12 ธันวาคม 2017

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ กระแสของ Industry 4.0 ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ และส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคล และองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม บริการ หรือการศึกษา การพัฒนาของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด การเชื่อมต่อแบบไร้สาย ทำให้โลกใบนี้แคบลงมาก วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปจากเดิม เกิดการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม สภาวการณ์ที่ผันผวนและไม่แน่นอน เป็นแรงผลักสำคัญให้การแข่งขันทางธุรกิจ ทวีความรุนแรงมากขึ้น องค์กรต่างต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะหากยังติดอยู่กับความสำเร็จในอดีต ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะมีเส้นทางให้ไปต่อได้ในอนาคต

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด เป็นโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจได้เป็นอย่างดี รวมถึงผู้คนจะมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ปิดโอกาสสำหรับงานบางอย่างที่อาจจะไม่มีความจำเป็น หรือลดบทบาทลงไปเพราะเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ตัวอย่างเช่น งานธนาคาร ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ลูกค้าไม่จำเป็นต้องไปที่ธนาคารก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ เพียงแค่มีระบบอินเทอร์เน็ตใช้งาน ระบบ Self Checkout ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เริ่มมีในบ้านเรา ที่ให้ลูกค้าสามารถชำระเงินค่าสินค้าด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่ง Cashier อีกต่อไป ซึ่งทำให้มีโอกาสสูงที่งานในส่วนของพนักงาน Cashier จะลดน้อยลง หรืออาจจะหายไปได้เลยในอนาคต งานในโรงงานอุตสาหกรรมก็เช่นกัน หลายส่วนที่สามารถแทนที่ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ ที่สามารถทำงานได้ซับซ้อนมากขึ้น เครื่องจักรจะสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารข้อมูล ประมวลผลลัพธ์ และสั่งการได้อัตโนมัติ หรืออาจกล่าวได้ว่าเครื่องจักร เริ่มที่จะคิดแทนคนได้มากขึ้น ฟังดูแล้วเหมือนว่าการพัฒนาในยุคนี้ คนจะลดบทบาทตัวเองลง และเปิดโอกาสให้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทำงานแทน แต่ในความเป็นจริงแล้ว บทบาทของคนไม่ได้ลดลง  แต่ต้องปรับใช้ศักยภาพให้สูงขึ้น เพราะคนต้องเป็นผู้วางแผน ออกแบบ ควบคุม และทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเหล่านั้นให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด โจทย์สำคัญสำหรับองค์กรในยุค 4.0 ก็คือต้องมองให้เห็นโอกาสจากการพัฒนารอบด้าน ผสมผสานเข้ากับศักยภาพที่องค์กรมี และวางนโยบายเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

แน่นอนว่าการพัฒนาในยุคที่องค์กรต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเช่นนี้ บุคลากรในองค์กรถือเป็นฟันเฟืองสำคัญสู่ความสำเร็จ การซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้าย ถ้าหากคนในองค์กรไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ แต่จะกลับกลายเป็นความสูญเปล่าจากการลงทุนอย่างน่าเสียดาย ความตื่นตัวด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อตอบรับการพัฒนาในยุค 4.0 เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ และจากการได้เข้าร่วมงาน Driving Innovation & Competitiveness in Organization with Human Capital 4.0 ที่จัดโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย  เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงแนวคิดในการผลักดันการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมขององค์กรผ่านการพัฒนาบุคลากร ที่วิทยากรหลายท่านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พื้นฐานสำคัญในการสร้างนวัตกรรมขององค์กร คือ Mindset ของบุคลากรต้องพร้อมในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปกับองค์กร ซึ่งองค์กรเองก็จะต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ มีทีมงานที่ช่วยในการผลักดันและส่งเสริม ทำให้คนในองค์กรสามารถผสมผสานทักษะ ประสบการณ์ ร่วมกับการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างลงตัว รวมถึงมีเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสดงความสามารถ ซึ่งการทำกิจกรรมปรับปรุงงานแบบ Bottom up เพิ่มผลิตภาพการทำงาน หรือการปรับปรุงแบบทีละเล็กทีละน้อย และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกคนในองค์กร ถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการต่อยอดสู่องค์กรนวัตกรรม

แนวทางการสร้างพื้นฐานดังกล่าวเพื่อต่อยอดสู่นวัตกรรมผ่านการพัฒนาบุคลากร สามารถทำได้โดย เริ่มต้นจาก การส่งเสริมให้พนักงานทุกคนในองค์กรเป็นนักปฏิบัติการเพิ่มผลิตภาพ หรือ Productivity Practitioner ที่มีพื้นฐานความเข้าใจ และ Mindset ต่อการปรับปรุงพัฒนา และแสวงหาความรู้ใหม่ๆ จากนั้นต่อยอดสู่การเป็นนักส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ หรือ Productivity Facilitator ที่พร้อมจะทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และช่วยขับเคลื่อนผลิตภาพในองค์กร ซึ่งการทำหน้าที่ในส่วนนี้ถือเป็นการเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ การบริหารจัดการ ที่สามารถพัฒนาสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Productivity Leader ซึ่งจะเป็นแรงผลักสำคัญในองค์กร ที่จะช่วยให้บุคลากรทุกระดับมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง พัฒนาตัวเอง และก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กับองค์กรในยุค 4.0 ได้อย่างมั่นคง

 




Writer

โดย สุธาสินี โพธิจันทร์

วิทยากรที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
วิทยากรและที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพและการมีส่วนร่วมของพนักงาน มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาแนะนำกับองค์กรภาครัฐและเอกชนมากว่า 15 ปี