1 มีนาคม 2017

ผู้นำ

“ภาวะผู้นำที่ตอบสนองและรับผิดชอบ (Responsive and Responsible Leadership)” หัวข้อการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในปี 2560 สะท้อนความกังวลของกลุ่มผู้นำประเทศ และเจ้าของธุรกิจ ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2559 หลายเหตุการณ์แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของสังคม การเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ผู้นำต้องสามารถรับมือสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาและต้องร่วมคิดหาหนทางปกป้องดูแลทรัพยากรของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในปีที่ผ่านมาผู้นำทั้งในภาครัฐและเอกชน ต้องเผชิญกับการตัดสินใจในเหตุการณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากมีหลากหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบในหลายมิติ ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ยากจะคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้บรรดาผู้นำทั้งหลายต้องกลับมาให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับอนาคต และด้วยกระบวนการคิดด้านนวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยจัดการความซับซ้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น แนวโน้มของผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ย่อมทำให้เกิดนวัตกรรมด้านอาหารสำหรับผู้สูงอายุที่จะช่วยรักษาสุขภาพและรักษาโรค ส่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรงเพียงพอที่จะดูแลตัวเอง ด้วยรูปแบบอาหารที่รับประทานง่าย สะดวก เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ อีกทั้งมีราคาที่สามารถซื้อหามารับประทานได้ด้วยรายได้และการสนับสนุนของภาครัฐ จะเห็นได้ว่าด้วยแนวคิดการส่งเสริมนวัตกรรม ช่วยลดความซับซ้อนในการจัดการปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในอนาคต ที่มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งด้านสุขอนามัย ค่าครองชีพ และการเดินทาง ซึ่งหากไม่ได้รับการเตรียมพร้อมที่ดี ภาครัฐอาจต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุจำนวนมากที่กระจายอยู่ตามโรงพยาบาลของรัฐ จนเกิดความล้มเหลวทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต

ดังนั้นการพยายามสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ หรือนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือปัญหายุ่งยากที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตัวอย่าง ปัญหาการคมนาคมที่ยุ่งยากซับซ้อนอย่างมากจนไม่สามารถแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน ส่งผลให้การเดินทางไม่สะดวกสบายและไม่คล่องตัว รวมไปถึงไม่ได้ช่วยลดสภาพการจราจรที่ติดขัดมากยิ่งขึ้น ถึงแม้มีรูปแบบการเดินทางหลากหลายมากขึ้น ทั้งลอยฟ้า ใต้ดิน บนดิน หรือระบบราง แต่เนื่องจากภาพการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ในเชิงบูรณาการร่วมกันในกลุ่มผู้นำ ที่มุ่งเน้นคุณค่าที่ประชาชนจะได้รับ โดยไม่คิดเพียงแก้สาเหตุที่รถติด แต่ต้องมองไปสู่การทำให้เกิดความคล่องตัวและสะดวกสบายในการเดินทางไปทำงาน ท่องเที่ยว ความปลอดภัย การรักษาพยาบาล ซึ่งก็จะทำให้ระบบขนส่งมวลชน สร้างความราบรื่นทำให้เข้าถึงสถานที่สำคัญๆ จำเป็น กับการดำเนินชีวิตมากที่สุด อาจไม่จำเป็นต้องขยายระบบโทรคมนาคม ถ้าสร้างระบบการเดินทางที่รวดเร็ว เชื่อมต่ออย่างชาญฉลาด

ตัวอย่าง ภาพประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้น “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด value-based economy จึงเป็นมิติที่ชัดเจน ในการเตรียมพร้อมรับมือและจัดการความยุ่งยากซับซ้อนของ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็กให้มีภูมิคุ้มกัน “ความไม่แน่นอน” โดยไม่มองแค่การขยายตลาดและสร้างผลกำไร รวมไปถึงการแก้ปัญหาคุณภาพรายวัน แต่ต้องพยายามสร้างคุณค่าใหม่ ที่แตกต่าง ให้กับลูกค้า ซึ่งต้องมองภาพในอีก ห้าปี สิบปี หรือยี่สิบปีข้างหน้า และต้องสร้าง “การพัฒนาความร่วมมือกัน” ของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะที่โดดเด่นของแต่ละหน่วยงาน ดังนั้นภาพอนาคตที่บอกว่า “เศรษฐกิจของประเทศจะมั่นคง” จึงเป็นไปได้เพราะ “เศรษฐกิจของประเทศจะไม่อ่อนไหวไปกับการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกต่างๆและยังสามารถสร้างโอกาสอยู่เสมอ ด้วยระบบการจัดการเพื่ออนาคต (Future Management)

หากกลับไปมองภาพพื้นที่บนดอยสูงในอดีต เป็นอย่างไรในปัจจุบัน ภายหลังได้รับการส่งเสริมให้กลายเป็นศูนย์พัฒนาภายใต้โครงการหลวง มีการส่งเสริมอาชีพ ให้ความรู้ในเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ในที่สุดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ชนกลุ่มน้อย จนถึงปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน ลดความยุ่งยากซับซ้อน ลงไปอย่างมาก ซึ่งเป็นพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ไม่ได้มองการแก้ไขในระยะสั้น แต่เป็นการวางรากฐานให้เกิดการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานและชุมชน จนเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงในปัจจุบัน

พระองค์ทรงเป็นต้นแบบผู้นำ ที่แสดงให้เห็น “ความสามารถของผู้นำในการเตรียมพร้อมรับมือ และจัดการกับสถานการณ์ความไม่แน่นอน และยุ่งยากในอนาคต เพื่อให้องค์กรสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงแท้จริง”

ที่มา : คอลัมน์ Think Productivity หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ