28 เมษายน 2016

Big data

ในยุคที่เทคโนโลยีช่วยให้เข้าถึงข้อมูลในเชิงลึกได้นั้น ภาครัฐและภาคธุรกิจ ดูเหมือนจะทำงานง่ายขึ้น สามารถวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น Big Data จึงกลายเป็นทรัพยากรสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน

เพราะ Big Data ส่วนหนึ่งมาจากการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิคส์ต่างๆ ตั้งแต่บัตรเครดิตจากธนาคารไปจนถึงบัตรสมาชิกห้างร้านต่างๆ รวมทั้งบัตรประชาชน บัตรโรงพยาบาล รวมความว่าข้อมูลเหล่านี้ทำให้รายละเอียดในชีวิตเรากลายเป็นข้อมูลที่ให้คนอื่นเข้าถึงเพื่อใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น

เว็บไซต์ต่างๆ รวมถึง search engine อย่าง Google ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Big Data ที่นำมาเป็นตัวช่วยในการทำงานได้คล่องตัวขึ้น ใช้เวลาน้อยลง ในเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award) ก็ยังได้เพิ่มเนื้อหาของเกณฑ์ในเรื่องนี้เข้าไปด้วย โดยมีคำถามในหมวดกลยุทธ์ถึงการรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลว่ามีการนำเอา Big Data มาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง

สินค้าและบริการใหม่ๆ หลายอย่างเกิดมาจากการนำเอา Big Data มาวิเคราะห์และนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจระดับโลก มีการใช้ Big Data เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจมานานหลายปีแล้ว ความได้เปรียบในการเข้าถึงเทคโนโลยีนี่เอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดช่องว่างของโอกาสในสังคมที่มากขึ้น เทคโนโลยีทำให้เกิดธุรกิจใหม่ที่ทำลายธุรกิจเก่าลงไปอย่างสิ้นเชิง เช่น กรณีของการขายหนังสือใน Amazon.com ที่ทำให้ร้านหนังสือระดับโลกอย่าง Borders Group Inc. ต้องประสบภาวะล้มละลาย มีนักธุรกิจมหาเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ในขณะที่ประชาชนในหลายประเทศประสบภาวะยากจน  ได้รับผลกระทบจากธุรกิจอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่ใช่เพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังมีปัญหาการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น  โดยประชาชนเหล่านั้นไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่จะตั้งรับกับปัญหาแต่อย่างใด ในขณะที่นักธุรกิจอุตสาหกรรมใช้ข้อมูลในการทำธุรกิจเชิงรุกตลอดเวลา

ในหนังสือ “The Land Grabbers: The New Fight over Who Owns the Earth”   ซึ่งเขียนโดย Fred Pearce เล่าถึงการล่าอาณานิคมยุคใหม่ของเหล่านักธุรกิจอุตสาหกรรมในทุกมุมโลก เกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร การใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถอยู่ได้

การเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมจึงเป็นความจำเป็นที่ประชาชนควรจะได้รับ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต สภาพแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจทางเลือกที่เหมาะสมกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเช่าที่ดินของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมต่างชาติในพื้นที่ การสร้างโรงงานไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช่การรับรู้เมื่อโครงการผ่านการอนุมัติแล้วอย่างที่เป็นมา  ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างที่เห็นกันอยู่เสมอ

ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมถอดบทเรียนการทำนโยบายสาธารณะ ของสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ สิ่งที่ทำให้การทำงานของสถาบันนี้มีคุณค่าก็คือการเผยแพร่ข้อมูลจากงานวิจัยไปสู่ชุมชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรียกว่าการคืนข้อมูลสู่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถตัดสินใจเลือกในสิ่งที่เหมาะสมสำหรับตนเอง และสิ่งนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนควรนำไปพิจารณา

ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนมีการทำงานร่วมกับชุมชนหลายโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนด้วยแนวทางที่ต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่มักเป็นโครงการที่เลือกมาให้แล้วสำหรับชุมชนนั้นๆ  ดังนั้นหากชุมชนมีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินเลือกด้วยตนเองจะดีกว่าหรือไม่ โดยมีข้อมูลที่ทำให้รู้ว่าแนวโน้มของสังคม แนวโน้มของโลกจะเป็นไปอย่างไร ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง เป็นต้น

เคยได้ยินเสียงบ่นจากภาคเอกชนที่ทำธุรกิจร่วมกับชุมชนว่า ธุรกิจชุมชนมักย่ำอยู่กับที่ ก้าวตามไม่ทันความต้องการของผู้บริโภค สาเหตุหลักก็คือโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล และใช้ข้อมูลต่างระดับกันมากระหว่างนักธุรกิจกับชุมชนนั่นเอง

ชุมชนควรมีโอกาสได้เลือกแนวทางการสร้างความเข้มแข็งด้วยตนเอง เช่นเดียวกับการที่ธุรกิจเลือกกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดและมีข้อมูลที่เป็นจริง ทันสถานการณ์ เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วยการใช้ Big Data เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป็นฝ่ายถูกเก็บข้อมูลฝ่ายเดียว แต่ข้อมูลนั้นควรคืนกลับมาให้พวกเขาได้ใช้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน

ที่มา: คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น