7 มีนาคม 2017

ฝ่าไฟแดง

“ป.ป.ช.ผิดหวัง! ไทยคะแนนความโปร่งใสต่ำ เหตุโดนใช้เกณฑ์ปชต.ประเมิน” พาดหัวข่าวของมติชน ออนไลน์วันที่ 26 มกราคม แสดงให้เห็นว่าจริยธรรมประเทศไทยเข้าข่ายวิกฤติ เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบยังมีแนวคิดผิดเพี้ยนในทางปฏิบัติ

เช่นเดียวกับผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงองค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาภายใต้ภาครัฐ เมื่อได้รับผลประเมินการปฏิบัติงานแทนที่จะทบทวนว่ายังมีข้อบกพร่องอะไรบ้างที่ต้องแก้ไข ปรับเปลี่ยน กลับชี้ปัญหาไปที่การประเมินตัวชี้วัด จึงพบว่าเวลาที่องค์กรใดได้รับการจ้างให้ไปทำการประเมิน ก็จะมีการล๊อคตัวชี้วัด หรือวิธีการประเมินให้ผลออกมาดีที่สุดเสมอ ทำให้ไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริง

เกณฑ์ประเมิน วิธีการประเมิน เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการวัดความโปร่งใส ถ้าบิดเบี้ยวไปตั้งแต่ต้น ก็เหมือนเครื่องจักรชำรุด ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งในจริยธรรมที่ประเทศไทยไม่สามารถประกาศความขาวสะอาด ปราศจากมลทินได้ ตราบใดที่ยังมีคดีทุจริตที่รัฐบาลไม่เคยยอมรับ และยังจับกุมผู้ที่ส่งสัญญาณเพื่อเชือดไก่ให้ลิงดูเสียอีก

คะแนนดัชนีการจัดอันดับความโปร่งใส หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) ปี พ.ศ. 2016 ที่ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน อยู่อันดับที่ 101 จากปี พศ. 2015 ได้ 38 คะแนน ผู้บริหารป.ป.ช. ยังกล้าพูดว่าน่าจะได้ 38 คะแนนเท่าเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่เคยคิดจะแก้ปัญหาประเทศด้านความโปร่งใสให้ดีขึ้นอย่างจริงจังในฐานะผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้

ปัญหาการทุจริต คอรัปชั่นเหมือนมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนความก้าวหน้าของประเทศไปทุกหย่อมหญ้าจนภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้มีแต่ในประเทศไทย ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ภาคประชาชนก็มีการออกมาเคลื่อนไหวการเอื้อผลประโยชน์ของภาครัฐต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เรียกว่า Democracy Spring เนื่องจากพรรคการเมืองได้รับการสนับสนุนจากเงินของกลุ่มทุนเหล่านี้ และทำให้กลุ่มทุนมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมืองมากกว่าประชาชน ที่เห็นได้ชัดคือการกำหนดนโยบาย การเลือกนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ

จริงๆ แล้วภาคธุรกิจเป็นความหวังที่ดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่าภาครัฐที่มีปัญหาทุจริต คอรัปชั่นกัดกร่อนจนยากจะเยียวยา ภาคธุรกิจที่มีจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่เข้มแข็ง จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมร่วมกับภาคประชาชนได้อย่างแน่นอน เพราะข้อดีของภาคธุรกิจคือมีการบริหารจัดการที่มีทิศทาง มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีกระบวนการบริหารจัดการที่มีเครื่องมือทำให้เกิดประสิทธิผล มีคนที่ได้รับการบ่มเพาะสมรรถนะอย่างต่อเนื่อง จึงพบว่ามีองค์กรธุรกิจที่ดีหลายแห่ง เป็นกำลังสำคัญในการคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับโลกด้วยการดำเนินการที่เรียกว่า CSR

จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งใน CSR เช่นกัน และที่สำคัญไปกว่านั้นคือเป็นรากฐานสำคัญของความยั่งยืน มีตัวอย่างธุรกิจยักษ์ใหญ่มากมายที่ล้มครืนเพราะประเมินคุณค่าของจริยธรรมต่ำเกินไป การติดสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มักคิดกันว่าจำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอด แต่ระยะยาวคือสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจไปไม่รอดในที่สุด

ได้มีโอกาสคุยกับท่านที่ปรึกษาและวิทยากรอาวุโสซึ่งมีประสบการณ์สูงในวงการธุรกิจ ท่านเล่าให้ฟังถึงบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีค่านิยมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับจริยธรรม และเพื่อให้บุคลากรมีหลักยึดในการปฎิบัติงานอย่างมีจริยธรรม องค์กรจึงกำหนดหลักคิดขึ้นมา 7 ข้อเพื่อเป็นตัวกรองให้การปฎิบัติงานเป็นไปอย่างถูกต้อง

หลักการนั้นก็คือเมื่อจะตัดสินใจกระทำสิ่งใดให้พิจารณาว่า 1.การกระทำนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ 2.ถ้าไม่ผิด ผิดอุดมการณ์ของบริษัทหรือไม่ 3.ถ้าทำไปจะรู้สึกไม่ดีหรือไม่ 4.จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรื่องปรากฎในหนังสือพิมพ์ 5.เมื่อคิดว่าไม่ถูก ยังคิดว่าจะทำหรือไม่ 6.ถ้าไม่แน่ใจให้ตั้งคำถาม 7.ให้เพียรถามจนกว่าจะได้คำตอบ ระหว่างนั้นอย่าทำ

หลายครั้งจริยธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้ปฎิบัติงานหรือแม้แต่ผู้บริหารก็อาจไปไม่แน่ใจว่ามันคือสีขาว หรือสีดำ หรือสีเทา ผลประโยชน์ ความสำเร็จของงานมักจะเร่งเร้าให้ตัดสินใจเข้าข้างมันเสมอ

การติดสัญญาณไฟเขียว ไฟแดงอาจจะช่วยให้เกิดความยับยั้งชั่งใจได้บ้าง หลักการในข้อ 4 จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรื่องปรากฎในหนังสือพิมพ์ อาจสัญญานไฟแดงที่เด่นชัดที่สุดสำหรับที่จะหยุดเพื่อไตร่ตรอง

บางทีการหยุดสักพัก จะทำให้น้ำหนักของจริยธรรมเพิ่มขึ้น จนสมดุลกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ทิศทางแห่งความยั่งยืนมีความสว่างไสวและไปได้จริง

ที่มา: คอลัมน์ Think foresight หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


Tags:


Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น