30 พฤศจิกายน 2016

%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b8%9e%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%a5%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%9a%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99

โลกในศตวรรษที่ 21 เมื่อประเทศพัฒนาแล้วก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ธุรกิจด้านสุขภาพจึงมาแรงเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ ซึ่งต้องการใช้ชีวิตที่ยาวนานขึ้นอย่างคนมีสุขภาพดีและไม่เป็นภาระกับใคร เพราะสังคมปัจจุบันและในอนาคต มีความเป็นปัจเจกสูง มีแนวโน้มชัดเจนว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตตามลำพัง เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวที่ต้องการชีวิตที่เป็นอิสระ

Telehealth เข้ามาตอบสนองความต้องการนี้ ด้วยบริการดูแลสุขภาพด้วยตนเองที่บ้าน หรือชุมชน โดยการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย เช่น เครื่องมือวัดความดันเลือดด้วยตนเองแล้วส่งผลไปยังทีมแพทย์อัตโนมัติ เพื่อแนะนำการให้ยาหรือการควบคุมอาหาร การสอนทำกายภาพบำบัดออนไลน์ หรือผ่านเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เป็นต้น

ข้อดีของการบริการสุขภาพแบบนี้มีหลายอย่าง ประการแรกคือเป็นการดูแลสุขภาพที่ต้นทุนต่ำ  ทั้งในส่วนของสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และคนไข้เองที่ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้ใกล้ชิดขึ้นด้วยเครื่องมือสื่อสารแบบ Real time นอกจากนั้น แนวทางในการดูแลสุขภาพแบบนี้ยังช่วยปรับพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาเอาใจใส่ดูแลสุขภาพมากขึ้น เพราะต้องคอยตรวจ เช็คสุขภาพด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ

อันที่จริงแนวคิดในเรื่อง Telehealth มีมานานแล้ว ความหมายตรงๆ ก็คือ การดูแลสุขภาพทางไกล ในพื้นที่ๆ ห่างไกลจากโรงพยาบาล ประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขเคยพยายามที่จะทำระบบนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ปี 2541 โดยการติดตั้งอุปกรณ์ระบบการแพทย์ทางไกล ในหน่วยงาน 20 แห่ง ผ่านสถานีดาวเทียม VSAT ใช้สัญญาณ C Band  แต่เนื่องจากมีการใช้งานการปรึกษาแพทย์ทางไกลน้อย  ค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมและค่าบํารุงรักษาอุปกรณ์รายปีค่าใช้จ่ายสูงไม่คุ้มกับการดำเนินการ จึงยุติโครงการไปในปี พ.ศ. 2546  และในปี พ.ศ. 2552-2553  มีโครงการนำร่องในแนวคิดนี้อีกครั้ง โดยใช้เทคโนโลยี WiMAX เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ใช้กับศูนย์กลางโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกับศูนย์รับ-ส่งปลายทาง  ปัจจุบันมีโรงพยาบาล 2 แห่งในประเทศไทยที่ให้การรักษาพยาบาลโดยใช้ Telemedicine คือ โรงพยาบาลอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และ โรงพยาบาลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

แรงผลักดันที่สำคัญซึ่งทำให้ Telehealth เป็นทางเลือกของการดูแลสุขภาพก็คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  โรคเรื้อรังที่ไม่ได้มาจากการติดต่อที่เพิ่มขึ้น เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่สมดุลกับการเพิ่มจำนวนของประชากร ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการสื่อสาร ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่สูงขึ้น ความใส่ใจในการดูแลสุขภาพและความตระหนักในความสำคัญของการดูแลตนเองในเชิงการป้องกัน

มีการคาดการณ์ถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ Telehealth ในระดับโลกไว้ว่าจะมีการเติบโตถึง 24.2% จากปี พ.ศ. 2558-2563 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ  เป็นธุรกิจบริการในอนาคตที่ทำให้การให้บริการด้านสุขภาพมีต้นทุนที่ต่ำ แต่มีประสิทธิภาพสูง และสอดคล้องกับสภาพสังคมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้บริการ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการออกแบบการบริการที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง  และสอดคล้องกับความต้องการเฉพาะราย ปัญหาความแออัดของคนไข้ในโรงพยาบาลจะลดลงไป ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่โรงพยาบาลจะใช้พื้นที่มากกมาย หรือในอนาคต โรงพยาบาลอาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่อาจผนวกไว้ในการออกแบบ Smart City ในการขยายตัวของเมืองที่จะเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของโลก

ความสำเร็จของธุรกิจนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ความเชี่ยวชาญของแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาจากกลยุทธ์ที่ดี การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ผู้ครอบครองตลาดรายใหญ่ๆ ในปัจจุบันได้แก่  Honeywell Life Care Solutions  (U.S.), The Medvivo Group (U.K.), Philips Healthcare (Netherlands), Robert Bosch, Siemens Healthcare  (Germany)  เป็นต้น

ในปัจจุบันที่ค่ารักษาพยาบาลในบ้านเรามีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งรู้กันว่าในค่าใช้จ่ายนั้นมีค่าบริการมากกว่าครึ่ง อาจเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจ Telehealth  ที่จะเข้ามาเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งก็เริ่มเข้ามาในธุรกิจนี้บ้างแล้ว แต่ยังไม่เต็มรูปแบบ คาดว่าอีกไม่นานคงได้เห็นธุรกิจ Telehealth มากขึ้น  เมื่อผู้บริโภคต้องการ

แหล่งข้อมูล : http://www.marketreportsworld.com, https://lovelybluemoon.wordpress.com/2011/02/07/telehealth , thaisession2_sinchai.pdf

ที่มา: คอลัมน์ Think Foresight หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น