29 ธันวาคม 2017

เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก หรือ Disruptive Technologies เป็นส่วนหนึ่งของการก้าวไปสู่ยุคธุรกิจแห่งอนาคต  เทคโนโลยีอย่าง “Blockchain” ก็เป็นกำลังสำคัญในการพลิกโฉมธุรกิจภาคการเงิน ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการในช่วงเวลาที่โลกดิจิทัลมีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นักเทคโนโลยีส่วนใหญ่เชื่อว่า Blockchain สามารถที่จะปฏิวัติวิธีการพิสูจน์และติดตามข้อมูลตัวตนของเราได้ในโลกออนไลน์

การโจรกรรมข้อมูลรหัสผ่านครั้งใหญ่ที่ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ  ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่า… วิธีการที่ใช้ในการพิสูจน์ตัวตนในโลกออนไลน์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น  มีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ… นักเทคโนโลยีและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีหลายราย เชื่อมั่นว่า… กุญแจสำคัญในการปฏิวัติครั้งนี้อยู่ที่ เทคโนโลยีที่เราใช้ในการเข้ารหัสลับแบบเดียวกันกับที่ใช้ในกลไกการทำงานของ Cryptocurrencies ในปัจจุบัน 

ความท้าทายของเรื่องนี้ อยู่ที่ การที่เรากำลังเข้าใกล้ถึงจุดเปลี่ยนขั้นพื้นฐานครั้งสำคัญ  จากเดิมข้อมูลบัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่าน (User Account / User Profile) ที่สำคัญของเราจะถูกเก็บและได้รับการดูแลจัดการโดยบริษัท ธนาคาร รัฐบาล หรือหน่วยงานกลางต่าง ๆ ที่เรามีส่วนเข้าไปใช้บริการในโลกออนไลน์

แนวความคิดนี้ ข้อมูลของเราจะถูกเก็บแบบกระจายออกไปในระบบเครือข่ายข้อมูล Blockchain ซึ่งอำนาจการควบคุมข้อมูลบัญชีผู้ใช้นั้นจะเป็นของผู้ใช้งานเอง (ซึ่งแตกต่างไปจากระบบแบบเดิมข้างต้น)   กล่าวได้ว่า ลักษณะการทำงานของระบบนี้จะเหมือนกับ Bitcoin ที่ใช้การเข้ารหัสข้อมูลและอาศัยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ช่วยสนับสนุนด้านความปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนข้อมูล Digital Coins โดยไม่ต้องมีหน่วยงานใดทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล  วิธีการเดียวกันนี้เราสามารถนำมาใช้กับการพิสูจน์ตัวตนบนโลกออนไลน์ได้เช่นเดียวกัน…

“เทคโนโลยี Blockchain สามารถขจัดความต้องการของบริษัทและองค์กรต่าง ๆ ในการดูแลรักษาจัดการศูนย์กลางข้อมูลของการระบุข้อมูลผู้ใช้งาน  โดยที่ผู้ใช้งานสามารถเป็นผู้ควบคุมข้อมูลบัญชีใช้งานของตนเองได้อย่างถาวรในการที่จะอนุญาตให้ใครก็ตามที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลของตนเอง” 

ระบบพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้งาน ขึ้นกับการเข้ารหัสลับ Public-key  แบบเดียวกันกับระบบเครือข่าย Blockchain ที่ใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทางธุรกรรม (Transactions)  แม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วในรอบทศวรรษ แต่เทคโนโลยีนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ายังมีความยากที่จะนำมาใช้งานจริงสำหรับแอพลิเคชั่นใช้งานทั่วไป  แต่ด้วยความนิยมของ Cryptocurrencies ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้ได้รับแรงบันดาลใจใหม่ ๆ บวกกับความน่าสนใจในเชิงพาณิชย์ จะช่วยให้มันสามารถใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้นในอนาคต 

การเข้ารหัสลับ Public-key อาศัยคู่ของกุญแจรหัส,  อันหนึ่งสำหรับสาธารณะ (Public) และอีกอันสำหรับส่วนตัว (Private),  ซึ่งถูกใช้ในการตรวจสอบผู้ใช้ และยืนยันข้อมูลการทำธุรกรรมที่มีการเข้ารหัส    ข้อมูลธุรกรรมของผู้ใช้ Bitcoin จะแสดงใน Blockchain ด้วยชุดของตัวอักขระที่เรียงต่อกันยาวเป็น Strings ที่เรียกกันว่า Address (เลขบัญชี) ซึ่งมาจากกุญแจรหัสสาธารณะ (Public key) ของผู้ใช้งานเอง  

แอพลิเคชั่นกระเป๋าสตางค์ (หรือที่เรียกกันว่า Wallet) ที่ผู้ใช้งานใช้สำหรับเก็บและแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัล พร้อมด้วยระบบการจัดการกุญแจรหัสส่วนตัวของผู้ใช้งาน เช่นเดียวกันกับกระเป๋าสตางค์จริง ที่ผู้ใช้งานสามารถใช้เก็บเอกสาร/บัตรประจำตัวที่ใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ตัวตนได้  การใช้สมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ผู้ใช้ก็สามารถใช้แอพลิเคชั่นกระเป๋าสตางค์นี้เพื่อการจัดการการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน 

แนวความคิดนี้ได้รับความสนใจจากรัฐบาลในบางประเทศ  โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐอิลลินอยส์ได้ร่วมมือกันกับ Evernym เพื่อสร้างสูติบัตรดิจิทัลสำหรับทารกที่เกิดในรัฐฯ  และในเมือง Zug ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้เปิดตัวโครงการความร่วมมือกับทาง uPort ซึ่งเป็นธุรกิจ Startup ที่สร้างระบบจัดการข้อมูลประจำตัวบุคคลที่ทำงานบนเทคโนโลยี Ethereum Blockchain เพื่อมอบรหัสประจำตัวดิจิทัลให้กับพลเมืองของตนเอง ขณะที่้รัฐบาลบราซิลเองก็กำลังทดลองใช้เทคโนโลยีของ uPort นี้ด้วยเช่นกัน 

แต่ประชาชน/ผู้ใช้งานทั่วไปจะยอมรับเทคโนโลยีนี้หรือไม่?  นักเทคโนโลยียังจำเป็นต้องสร้างรูปแบบพื้นฐานง่าย ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีที่น่าสนใจในการใช้งาน เพื่อที่จะชักนำให้ผู้ใช้งานสามารถละทิ้งการใช้ usernames และ password อย่างที่คุ้นเคยอยู่ในปัจจุบันได้ 

ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการพัฒนา โดยมีการระดมผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นักออกแบบ นักสังคมวิทยา ผู้เชี่ยวชาญในจริยธรรมด้านเทคโนโลยี ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก Digital Currency Group (ผู้ซึ่งให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่บรรดาบริษัท ธุรกิจด้าน Blockchain)

ที่มา : https://www.technologyreview.com/s/609583/why-blockchains-are-poised-to-end-the-password-era/?set=




Writer

โดย นาย ธารา ธีรวงศ์วศิน

ผู้จัดการส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ