29 พฤษภาคม 2017

เคยสังเกตบ้างไหมว่าสังคมไทยมีผู้ตั้งตัวเป็น “หมอดู” “ซินแส” “โหร” มากหน้าหลายตา และมีอยู่จำนวนมากเป็นคนวัยหนุ่มสาวที่เป็น Startup ในอาชีพนี้

ซึ่งอาจจะบ่งชี้ถึงความต้องการในตลาดก็อาจเป็นได้ เพราะเคยทราบมาว่านักธุรกิจใหญ่หลายคนต้องจ้างตำแหน่งงานนี้ไว้เป็นที่ปรึกษาเคียงข้างเมื่อยามต้องตัดสินใจ

ในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้าความต้องการผู้ที่มีความสามารถในการชี้ช่อง มองโอกาส หาทางเลือกนั้นยิ่งมีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ด้วยการใช้สิ่งที่อ้างว่ามีญาณพิเศษหรือ Sixth sense ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ ตรงกันข้ามทักษะความสามารถนี้มาจากการฝึกฝนกระบวนการเลือกเฟ้น กลั่นกรอง สังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลมหึมาที่เรียกว่า Big Data อย่างเข้มข้นจนสามารถนำมาเป็นข้อเสนอแนะในการตัดสินใจ การชี้ให้เห็นโอกาสที่มองไม่เห็น ในการวางนโยบายและบริหารจัดการของทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับองค์กรไปจนถึงระดับประเทศ

ความสำคัญของการวิเคราะห์ Big Data ในปี 2017 เห็นได้ชัดเจนขึ้นและมีแนวโน้มสูงขึ้น จนกลายเป็น 5ในของ Top 11 ธุรกิจของโลก คือ หนึ่ง Predictive and Prescriptive Analytics Tools จากคำถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต เครื่องมือที่จะช่วยในการคาดการณ์และกำหนดทิศทางในอนาคต สายการบินอยากรู้ว่าจะขายตั๋วเครื่องบินได้จำนวนเท่าใดในที่นั่งของ Business และ Economy แต่ละเที่ยวบิน โรงแรมต้องการคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้มาใช้บริการแต่ละวันสักเท่าใด

สอง Business Intelligence Center of Excellence  ช่วยสร้างเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลให้กับองค์กร ซึ่งจะเป็นเสมือนวัฒนธรรมองค์กรในอนาคต ที่คนทำงานตัองเป็นนักคิดวิเคราะห์ เพื่อทำงานร่วมกับการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด การคิดวิเคราะห์ การใช้ข้อมูลจาก Big Data จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในทุกกระบวนการ ไม่ใช้เฉพาะการผลิตหรือการบริการ แต่รวมไปถึงการบริหารจัดการองค์กร เช่น งานบริหารทรัพยากรบุคคลด้วย

สาม Data Governance เป็นการนำข้อมูลมาใช้ในระดับการตัดสินใจ สร้างมาตรฐานของคุณภาพข้อมูล การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ช่วยทำให้องค์กรมีข้อมูลที่มีคุณค่า พร้อมใช้ และมีความปลอดภัย

สี่ Visual Data Discovery นับวันปริมาณข้อมูลที่เรียกว่า Big Data นั้นมีจำนวนมหาศาล จนนักวิเคราะห์ยากที่จะจัดการได้ จึงต้องมีตัวช่วย เพื่อที่จะหารูปแบบและโครงสร้างของข้อมูล และความสัมพันธ์ในแต่ละเรื่องที่ต้องการ  รวมถึงการเฝ้าดูข้อมูลที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ เพื่อลดความเสี่ยงในการนำไปใช้ และเพิ่มโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้นได้

และ ห้า Data Storytelling and Data Journalism นอกจากจะต้องนำข้อมูลจำนวนมหาศาลมาจัดรูปแบบและโครงสร้างเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้แล้ว ยังต้องนำมาจับประเด็นในแต่ละข้อมูลให้มีความชัดเจน เพื่อนำไปใช้ในการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น infographics หรือ Virtual Reality

ในมหาวิทยาลัยระดับโลกหลายแห่งเริ่มมีหลักสูตรเกี่ยวกับ Big Data ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์หรือการนำไปใช้ เช่น ที่ School of Economic, Political and Policy Sciences (EPPS) มีหลักสูตร Social Data Analytics and Research ออกแบบมาเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะระดับสูงในการวิเคราะห์และทำงานวิจัยในภาครัฐ องค์กรธุรกิจ และองค์กรไม่แสวงกำไร เพื่อนำ Big Data ไปใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่บริบทขององค์กร

ธุรกิจเกี่ยวกับการวิเคราะห์และการนำ Big Data ไปใช้นี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าถึง 54 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2021 และถ้ารวมถึงธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกันก็อาจไต่ระดับไปถึง 59 พันล้านในปีเดียวกัน

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสังคมให้ความสนใจกับข้อมูลมากขึ้น รายการข่าวในแต่ละสถานีโทรทัศน์จึงต้องมีการแข่งขันกันทำข่าว เจาะลึกข้อมูลในด้านต่างๆ และนำเสนอเรื่องราวให้ง่าย ชัดเจน ตรงประเด็น ทำให้รายการประเภท “เล่าข่าว” โดยไม่ทำข่าว ซึ่งเคยเป็นที่นิยมก่อนหน้านั้น ค่อยๆ หมดไป

เทคโนโลยีและข้อมูลที่มีอยู่มหาศาล อาจทำให้การใช้ Sixth sense  ของกลุ่มอาชีพ“หมอดู” “ซินแส” “โหร” ค่อยๆ หมดไป ในเมื่อมีวิธีการที่จะ “รู้” จากข้อมูลที่เชื่อถือได้ สามารถเห็นช่อง มองโอกาสได้ชัดเจน ไม่ใช่เพียงการคาดเดาจากสิ่งที่มองไม่เห็น และกลายเป็นช่องทางของการหลอกลวงอย่างที่เห็นกันอยู่ในหลายกรณี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยก้าวไปไม่ทันโลก




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น