4 มกราคม 2017

csr01

มีเรื่องใหญ่ๆ ที่เข้าใจผิดกันเกี่ยวกับ CSR อยู่ 2 เรื่อง หนึ่ง รางวัลเป็นการรับรองว่าองค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแน่นอน สอง ส่วนงาน CSR เท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบงานนี้ขององค์กร

ไม่น่าเชื่อว่าความเข้าใจผิดทั้ง 2 ข้อมีความเกี่ยวโยงกันแบบเป็นเหตุเป็นผลเลยทีเดียว

มีรางวัลหลายประเภทจากหลายองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เหมือนจะรับรองความเป็นองค์กรคุณภาพในแต่ละด้าน รางวัลเหล่านี้ล้วนมีเกณฑ์ประเมินที่ดี แต่เกณฑ์เหล่านี้บางครั้งก็เหมือนการตอบข้อสอบที่คนเก่งมักจะผ่านไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็น “คนดี” ของจริง

เหตุการณ์ช๊อกโลกที่ผ่านมาก็คือ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกซึ่งติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices _ DJSI)  หลายบริษัทถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเพราะคดีอื้อฉาวด้านสิ่งแวดล้อม และความประพฤติผิดจริยธรรม

ในปีค.ศ.  2015 บริษัท โฟล์กสวาเกน (Volkswagen) ค่ายรถยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมัน ซึ่งคว้าตำแหน่ง “บริษัทที่ยั่งยืนที่สุด” (best in class หรือ industry group leader) ในอุตสาหกรรมรถยนต์ และติดอันดับ DJSI ถึง 13 ปีด้วยกัน คือระหว่างปี 1999-2004 และระหว่างปี 2007-2015  แต่มีการเปิดเผยจากสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency: EPA) ว่า รถยนต์หลายรุ่นของโฟล์กที่บริษัทอ้างว่าใช้ “น้ำมันดีเซลสะอาด” เป็น “ทางเลือก” แข่งกับรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า นั้น ที่จริงปล่อยมลพิษกว่า 10-40 เท่าของค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

ในปีเดียวกัน ปิโตรบราส (Petrobras) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติบราซิล ก็ถูกถอดออกจากดัชนี DJSI ในเดือนมีนาคม หลังจากมีการสอบสวนเรื่องคอร์รัปชั่นและฉ้อโกง และต่อมาปลายเดือนกรกฎาคม โตชิบา (Toshiba) สมาชิกของดัชนี DJSI ตั้งแต่ปี 2000 ก็ถูกถอดถอนเช่นกัน หลังจากที่มีข่าวฉาวโฉ่ว่าบริษัทตกแต่งบัญชี ส่งผลให้ซีอีโอต้องประกาศลาออก

ย้อนไป ในปีค.ศ. 2010 บีพี (BP) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากอังกฤษ ถูกถอดออกจากดัชนี DJSI หลังจากเกิดเหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทระเบิดในอ่าวเม็กซิโก น้ำมันรั่วมากถึง 4.9 ล้านบาร์เรล ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

DJSI ไม่ใช่การรับรองเดียวที่มีปัญหาดังกล่าว พบว่ามีรางวัลหรือการรับรองหลายประเภทที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ข้อดีคือการติดตามดูพฤติกรรมขององค์กรเหล่านี้อย่างต่อเนื่องทำให้รู้จริงว่าเป็นเพชรแท้หรือเพชรเทียม

ความเข้าใจผิดในเรื่องที่หนึ่งนี้สัมพันธ์กับเรื่องที่สองอย่างไร

ก็เพราะว่าคนในองค์กรส่วนใหญ่แยกงาน CSR ออกจากงานประจำโดยสิ้นเชิง  และยกการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้ส่วนงาน CSR แต่เพียงผู้เดียว

นั่นคือที่มาว่าทำไมองค์กรที่มีข่าวประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในสื่อต่างๆ สร้างภาพลักษณ์ขององค์กรรักสิ่งแวดล้อม บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม กลับกลายเป็นผู้ร้ายในชั่วพริบตา

เพราะความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ได้รับการปลูกฝังในทุกอณูเนื้องานในองค์กรอย่างที่ควรจะเป็น ฝ่ายผลิตยังคงมุ่งไปสู่การใช้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด ฝ่ายขาย มุ่งไปที่ยอดขาย ฝ่ายบัญชีการเงิน มุ่งไปที่การทำตัวเลขให้ดูดีเสียภาษีให้น้อยที่สุด ฯลฯ

โดยแท้จริงแล้ว ทุกส่วนงานในองค์กรต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นแนวคิดหลักในการปฏิบัติงาน นั่นคือวิธีการทำงานของทุกคนในองค์กรต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกว่ามีอะไรบ้างที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อะไรบ้างที่ผิดกฏหมายหรือไม่ถูกต้องต่อจริยธรรม ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงแต่การดำเนินการในองค์กร แต่ต้องรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ

เหมือนที่ไนกี้ที่ต้องยอมรับและรับผิดชอบต่อปัญหาการใช้แรงงานในโรงงานของบรรดา Suppliers ในประเทศยากจน หลังจากเสียงแข็ง ปัดความรับผิดชอบมาหลายปี

ปรับความเข้าใจให้ตรงกันตั้งแต่วันนี้ว่า CSR เป็นหน้าที่ของทุกคน เป็นเนื้อแท้ของความเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม  และส่วนงาน CSR คืองานที่ร่วมสร้างสังคมในฐานะพลเมืองดี อันเป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : http://www.salforest.com/blog/volkswagen-djsi-limitations

ที่มา : คอลัมน์ CSR Talk  หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ


Tags:


Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น