5 เมษายน 2018

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีก้าวเร็วมาก เทคโนโลยีบางตัวยังไม่ทันได้ใช้ก็กำลังจะล้าสมัยแล้ว เพิ่งจะเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีความจริงประดิษฐ์ หรือ Augmented Reality กำลังจะเริ่มเข้าใจเทคโนโลยีเสมือนจริงหรือ Virtual Reality แต่ในขณะเดียวกันของอีกฝากโลกหนึ่งได้พัฒนา Digital Twin หรือการผสมผสานเทคโนโลยีระหว่าง AR กับ VR เข้าด้วยกันมีชื่อเรียกใหม่ว่า AVR หรือ Augmented Virtual Reality เป็นเทคโนโลยีจริงประดิษฐ์ในโลกเสมือนจริง หรือเหมือนกับว่าเราสามารถเข้าไปซ่อมหรือประกอบเครื่องจักรได้โดยไม่ต้องเข้าโรงงาน มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ในการเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและอันตราย เช่น การปิดเตาปฏิกรปรมาณูหลังจากเกิดการระเบิด เป็นต้น

มีคนบอกว่าหากเราต้องการจะก้าวให้ทันเทคโนโลยี เราต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเองเป็น Developer แทนการเป็น User บางความเห็นบอกว่ายาก ของแบบนี้ต้องมีการสั่งสมซึ่งเราไม่เคยมีมาก่อนเหมือนบริษัทจำเป็นต้องมีรากฐานที่แข็งแรง บางความเห็นแย้งว่าแล้วอย่างบริษัทที่มีอายุเป็น 100 ปี อย่างโกดักยังเลิกกิจการได้เลย ธุรกิจที่เริ่มจาก Startup อย่าง Airbnb กลับเติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลกในขณะนี้ เพียงแค่นำแนวคิดของ Sharing Economy มาผนวกกับช่องทางในการเข้าถึงบริการบน Digital Platform ก็สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น พลังของเทคโนโลยีมีทั้งบวกและลบขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีความสามารถในการเลือกใช้มุมไหนอาจไม่ใช่เรื่องของระยะเวลาของการสั่งสมก็เป็นไปได้

ดังนั้น การใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี พื้นฐานมาจากความจำเป็นที่ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล (Data) ข่าวสาร (Information) ความรู้ (Knowledge) และที่สำคัญคือการทำให้เกิดปัญญาความหยั่งรู้ (Wisdom) ที่ผ่านมาเราจะ ดูกันที่จำนวนข้อมูลคนที่มีข้อมูลมากก็จะมีความได้เปรียบ เป็นการใช้ระดับการวิเคราะห์ข้อมูล ข่าวสาร เพื่อให้เกิดความรู้ในการจัดการเท่านั้น แต่เมื่อมีเทคโนโลยีที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence ที่สามารถสร้างให้เกิดการพัฒนา Machine Learning ซึ่งต้องยอมรับว่าระดับหน่วยความจำของ Machine เหนือกว่าระดับสมองของมนุษย์เป็นอย่างมาก ที่สำคัญไม่มีอาการหลงๆ ลืมๆ ให้เห็น ทำให้เกิดการนำข้อมูล ข่าวสาร และความรู้มาสร้างประโยชน์อย่างมหาศาล ประกอบกับปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลสามารถทำได้ง่ายกว่าในอดีตมาก ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่ายและไม่ได้เป็นข้อจำกัดอีกต่อไป

อนาคตของ DIKW จะสามารถจัดการข้อมูลที่มีความหลากหลาย (Unstructured Data) ที่มีจำนวนมหาศาลได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว มีการคาดการณ์ว่าในปี 2562 จะมีเพียง 25% ของผู้ประกอบการทั่วโลกที่สามารถบริหารจัดการ DIKW จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มาจากความเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง อีก 75% ที่เหลือก็จะความเสี่ยงที่ยอดขายและลูกค้าจะลดลงอย่างต่อเนื่องและในช่วงเวลาเดียวกันจะเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ของ 50 % ของผู้ประกอบทั่วโลกจะมีการช่องทางเพื่อสร้างความร่วมมือโดยตรงกับลูกค้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมผ่าน Cloud-bases Crowdsourcing, เทคโนโลยีเสมือนจริงหรือ Virtual Reality และ Product Virtualization โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายได้ประมาณ 5%  ต่อปี และในปี 2564 ประมาณหนึ่งในสี่ของผู้ประกอบการทั่วโลกจะมีการประยุกต์ใช้ Machine Learning ในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม บริการที่จะสนับสนุนการตัดสินใจให้เร็วขึ้น ข้อมูลการปรับปรุงคุณภาพ ข้อดีข้อเสียในความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ และรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นเชิงนวัตกรรมสร้างสรรค์ และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) จะกลายเป็นหัวข้อยอดนิยมของการสัมมนาทั่วโลก จะมีหลักสูตรทั้งสั้นและยาวเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมากทั้งที่อยู่ในสถาบันการศึกษาและการศึกษาออนไลน์ AI จะเข้าไปอยู่ในทุกภาคไม่เพียงเฉพาะอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงเวลานี้คือ AI ในภาคการเกษตรซึ่งจะสามารถคาดการณ์รูปแบบของสภาพอากาศและสภาพดินได้ก่อนล่วงหน้า รวมถึงความสามารถในการจัดการและควบคุมภัยธรรมชาติอย่างการเกิดน้ำท่วมได้ เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่ว่าธรรมชาติไม่ได้อยู่เหนือการควบคุมอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม อนาคตของ DIKW ในช่วงแรกจะขรุขระอยู่บ้างเนื่องจากการขาดแคลนแรงงานด้าน Data Scientist และการกำหนดกติกาที่เกี่ยวกับขอบเขตในการเข้าถึงข้อมูลที่จะมีมากขึ้น พื้นที่ที่จะมีเห็นอนาคตของ DIKW ก่อนคืออเมริกาเหนือ อินเดีย จีน และออสเตรเลีย โดยจีนจะเป็นผู้นำกลุ่ม หากดูในมุมมองธุรกิจ อนาคตของ DIKW จะอยู่ที่ภาคบริการอย่างค้าปลีก เภสัชกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ก่อสร้าง เทเลคอม การขนส่ง การบริการด้านความปลอดภัย โดยในปี 2568 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ DIKW อีกครั้ง (Disruptive Technology) ในกลุ่มเทเลคอมและการบริการด้านความปลอดภัย และแน่นอนการเข้ามาของ AI จะทำให้เกิดความเสี่ยงกับตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับ AI ด้วยเช่นกัน

ที่มา : คอลัมน์ Think Foresight  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 




Writer

โดย นันทพร อังอติชาติ

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ