1 กันยายน 2017

 

ที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันมาตลอดว่า เพศชายหรือเพศหญิง เพศไหนฉลาดกว่ากัน หรือ ต่างกันที่ด้านไหนบ้าง อาจจะไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพราะใครจะเก่งกว่าใครส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการฝึกฝนและการพัฒนาตั้งแต่ยังเด็ก แต่ถ้าหากดูกันที่ระบบสมอง บทบาทการทำงานของสมองของทั้งสองเพศก็จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการพิสูจน์ไว้อย่างน่าสนใจ

มีผลวิจัยชิ้นใหม่พบว่า สมองในหลายๆส่วนของผู้หญิงมีความแอคทีฟมากกว่าสมองผู้ชาย โดยการค้นพบนี้จะช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมผู้หญิงถึงมีความเสี่ยงต่อภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับและเป็นโรคกินผิดปกติ

การศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์จาก Amen Clinics ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้การสำรวจภาพสมองที่ใหญ่ที่สุด โดยเปรียบเทียบภาพสแกนสมอง 46,000 ภาพ จาก 9 คลินิก และทำการวิเคราะห์ถึงความแตกต่างระหว่างสมองของเพศชายและเพศหญิง โดยนักวิจัยกล่าวว่า การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้ทราบว่า ความผิดปกติของสมองนั้นมีผลต่อเพศชายและเพศหญิงที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่นผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ ภาวะซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ในขณะที่ผู้ชายมีอัตราสูงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) และความผิดปกติของอารมย์และพฤติกรรม

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร the Journal of Alzheimer’s Disease พบว่าสมองของผู้หญิงมีความแอคทีฟสูงกว่าผู้ชายในหลายๆด้านโดยเฉพาะในบริเวณ เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมโฟกัสและการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมจากแรงกระตุ้น รวมถึงสมองในบริเวณ limbic ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกโดยสมองส่วนนี้จะควบคุมอารมย์และความวิตกกังวล อย่างไรก็ตาม สมองของผู้หญิงในด้านศูนย์กลางการมองเห็นและการประสานงานของสมอง จะแอคทีฟสูงกว่าผู้ชาย

*Daniel G. Amen นักจิตวิทยาและผู้ก่อตั้ง Amen Clinics กล่าวว่า “นี่เป็นการศึกษาที่สำคัญมากที่จะช่วยให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างสมองเพศชายและเพศหญิง “ความแตกต่างในเชิงปริมาณที่เราพบระหว่างชายและหญิงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความความผิดปกติของสมองโดยพิจารณาจากเพศ เช่นโรคอัลไซเมอร์”

นักวิจัยใช้การสแกนสมองจากอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี119 คน และคนไข้อีก 26,683 คนที่มีภาวะทางจิตเวชหลายอาการ เช่น การบาดเจ็บจากสมอง อัมพาต อารมณ์แปรปรวน โรคจิตเภท และโรคสมาธิสั้น โดยการศึกษานี้ได้ให้กลุ่มตัวอย่าง ได้หยุดพักหรือทำภารกิจในด้านการรับรู้ ในขณะเดียวกันนักวิจัยก็จะวัดการไหลของเลือดในสมองของพวกเขาไปด้วยโดยใช้การถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างกายที่ต้องการตรวจโดยการให้สารเภสัชรังสีแก่คนไข้ แล้วทำการตรวจวัดรังสีแกมมาที่แผ่ออกมาจากสารเภสัชรังสีนั้น ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “กล้องถ่ายแกมมา (gamma camera)” หรือ single photon emission computed tomography (SPECT)

ในช่วงเริ่มต้นของการศึกษา นักวิจัยได้วิเคราะห์ 128 ส่วนในบริเวณสมอง ในระหว่างที่กลุ่มตัวอย่างปฏิบัติงานที่ใช้สมาธิ พวกเขาพบว่าผู้หญิงมีการไหลเวียนของเลือดมากขึ้นในเยื่อหุ้มสมอง เมื่อเทียบกับผู้ชาย ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าทำไมผู้หญิงถึงมีด้านต่างๆเหล่านี้สูงกว่าผู้ชาย อาทิ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สัญชาตญาณการรับรู้ การให้ความร่วมมือ การควบคุมตนเอง และแสดงความกังวลอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังพบว่ามีการไหลเวียนของเลือดที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่สมองของผู้หญิงในส่วน limbic ซึ่งอาจมีส่วนให้สามารถอธิบายได้ว่าทำไมผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ และโรคกินผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่คำนึงถึงเรื่องเพศ สมองของมนุษย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ และยากที่จะเข้าใจ Gina Rippon ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cognitive Imaging ณ มหาวิทยาลัย Ashton University ได้เขียนไว้เมื่อปีที่ผ่านมา:

“ความคิดที่ว่าสมองของเราเป็นพลาสติก ดัดแปลงได้ และที่สำคัญ จะคงอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิต นั้นถือว่าเป็นการค้นพบในเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับสมองที่สำคัญในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้พบว่าประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งระยะสั้น และระยะยาวจะเปลี่ยนโครงสร้างของสมอง อีกทั้งทัศนคติและความคาดหวังของสังคม เช่น การมองแบบเหมารวมถึงลักษณะนิสัยของคน โดยดูเพียงแค่จากคุณสมบัติทั่วไป อาทิ เพศ เชื้อชาติ ฯลฯ สามารถทำให้สมองเปลี่ยนวิธีการประมวลข้อมูลได้ และยังมีการคาดเดาว่า สมองของคนที่มีความแตกต่างในด้านพฤติกรรมบุคลิกภาพและทักษะทางการเรียนรู้ จะผันแปรตามเวลา สถานที่ และวัฒนธรรม ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น การเข้าถึงการศึกษา อิสรภาพทางการเงิน หรือแม้กระทั่งการอดอาหาร”

https://www.weforum.org/agenda/2017/08/women-have-more-active-brains-than-men-according-to-science/




Writer

โดย เปรมวดี ศรีพงษ์

เจ้าหน้าที่ออกแบบสื่ออาวุโส ส่วนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ