26 มกราคม 2018

อาฟริกากำลังปรับโฉมหน้าใหม่ จากรายงาน “Growing Africa: Unlocking the Potential of Agribusiness” ของ World Bank  กล่าวว่า เกษตรกรและธุรกิจการเกษตรของอาฟริกาสามารถสร้างมูลค่าในตลาดถึงหลักพันล้านในปี 2030 ถ้าหากเข้าถึงแหล่งทุน มีระบบสาธารณูปโภคและเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ที่สำคัญก็คือการทำธุรกิจการเกษตรกรที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งมีผลให้ความเป็นเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว

และปรากฏการณ์ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มผู้ประกอบการใหม่วัยหนุ่มสาวที่ก้าวเข้ามาในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจครั้งนี้

ก่อนหน้านี้อาฟริกาเผชิญหน้ากับวิกฤติแรงงาน คนหนุ่มสาวไม่มีงานทำเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที ขณะที่ภาคการเกษตรกลับขาดแคลนแรงงาน แต่คนรุ่นใหม่มองว่าเป็นงานที่ไม่มีความน่าสนใจ นอกจากนั้นค่านิยมดั้งเดิมก็ยังซ้ำเติมอาชีพเกษตรกรว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ต่ำ แม้แต่เกษตรกรเองก็ยังไม่ต้องการให้ลูกหลานตนเองมาทำอาชีพนี้

อาฟริกามีจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวอายุระหว่าง 15-24 ปีมากที่สุดในโลกคือ จำนวน 226 ล้านคน ทุกๆ ปี คนกลุ่มนี้จะจบการศึกษาจากโรงเรียนหรือวิทยาลัยเข้าสู่ตลาดแรงงาน และบ่อยครั้งที่ไม่ประสบความสำเร็จในการหางาน

ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมจากเครือข่ายเกษตรกรรมที่มีอาสาสมัครทำงานอยู่ทั่วโลก  ทำให้คนรุ่นใหม่ในอาฟริกาหันมาสนใจการทำนวัตกรรมการเกษตรที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย และให้ความสนใจกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดอาหารปลอดภัยไปพร้อมกัน 

นอกจากการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เยาวชนในหลายประเทศของอาฟริกาได้เข้ามาเป็นผู้ประกอบการในห่วงโช่ธุรกิจอาหาร จากการส่งเสริมขององค์กรต่างๆ ที่พยายามร่วมมือกันผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นจริง โดยเฉพาะในการขจัดความยากจน และความเหลื่อมล้ำ โดยการทำส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการแทนที่การหางานในตลาดแรงงาน เช่น เยาวชนในเอธิโอเปียทำธุรกิจขายเครื่องเทศ ผลิตภัณฑ์จากอูฐ และขนมปัง จากการส่งเสริมขององค์กร Save the Children เป็นต้น

ในเคนย่า มีโครงการนวัตกรการเกษตร ที่สนับสนุนโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เช่น Catherine Mbondo วัย 35 ปี นำผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใส่ส่วนผสมที่เป็นสมุนไพร และส่วนผสมอื่นๆ ที่ช่วยในการรักษาโรคบางชนิดหรือทำเป็นเวชสำอางค์ ในชื่อ Proactive Merit เป็นสินค้าส่งออกไปทั่วฝั่งอาฟริกาตะวันออก

เช่นเดียวกับหลายประเทศในอาฟริกาที่เกิดผู้ประกอบการใหม่ในสายอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำที่ให้บริการกับผู้บริโภค ทำให้ลดปัญหาการว่างงาน และทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งขึ้น

Muhammad Yunus นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2006 ผู้ก่อตั้ง ธนาคารคนจน Grameen Bank ของบังกลาเทศ กล่าวไว้ในหนังสือเล่มล่าสุด A World of Three Zeros ว่าการเปลี่ยนคนวัยทำงานจากผู้หางานมาเป็นผู้ประกอบการ คือทางออกของระบบทุนนิยมที่กระจุกตัวและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยยกตัวอย่างให้เห็นว่ายูกันดาเป็นประเทศที่มีผู้ประกอบการมากที่สุดของโลก ในปี 2016 ธนาคารโลกระบุว่า ยูกันดามีรายได้ต่อคน 615 ดอลลาร์ แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนยูกันดากว่า 28% กลายเป็นผู้ประกอบการที่สร้างรายได้คืนกลับไปสู่สังคมด้วยส่วนหนึ่ง

นโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการทางสังคมมีอยู่ในหลายประเทศมานานหลายปีแล้ว และมีธุรกิจเพื่อสังคมหลายแห่งที่กลายเป็นธุรกิจข้ามชาติจากการสร้างเครือข่ายที่มีอุดมการณ์เดียวกัน โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาที่การเติบโตของผู้ประกอบการใหม่ในธุรกิจเพื่อสังคมจะเป็นทางออกของภาวะตีบตันทางเศรษฐกิจได้อย่างน่าจับตามอง

ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจของอาฟริกากำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสังคม ที่อยู่ภายใต้การผูกขาดของนักการเมือง และทุนข้ามชาติมายาวนาน

ที่มา : คอลัมน์ Think Foresight หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

https://thaipublica.org/2017/12/pridi80/

https://ccafs.cgiar.org/blog/agribusiness-magic-bullet-youth-unemployment-africa#.WkSd5t-WY2w




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น