1 มีนาคม 2017

เมื่อเทคโนโลยีแห่งอนาคตกำลังจะมาถึง ทุกคนจึงต้องพร้อมรับมือที่จะปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจเพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ประเด็นสำคัญทั้งสามด้าน ไม่ว่าจะเป็นทักษะ การบริการ และ Internet of things จึงถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงว่าจะเป็นปัจจัยความสำเร็จแห่งปี 2017

การพัฒนาทักษะและการส่งเสริมด้านบริการ จะเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับผู้ประกอบการภาคการผลิต ในปี 2017 Antony Bourne แห่ง IFS global industry director for manufacturing ได้เสนอกุญแจสำคัญ 3 อย่าง ที่ควรทำในปี 2017 และในอนาคต

ประสบการณ์ฝึกปฏิบัติจะมีความสำคัญมากกว่าวุฒิการศึกษา

อนาคตของทุกอุตสาหกรรมจะขึ้นอยู่กับคน โดยเฉพาะคนที่มีความสามารถจะหายากขึ้นเรื่อยๆ อุตสาหกรรมทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา กำลังเผชิญกับช่องว่างของทักษะ(Skills Gap) ในปี 2017 การแก้ปัญหาขาดแคลนทักษะแรงงาน จะนำไปสู่ยุคที่การฝึกปฏิบัติและการฝึกอบรมภายใน จะเป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างบริษัทกับสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ได้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาในอุตสาหกรรม

จากการศึกษาของ Deloitte พบว่า ช่วงทศวรรษหน้า งานภาคการผลิตเกือบ 3.5 ล้านตำแหน่ง ในสหรัฐอเมริกาต้องมีการพัฒนาทักษะให้เหมาะสม แต่คาดว่างาน 2 ล้านตำแหน่งในจำนวนนี้จะไม่ได้รับการพัฒนา   ในยุโรปก็คล้ายคลึงกัน ผู้บริหารมากกว่า 80% เชื่อว่าการขาดทักษะ จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการใช้เทคโนโลยีใหม่

การศึกษายังพบว่าอาชีพในภาคผลิตจะมีผู้สนใจมาทำงานด้านนี้ในระดับต่ำ ผู้ให้ข้อมูลเพียง 37% กล่าวว่าพวกเขาจะส่งเสริมให้ลูกๆ ไปทำงานในภาคผลิต ดังนั้นสิ่งที่องค์กรภาคผลิตจะต้องทำ คือ การแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการสร้างทัศนคติที่ดีกับอาชีพและการฝึกอบรมคนรุ่นใหม่ การฝึกงานและฝึกอบรมจะช่วยให้คนรุ่นใหม่มีความเชื่อมั่นและเกิดทักษะในการทำงาน สำหรับองค์กรก็จะได้คัดเลือกคนที่มีทักษะตามที่องค์กรต้องการ

นอกจากนี้ยังมีทักษะเฉพาะบางอย่างที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคต โรงงานจะพัฒนาโดยมีการใช้ Internet of Things (IoT) ที่ประกอบด้วยระบบเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมากซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล โดยเชื่อมโยงให้กระบวนการผลิตเป็นระบบอัตโนมัติ สำหรับคนรุ่นใหม่จะต้องมีการฝึกฝนทางเทคนิค การวิเคราะห์ และพัฒนาทักษะส่วนบุคคล ซึ่งจะมีความเฉพาะด้านมากขึ้นจากการฝึกงาน

ในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร รายได้ของผู้ทำงานภาคผลิตปรับสูงขึ้นจนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจมากขึ้น แต่เราควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงการสร้างทักษะและประโยชน์ขององค์กรในระยะยาว ระหว่างวุฒิทางการศึกษาระดับปริญญากับการฝึกงานในสายวิชาชีพ สิ่งใดมีประโยชน์กับองค์กรมากกว่ากัน

75% ของผู้ผลิตขนาดกลางในยุโรปและสหรัฐจะเปลี่ยนแปลงสู่ Servitization ก่อนปี 2018

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ประกอบการภาคผลิต จะแข่งขันในสถานการณ์ที่ราคาของสินค้าตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ในทศวรรษที่ผ่านมาผู้ผลิตในประเทศตะวันตกไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ การผลิตมาเพื่อขายจึงเป็นรูปแบบธุรกิจที่จะล้มเหลวไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

Servitization เป็นกระบวนการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจโดยทำความเข้าใจกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ เปลี่ยนจากการเสนอสินค้าในรูปแบบเดียวให้กับลูกค้า เป็นการเสนอความสามารถขององค์กรที่จะไปช่วยลูกค้าให้ประสบความสำเร็จ Beijer Electronics ผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของ Servitization โดยสินค้ากล่องดำอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุปกรณ์อัตโนมัติที่บริษัทผลิตขึ้นมา ถูกลอกเลียนแบบในราคาที่ถูกกว่า ทำให้ยอดขายลดลง จน Beijer ต้องปรับมุมมองในเชิงรุกและสร้างนวัตกรรม ดังนั้น บริษัทจึงต้องปรับตัวโดยทำระบบออนไลน์ ที่ชื่อว่า WARP Engineering Studio

WARP สามารถช่วยให้ลูกค้าสามารถปรับแต่งอุปกรณ์ของ Beijer ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับกระบวนการผลิตของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ผ่านการใช้กล่องดำอ้จฉริยะที่คนของ Beijer สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้ผ่านระบบออนไลน์ นอกจากเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการลูกค้าแล้วยังทำให้ Beijer ไม่ต้องลงไปแข่งขันกับคู่แข่งด้านราคา เพราะลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าจากบริการผ่าน WARP

กว่า 80% ของผู้ผลิตตระหนักว่า IoT สามารถช่วยในการแก้ปัญหาขององค์กรได้ แต่คำถาม คือ จะนำมาใช้ให้เข้ากับระบบขององค์กรได้อย่างไร?

หลังจากที่ IoT ได้รับการเผยแพร่เป็นที่สนใจของผู้ผลิต จนเหมือนกับว่าผู้ผลิตได้หลงลืมศักยภาพของระบบ IT ที่ใช้อยู่ เช่น ระบบ SCADA และ Programmable Logic Controller (PLC) ซึ่งยังคงมีประสิทธิภาพในการส่งผ่านและประมวลผลข้อมูล ผู้ผลิตจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ ในการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม กับลักษณะธุรกิจของตนเอง

สำหรับผู้ผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้การแข่งขันอย่างรุนแรง การใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ใหม่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพื่อช่วยให้ได้ข้อมูลสำหรับเสนอการบำรุงรักษาและการบริการที่เหมาะสมกับลูกค้า แต่สำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในครัวเรือน การใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ใหม่อาจส่งผลต่อต้นทุนที่สูงมากเกินไป สิ่งสำคัญ คือ การป้องกันปัญหาก่อนออกจากโรงงาน ซึ่งระบบ SCADA และ PLC ก็ยังคงมีประสิทธิภาพเพียงพอกับการทำงานนี้

ปัจจุบัน 50% ของค่าใช้จ่ายในการทำโครงการ IoT คือ การเชื่อมโยงระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งบางระบบก็ไม่ได้จำเป็น ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ระบบ ERP แบบเปิดกว้างให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบเดิมที่ใช้อยู่   ดังนั้นการประเมินและวัดผล จะเป็นคำตอบที่ชัดเจนของการนำ IoT มาใช้ ทุกวันนี้ IoT อาจมีประโยชน์อย่างมากสำหรับบางองค์กร … แต่สำหรับบางองค์กรก็อาจเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเลย

ที่มา: http://www.themanufacturer.com/articles/success-factors-for-2017-skills-services-iot/




Writer

โดย ธัชรินทร์ วุฒิชาติ

การศึกษา : วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และ วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมโลหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติการทำงาน :
วิศวกร ฝ่ายเทคโนโลยีการผลิตและฝ่ายขาย กลุ่มบริษัทเครือไทยยาซากิ
เจ้าหน้าที่ส่วนงานแผนและบริหาร โครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)
นักวิชาการ ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ปัจจุบัน : ตำแหน่ง นักพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ