27 ตุลาคม 2017

สังเกตว่าโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ปล่อยออกมาในช่วงนี้เป็นคลิปวิดีโอเล่าเรื่องราวกินใจมากขึ้น ยุคการโฆษณาแบบ Hard core เริ่มน้อยลงไป ที่ยังเห็นอยู่ก็คือช่องทีวีขายตรง เป็นมุมที่น่าสนใจว่าในสังคมที่ดูเหมือนจะมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน กำลังโหยหาความละเอียดอ่อนทางจิตวิญญาณเป็นอย่างยิ่ง ดั่งคำว่า “ดีต่อใจ” ของหนุ่มสาวยุคนี้ แนวโน้มการออกแบบในปีค.ศ. 2020 ก็เช่นกัน

จากการสัมภาษณ์นักออกแบบเจ้าของสตูดิโอที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้กล่าวประเด็นสำคัญๆ ไว้ดังนี้

ประเด็นแรกคือให้นักออกแบบออกจากกรอบเดิมๆ โดยใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ทำความเข้าใจ นำเสนอทางออกสำหรับปัญหาที่ยากและซับซ้อน  เพื่อสร้างตลาดใหม่ให้กับธุรกิจ ซึ่งนักออกแบบต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะต้องบูรณาการความคิดสร้างสรรค์กับเทคโนโลยี จากโจทย์ที่อยู่เฉพาะหน้า ที่ไม่มีในตำราหรือการฝึกฝนในห้องเรียนที่ผ่านมา

จากการที่โลกกำลังย่างก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเด็นต่อมา นักออกแบบควรคำนึงถึงคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่อยู่อาศัยหรืออาคารสถานที่ต่างๆ ที่ช่วยให้คนกลุ่มนี้มีความสะดวกขึ้นในการใช้ชีวิตด้วยตนเอง เป็นแนวโน้มที่ควรใส่ใจ โดยมีตัวอย่างจากเยาวชนอายุ 18 ปี ผู้สร้างสรรค์ระบบการเตือนสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคที่มีอัตราเติบโตที่รวดเร็วที่สุด และกำลังคุกคามสุขภาพของชาวอเมริกันขณะนี้ Kenneth Shinozuka มีคุณปู่ที่เป็นโรคนี้ จึงได้ออกแบบถุงเท้าที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับแรงกด โดยถุงเท้านี้จะเริ่มทำงานเมื่อมีการก้าวเดิน และจะส่งข้อความไปยังสมาร์ทโฟนของผู้ดูแลผู้ป่วย เขาได้รับรางวัลจากงานชิ้นนี้เป็นเงินจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐฯ จาก Scientific American Science in Action Award

นักออกแบบจึงต้องมีความรู้สึกร่วมในกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์หรือบริหารเพื่อที่จะเข้าใจความต้องการอย่างลึกซึ้ง เช่น ความกลัว ความเจ็บปวด ความอับอาย ความหวาดระแวง และหาทางออกให้กับความรู้สึกเหล่านี้ด้วยผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สร้างสรรค์ขึ้นมา จากการเข้าถึงในอารมณ์เหล่านี้

ประเด็นที่สาม คือการต่อยอดเทคโนโลยี sensing  เป็นการใช้เทคโนโลยีตอบสนองต่อความรู้สึกผู้ใช้ให้มากขึ้น เช่น การออกแบบโซฟาที่สามารถปรับให้ผู้ใช้รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย การออกแบบห้องประชุมที่จะส่งสัญญาณเมื่อเกิดบรรยากาศความตึงเครียดในการประชุม เพื่อให้คนออกไปเปลี่ยนอริยาบทแล้วค่อยกลับมาพูดคุยให้มีประสิทธิผล

นักออกแบบแห่งอนาคตจึงไม่ได้มีเพียงความรู้ ทักษะในศิลปะการออกแบบ  แต่ต้องมีทักษะในการทำความเข้าใจกับผู้คน และสังคมเชิงลึก ด้วยการใช้ศาสตร์ทั้งด้านจิตวิทยา สังคมวัฒนธรรม  การทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะเติมเต็มความต้องการ ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น

นอกจากนั้น ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่นักออกแบบพลาดไม่ได้คือ การออกแบบต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใดๆ ต้องคำนึงถึงตั้งแต่ต้นทางของวัตถุดิบว่าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ใช้ทรัพยากรคุ้มค่าหรือไม่ ซากผลิตภัณฑ์จะจัดการได้อย่างไรจึงไม่สร้างปัญหาต่อเนื่อง

ที่ผ่านมานักออกแบบมักมีแนวคิดว่าตนเป็นผู้ชี้นำรสนิยมของคนในสังคม ไปจนถึงการเป็นผู้ยกระดับความเป็นอยู่ด้วยการออกแบบที่มุ่งเน้นความงาม ความแตกต่าง แต่การออกแบบในอนาคตจะให้ความสำคัญกับการใช้งานมากกว่า และยังมีแนวโน้มว่าหากเป็นผลิตภัณฑ์ก็ต้องสามารถใช้งานได้หลากหลายหรือถ้าเป็นบริการก็ต้องมีความยืดหยุ่นในการตอบสนองตามความต้องการเฉพาะ เพื่อความคุ้มค่า

ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบยังชี้ให้เห็นว่า ในอนาคตทุกองค์กรต้องมีนักออกแบบของตนเอง การออกแบบจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงเทคโนโลยี ความสมรรถนะหลักขององค์กร วัสดุใหม่ๆ แนวโน้มทางสังคม มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์

และการออกแบบด้านบริการก็ยังหมายถึงระบบ กระบวนการ แพลตฟอร์ม ในโลกออนไลน์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังเปิดโอกาสให้นักออกแบบได้สร้างสรรค์อีกอย่างไม่มีขีดจำกัด

ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบในเรื่องอะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการออกแบบนั้นจะต้องตอบสนองความต้องการส่วนลึกในใจ ขจัดปัญหาที่เคยมี และ “ดีต่อใจ” อย่างแท้จริง

 

ที่มา : https://www.fastcodesign.com/3043624/25-ideas-shaping-the-future-of-design , http://www.tcdc.or.th/creativethailand/article/Matter/26942

ที่มา : คอลัมน์ Think Foresight หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น