3 สิงหาคม 2016

Productivity

จากรายงาน “การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาประเทศจากผลการคาดประมาณประชากรของไทย พ.ศ. 2553-2583” จัดทำโดย “คณะอนุกรรมการคาดประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583” สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) มาตั้งแต่ปี 2547และจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี 2574

ปัญหาหลักก็คือการขาดแคลนแรงงาน เพราะขณะที่ประชากรสูงอายุมีชีวิตอยู่นานขึ้น แต่อัตราการเกิดกลับลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องโดยในปี พ.ศ. 2553 ประชากรวัยทำงาน 1 คน ต้องเลี้ยงดูเด็ก 0.3 คน และผู้สูงอายุ 0.2 คน แต่ในปี พ.ศ. 2583 อัตราส่วนพึ่งพิงเพิ่มขึ้นเป็นประชากรวัยทำงาน 1 คน ต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ 0.6 คนและต้องเลี้ยงดูวัยเด็ก 0.2 คน

ในส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “ชนชราแห่งอนาคต” ที่จัดขึ้นโดยTCDC (Thailand Creative & Design Center หรือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) แสดงให้เห็นถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบสนองผู้สูงอายุให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

แนวคิดของ Productivity เป็นหลักการสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบ นั่นคือการมุ่งเน้นที่ผลิตภาพในการตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการวิจัย ค้นคว้า ทดลอง ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่ออนาคตก็ล้วนใช้หลักการของ Productivity ทั้งสิ้น นั่นคือการลดปริมาณและเพิ่มคุณภาพ โดยเฉพาะเทคโนโลยีส่วนบุคคล เช่น มีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 ประชากร 10 % ของโลกจะสวมใส่เสื้อผ้าที่เชื่อมต่อกับ Internet และโทรศัพท์มือถือ และต่อไปจะมีเครื่องมือเล็กๆ ฝังอยู่ใต้ผิวหนังเพื่อช่วยดูแลสุขภาพ และยังช่วยให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นด้วย

พาหนะที่ไร้คนขับเป็นสิ่งที่จะนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั้งในส่วนบุคคลและการใช้ในการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เช่นเดียวกับการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนถึงขั้นสามารถคิดและตัดสินใจได้

ปรากฏการณ์เหล่านี้ย้ำเตือนเห็นถึงความสำคัญของ Productivity ในวิถีชีวิตแห่งอนาคต ในฐานะคนทำงาน ทักษะและความสามารถอะไรบ้างที่ควรจะมีเพื่อเป็นคนที่ได้รับการเลือกให้เข้าทำงาน เพราะงานหลายประเภท ปัญญาประดิษฐ์ทั้งหลายได้เข้าแทนที่ไปหมดแล้ว

ในฐานะผู้บริหาร จะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดผลิตภาพจากคนและเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม คนทำงานจำนวนน้อยที่มีประสิทธิภาพ การเลือกใช้เทคโนโลยีต้องเลือกอย่างชาญฉลาด ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ Productivity แห่งอนาคตมีความสำคัญมากขึ้นนั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะส่งผลรุนแรงมากขึ้น ข่าวจากเว็บไซต์ BBC กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ว่าจะส่งผลร้ายแรงมากขึ้นจากการเตือนขององค์การนาสา จะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในหลายประเทศ และเป็นครั้งแรกที่ขั้วโลกเหนืออยู่ในภาวะอุณหภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็ง ในประเทศที่เคยหนาวเย็นอย่างนอร์เวย์จากที่เคยติดลบ 24 องศาเซลเซียสกลับลดลงเหลือเพียงติดลบ 2 องศา การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลโดยตรงต่อผลิตผลทางการเกษตร เกิดภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ ซึ่งที่ในประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่นี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

โจทย์ของอนาคตในเรื่องนี้ก็คือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีผลิตภาพสูงสุด ด้วยการวิจัย ค้นคว้า หาทางออกร่วมกัน ปัจจุบันเริ่มมีแนวทางการทำการเกษตรที่ใช้น้ำน้อยลง เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานที่สร้างมลพิษและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะหมดไป

เริ่มมีแหล่งอาหารทางเลือกเข้ามา เช่น โปรตีนจากแมลง เนื้อลูกวัวที่เพาะเลี้ยงจากเซลเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ปศุสัตว์ การใช้น้ำและวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์

การเข้าถึงการศึกษาจากทุกที่โดยการใช้ Smart Phone เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน การก่อสร้างอาคารสถานศึกษา พื้นที่สำหรับธนาคารจึงไม่จำเป็นอีกแล้ว

การพิมพ์ 3 มิติจะทำให้การผลิตสามารถตอบสนองผู้บริโภคได้จากการสั่งโดยตรงโดยไม่ต้องมีการผลิตเผื่อเลือก อุตสาหกรรมจึงลดต้นทุนด้านคลังสินค้าได้โดยปริยาย และยังลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตได้อีกด้วย

แนวโน้มที่เห็นในปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มเห็นปัญหาของเหลือทิ้งที่สูญเปล่ามากขึ้น ทั้งขยะพลาสติกที่เริ่มมีนวัตกรรมเปลี่ยนวัตถุดิบบรรจุภัณฑ์จากปิโตรเคมีมาเป็นแป้งที่ย่อยสลายได้ การทำธุรกิจจากอาหารเหลือก็เริ่มมีในหลายประเทศ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต “วีฟู้ด” ที่เดนมาร์ก ร้านอาหาร WestED ในสหรัฐอเมริกาที่นำเอาวัตถุดิบที่ถูกโยนทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทั่วไปมาใช้เท่านั้น หรือการนำอาหารเหลือมาแบ่งปันให้คนยากจนอย่างธนาคารโรตีที่มุมไบ ที่บ้านเราก็เริ่มเห็นแนวคิดนี้ในหนังสั้นของ Whizdom 101 by MQDC

การลดของเสีย เพื่อเพิ่มผลิตภาพเป็นหัวใจสำคัญของ Productivity แนวคิดนี้จะช่วยให้มนุษย์ในโลกอยู่รอดได้ในอนาคตที่มีความผันแปรและต้นทุนจากธรรมชาติค่อยๆ หมดไป พร้อมกับการเผชิญหน้ากับวิฤติการณ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การปลูกฝังแนวคิด Productivity ไม่เคยล้าสมัย

แหล่งข้อมูล : www.thaipublica.com., http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/637438, http://www.now26.tv/view/70341, http://www.tcdc.or.th/articles/business-industrial/23402,ยลยินอินเทอร์เน็ตจากนิตยสารสกุลไทย

 

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น