหม่ต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้องค์ความรู้เดิม” ถ้าพนักงานผ่านการฝึกอบรมแล้วยังทำงาน ด้วยวิธีการเดิม ๆ ใช้เวลาเท่าเดิม ได้ผลลัพธ์แบบเดิม ๆ นั่นก็บ่งชี้ว่าการพัฒนาไม่สัมฤทธิ์ผล

การนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ไม่ควรจะมีข้อจำกัดใด ๆ เช่น ไม่สอดคล้องกับงาน ไม่สอดคล้องกับนโยบาย หรือวัฒนธรรมขององค์กร เป็นต้น นอกจากนี้องค์ความรู้นี้ก็จะได้รับการปรับปรุงให้เนื้อหาสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคตขององค์กร ซึ่งส่งผลให้รูปแบบของการฝึกอบรมเชิงรุกจะมีการทบทวนและเพิ่มเติมองค์ความรู้ให้กับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการปรับปรุงเนื้อหา

ถึงแม้การฝึกอบรมเชิงรุก ต้องใช้เวลาในการออกแบบองค์ความรู้ กระบวนการในการถ่ายทอด รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน และเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากที่สุดซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง หากองค์กรต้องการรักษาพนักงานที่เก่งๆให้อยู่กับองค์กรได้นานๆ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไปสู่การเติบโต ที่ยั่งยืน

“ในอนาคตองค์กรไม่ถามหาหลักสูตรเฉพาะ แต่จะระบุผลลัพธ์ที่ต้องการเห็นจากศักยภาพของพนักงานที่เพิ่มสูงขึ้น”

ที่มา: คอลัมน์ Productivity Food For Thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ