9 มิถุนายน 2016

KM1

ขณะที่โลกมีนวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในหลายองค์กรก็ยังวนเวียนอยู่กับการแก้ปัญหาเดิมๆ จากการทำงานด้วยวิธีการเดิมๆ พร้อมกับการตั้งเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรนวัตกรรม

ฝ่ายผลิตยังคงมีปัญหาของเสียในกระบวนการผลิต คุณภาพผลิตภัณฑ์ไม่สม่ำเสมอ ฝ่ายการตลาดขยายส่วนแบ่งการตลาดไม่ได้ตามเป้าหมาย ฝ่ายทรัพยากรบุคคลพัฒนาบุคลากรไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารวางกลยุทธ์ไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์สวยหรูที่วางไว้ กิจกรรมการปรับปรุงองค์กรดำเนินไปแบบคนละทิศคนละทาง ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ฯลฯ

การฝึกอบรม การเข้าร่วมโครงการต่างๆ ในการเพิ่มศักยภาพองค์กร ตลอดจนการจัดจ้างวิทยากรที่ปรึกษาเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ก็ดูเหมือนว่าไม่สามารถทำให้องค์กรก้าวข้ามกับดักปัญหาไปสู่มิติใหม่ตามที่คาดหวัง

ดูเหมือนว่าเมื่อมีปัญหา การแก้ปัญหาคือการแสวงหาความรู้จากภายนอกเข้ามาเป็นตัวช่วย แต่มักลืมที่จะเรียนรู้จากภายใน เรียนรู้จากความสำเร็จและความล้มเหลวที่ผ่านมา

องค์กรที่ขยันออกไปแสวงหาความรู้ภายนอก มีงบประมาณมากพอที่จะจ้างวิทยากรที่ปรึกษาราคาแพง จะพบว่าความรู้เหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะนำไปใช้อย่างไรให้องค์กรประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง

ลองตอบคำถามเหล่านี้อย่างซื่อสัตย์

คำถามที่หนึ่ง ทุกครั้งที่มีการวางแผนงานในแต่ละปี เป้าหมายที่วางไว้ คือถ้อยคำอันสวยหรู ไม่ว่าจะเป็นผลลัพธ์ทางธุรกิจที่จะต้องมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น บุคลากรต้องได้รับการพัฒนา เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และมีความสุข เป็นองค์กรรักสิ่งแวดล้อม ใส่ใจต่อสังคม เป้าหมายเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ไม่เคยไปถึงหรือไม่เคยประเมินว่าเข้าใกล้ความเป็นจริงสักกี่เปอร์เซ็นต์

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการแตกออกมาเป็นกิจกรรมกลุ่มย่อย ผู้บริหารต้องการวัดความสำเร็จอย่างรวดเร็ว KPI ที่กำหนดขึ้นในแต่ละกิจกรรมจึงขาดความสอดคล้อง เพราะผู้บริหารให้ความสำคัญกับความสำเร็จมากกว่าการเรียนรู้

คำถามที่สอง คนในองค์กรมีเวลาเพียงพอสำหรับการเรียนรู้หรือไม่ การเรียนรู้ที่มาจากการได้ทบทวนการทำงานร่วมกัน การเรียนรู้สิ่งที่สนใจ นอกเหนือจากการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จากหนังสือ Where good ideas come from? ผู้เขียนคือ Steven Johnson ได้สรุปบทเรียนที่มาของความคิดใหม่ๆ ไว้ในแต่ละกรณีศึกษาอย่างน่าสนใจ เช่น การสร้างแรงบันดาลใจ การพูดคุยกับผู้คนที่อยู่ต่างอาชีพ ต่างความคิด ถ้าหากคนในองค์กรต้องหมกหมุ่นกับการทำงานในหน้าที่จนอ่อนล้าจากแรงกดดันของ KPI จะเอาเวลาที่ไหนมาเรียนรู้ หรือแม้แต่ทบทวนการทำงาน

คำถามที่สาม พฤติกรรมที่องค์กรพึงปรารถนาคือการยึดมั่นในบรรทัดฐาน การปฏิบัติตามแบบแผน การเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ใช่หรือไม่ เคยมีการถกความคิดเห็นกันในแนวทางการปฏิบัติงานหรือไม่ ท้ายสุดการตัดสินอยู่ที่ผู้บริหารใช่หรือไม่ Steve Jobs กล่าวว่า “เราไม่ได้จ้างคนเก่งและบอกพวกเขาว่า สิ่งที่ควรทำคืออะไร เราจ้างคนเก่งเพื่อให้พวกเขาบอกเราว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไร”

คำถามที่สี่ คนในองค์กรมีโอกาสในการใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตัวเองหรือไม่ ข้อเสนอแนะของพวกเขาได้รับโอกาสในการนำไปลองปฏิบัติ ปรับปรุงแก้ไข หรือที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาในการทำงาน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือวิทยากรที่ปรึกษาคือทางออก เพราะผู้บริหารไม่อาจรอคอยความสำเร็จจากการเรียนรู้

แน่นอนว่าในโลกการแข่งขันนี้ ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ “รอไม่ได้” “ช้าไม่ได้” ให้เกิดขึ้น แต่ถ้าหากยังมองข้ามการเรียนรู้ของคนภายในองค์กร การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ทำอย่างไรที่จะทำให้องค์กรได้มีการเรียนรู้ ไปพร้อมกับการก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ในเมื่อรู้กันดีอยู่แล้วว่าองค์กรที่ยั่งยืนต้องมี Maturity Level ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสิ่งนั้นไม่ได้มาจากภายนอกแต่ต้องเกิดขึ้นจากคนในองค์กรเอง

Engagement คือคำถามสุดท้ายว่าผู้บริหารมีความเข้าใจเพียงพอหรือไม่ว่าสิ่งนี้มีผลต่อความสำเร็จขององค์กรเพียงใด และจะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งไม่เฉพาะแต่พนักงาน แต่หมายถึง Stakeholder ทั้งหมดขององค์กร

คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่จะบ่งชี้ว่าอะไรคือปราการแห่งการเรียนรู้ภายในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถขจัดออกไปได้ โดยผู้บริหารเองต้องก้าวข้ามอคติ กรอบความคิดของตัวเองให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก

ความต้องการความสำเร็จแบบสำเร็จรูป ความกลัวต่อความล้มเหลว มีผลอย่างมากต่อการตีกรอบความคิดของผู้บริหาร ทำให้ไม่เปิดโอกาสในการเรียนรู้ทั้งของตนเองและคนในองค์กร จากงานวิจัยของ Francesca Gino and Bradley Staats ซึ่งได้นำมาเรียบเรียงเป็นบทความชื่อ Why Organizations don’t Learn” ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review ,November 2015 ได้สรุปไว้ว่ากุญแจสำคัญของการสร้างความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

Lesson Learn  หรือบทเรียนที่ได้รับเป็นเรื่องที่ควรทบทวนอยู่เสมอในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว ล้วนเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่าทั้งสิ้น อย่างน้อยก็ทำให้ไม่ต้องมาวนเวียนอยู่กับการแก้ปัญหาเดิมๆ อีกต่อไป

ที่มา: คอลัมน์ Productivity Food for Thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น