26 กุมภาพันธ์ 2018

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานเพิ่มผลผลิตแห่งชาติของประเทศสมาชิกองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย ได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการเพิ่มผลิตภาพจากองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization) หรือ เอพีโอ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เกิดประสิทธิภาพมาโดยตลอด

เนื่องในโอกาสการก้าวเข้าสู่ปี 2018 นี้ ดร.สันติ กนกธนาพร เลขาธิการองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้กล่าวคำอวยพร พร้อมแสดงความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายในการดำเนินงานเพื่ออนาคตขององค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย ไม่แตกต่างไปจากเหล่าประเทศสมาชิกที่พร้อมจะดำเนินการขับเคลื่อนหลักการการเพิ่มผลิตภาพในประเทศของตนเองอย่างมุ่งมั่นเช่นเดียวกัน

ดร.สันติได้เน้นย้ำถึงผลการดำเนินงานด้านการเพิ่มผลิตภาพที่องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชียได้ผลักดันจนเกิดผลสำเร็จมาตลอดปี 2017

ในปีที่ผ่านมา เอพีโอ เผชิญกับความท้าทายสำคัญประการหนึ่งคือ การมุ่งหาและระบุให้เห็นโอกาสและความเสี่ยงเพื่อเตรียมพร้อมรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง และอีกประการหนึ่งคือ การมองหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยกระชับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิก ตลอดจนพันธมิตร ผู้มีส่วนได้เสียให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น

“เราจึงพยายามแสวงหาแนวทางที่จะพัฒนาเครื่องมือในการมองอนาคตที่จะช่วยให้ประเทศสมาชิกจัดการกับการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจสังคมโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนได้ดียิ่งขึ้นภายใต้เงื่อนไขสภาพแวดล้อมและตลาดโลก และเอพีโอยังพยายามที่จะสนองความต้องการและความคาดหวังของประเทศสมาชิกให้ได้มากที่สุด ด้วยการเข้าไปร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับหลายภาคส่วน โดยเอพีโอ ได้ริเริ่มแนวทางการสร้างการรับรู้ตามบริบท จัดตั้งเป็น APO Future Team ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายนอก และนำเครื่องมือออนไลน์แบบ AI มาใช้เพื่อสร้างแบบจำลองการมองภาพอนาคตเชิงกลยุทธ์ตามบริบทสำคัญเพื่อประโยชน์ในงานของเอพีโอ และประเทศสมาชิก โดยบริบทที่กล่าวถึง ได้แก่ สังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง หรือ STEEP”

“และด้วยเหตุที่เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาพลิกโฉมการทำงานในภาคอุตสาหกรรรม หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันไปอย่างสิ้นเชิง จึงมีความจำเป็นยิ่งยวดที่ประเทศสมาชิกจะต้องละทิ้งเศรษฐกิจและธุรกิจในแบบเดิม และแสวงหาแนวทางเชิงนวัตกรรมใหม่ที่จะสร้างอนาคตของตนเอง ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ด้วยความสามารถในการมองอนาคตเชิงกลยุทธ์ ทั้งนี้ เอพีโอได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวในการประชุม Strategic Planning Workshop เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา ด้วยแนวคิดดังกล่าว หมายความว่า ในระดับมหภาค ภาครัฐจะสามารถใช้ความสามารถในการมองอนาคตเพื่อนำพาประเทศให้ก้าวผ่านความไม่แน่นอนและเตรียมพร้อมรับอนาคตที่จะเกิดขึ้น หรือที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การนำไปสู่อนาคตที่ต้องการให้เป็นได้ ขณะที่ในระดับจุลภาค กุญแจสำคัญอยู่ที่ความสามารถขององค์กรและภาคธุรกิจที่จะสร้างสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่เป็นของตนเอง”

ส่วนในอนาคตที่กำลังจะมาถึง องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชียตั้งมั่นในการผลักดันภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย APO Vision 2020

“ในปี 2018 นี้ เอพีโอจะพัฒนาเครื่องมือเชิงนวัตกรรมซึ่งไม่ต้องลงทุนสูง แต่สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น เพื่อช่วยผลักดันความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศสมาชิก และช่วยพัฒนาด้านการเพิ่มผลิตภาพ สอดคล้องตามแผนแม่บทที่ต้องการบรรลุภายใต้ APO Vision 2020 ภารกิจที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การยกระดับชื่อเสียงของเอพีโอ และขยายความร่วมมือออกไปยังหน่วยงานในระดับโลก เพื่อนำประโยชน์มายังประเทศสมาชิกในการให้คำแนะนำเชิงนโยบาย และในแง่แหล่งความรู้”

“นอกจากนี้ เอพีโอ ยังมีแผนพัฒนาแพล็ตฟอร์มดิจิตอลสำหรับรูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ โดยในปีนี้จะได้เห็น eAPO ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มการเรียนรู้แบบดิจิตอลที่เป็นโมบาย ต่อยอดจากแพล็ตฟอร์ม MOOC อย่างไรก็ตาม ดังที่ Gorege Bernard Shaw ได้กล่าวว่าไว้

ไม่มีความก้าวหน้าใดเกิดขึ้นได้หากปราศจากการเปลี่ยนแปลง และบุคคลใดก็ตามที่ไม่เปลี่ยนความคิดก็จะไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้

การเปลี่ยนทัศนคติ จึงมีความจำเป็นที่จะก่อให้การเปลี่ยนแปลงดังปรารถนาให้บรรลุผลได้ ดังนั้น ภายในเอพีโอ ได้เริ่มส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการเป็น Intreprenuership เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมภายในเอพีโอ ขณะเดียวกัน ยังเน้นย้ำเรื่องแนวคิดเชิงออกแบบและการนำแนวทางแบบสหศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาและจัดทำโปรแกรมสำหรับประเทศสมาชิก การวิจัยที่ร่วมมือกับนักเศรษฐศาสตร์จากทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา จะช่วยให้ทราบถึงวิธีการเพิ่มผลิตภาพอย่างยั่งยืนรูปแบบใหม่ๆ และสร้างกรอบการดำเนินงานที่เหมาะสมต่อการเพิ่มผลิตภาพยิ่งขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ”

ดร.สันติ ยังได้ทิ้งท้ายไว้ได้อย่างน่าประทับใจว่า “ถึงแม้ว่าจะยังมีภารกิจอีกมากรออยู่ข้างหน้า ก็ขอให้มั่นใจได้ว่า หากเราร่วมมือกัน เราจะสามารถออกแบบอนาคตที่ดีกว่าวันนี้ได้”

 

 

 




Writer

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร