18 กรกฎาคม 2016

chaina

จีนเป็นประเทศที่มีความหลากหลายอย่างมากทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจ ดังนั้น การที่จะบอกว่ากลุ่มชนชั้นกลางคือใครและจะเติบโตไปในทิศทางใด จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา ซึ่งบทความจากเว็บไซต์ World Economic Forum โดย Linette Lopez เขียนเอาไว้ว่า…

เมื่อหลายปีที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติต่างคาดหวังจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางในประเทศจีน แต่ปรากฏว่าเมื่อไม่นานมานี้ การขยายตัวดังกล่าวต้องสะดุดลงเล็กน้อยจากการที่เศรษฐกิจของประเทศจีนชะลอตัวลง และส่งผลต่อการบริโภคของประชาชน

จากรายงานของ The Demand Institute ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่าง Nielsen และ the Conference Board ที่ทำการศึกษาเรื่องการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางในประเทศจีน โดยได้ศึกษาในเรื่องของอำนาจซื้อที่แท้จริงและการเข้าถึงสินค้าและบริการ

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นภาพที่ค่อนข้างจะซับซ้อนกว่าที่หลายๆ คนคิดไว้

หลายปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มองว่า ธุรกิจอุปโภคบริโภคของประเทศจีนจะเติบโตได้เป็นอย่างดี แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในประเทศจีนต้องมองให้ลึก ซึ่ง การขยายตัวในเชิงภูมิศาสตร์อาจไม่ได้สร้างโอกาสทางธุรกิจมากอย่างที่คิดไว้

เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีความหลากหลายอย่างมากทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจ ดังนั้น การจะบอกว่ากลุ่มชนชั้นกลางคือใครและจะเติบโตไปแค่ไหนจึงเป็นเรื่องที่ยาก

ธนาคารโลก ได้ให้นิยามของกลุ่มชนชั้นกลาง ว่าเป็นผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 10 ถึง 50 ดอลล่าร์ต่อวัน ซึ่ง The Demand Institute มองว่าเป็นช่วงที่ค่อนข้างกว้าง นอกจากนี้เกณฑ์ดังกล่าวก็ไม่ได้สะท้อนถึงบางเรื่องที่มีสำคัญมากในประเทศจีน นั่นคือ การเข้าถึงสินค้าและบริการ

การเข้าถึงสินค้าและบริการของกลุ่มชนชั้นกลางในประเทศจีน มีวัฒนธรรมในการจับจ่ายและเปลี่ยนแปลงยาก เห็นได้จากตลาด e-commerce ของจีน แม้จะมีขนาดใหญ่แต่ก็มีการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายปลีกทั้งหมดเท่านั้น

รายงานระบุว่า ในอนาคตการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนจะเพิ่มจาก 48 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน เป็น 95 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึง ขณะนี้ยังมีผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นกลางอีกกว่าร้อยล้านคนซึ่งบริษัทต่างๆ เข้าไปไม่ถึง เนื่องจากไม่มีอินเตอร์เน็ต

ดังนั้นสำหรับบริษัทข้ามชาติแล้ว ลูกค้าเป้าหมายก็คือ กลุ่มชนชั้นกลางที่มีการใช้จ่ายผ่านอินเตอร์เน็ต (Connected Spender) ซึ่งก็คือกลุ่มผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อและสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ ปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีเพียง 27 เปอร์เซ็นต์ของประชากรจีนในปี 2557 และมีการใช้จ่ายคิดเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภคทั้งหมด คิดเป็นเงินประมาณ 1.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยลักษณะทั่วไปของผู้บริโภคกลุ่มนี้คือ มีอายุน้อยกว่า 49 ปี มีการศึกษาค่อนข้างสูง และอาศัยอยู่ในชุมชนเมืองที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้

อย่างไรก็ตาม อำนาจการซื้อของกลุ่มชนชั้นกลางในจีนก็ไม่อาจจะเทียบได้กับประเทศสหรัฐอเมริกา โดยระหว่างปี 2554 ถึงปี 2557 มีประชากรจีนเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีรายได้ต่อครัวเรือนมากกว่า 3,200 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปี หรือ 85 ดอลล่าร์สหรัฐต่อวัน

มีการประเมินว่า มูลค่าการบริโภคของคนกลุ่มนี้จะเพิ่มจากร้อยละ 44 เป็นร้อยละ 60 ในปี 2568 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงของอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แม้จะเป็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ยังไม่ถึงกับมากมายอะไรนัก

การศึกษายังรายงานด้วยว่า การบริโภคต่อหัวของจีนน่าจะแตะ 4,400 ดอลล่าร์สหรัฐในปี 2568 แต่ก็ยังห่างไกลจากประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันที่มีการการบริโภคต่อหัวเท่ากับ 32,000 ดอลล่าร์สหรัฐ

การเติบโตดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง แต่อย่าลืมว่าการเติบโตเหล่านั้นมาจากการฐานรายได้ต่อหัวที่เดิมค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ตัวเลขนี้จึงยังไม่สามารถเทียบกับตลาดที่เติบโตอย่างเต็มที่แล้วได้

การศึกษานี้จึงได้ให้ข้อสรุปไว้ว่า การขยายตัวของการบริโภคแบบค่อยเป็นค่อยไป จะเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศจีน

ที่มา: https://agenda.weforum.org/2015/11/what-does-middle-class-mean-in-china/




Writer

โดย วิชดา สุบรรณพณิชกุล

นักวิจัยส่วนวิจัยการเพิ่มผลผลิตฝ่ายวิจัย