16 พฤศจิกายน 2015

STEEP-environmetn-ปริทัศน์

ในช่วงที่ผ่านมา รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลถูกจับตามอง อันเนื่องจากกรณีผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ Volksawagen ที่ในปี 2557 มียอดจำหน่ายเป็นอันดับสองของโลก รองจาก TOYOTA ถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการผลตรวจสอบมลพิษ ที่ระบายออกจากเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ Type EA 189 ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากอาจถูกสอบสวนแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นที่ชัดเจน ณ เวลานี้ คือ ภาพลักษณ์ขององค์กร และมูลค่าหุ้นที่ร่วงลง

ทั้งนี้ Karl Mathiesen และ Arthur Neslen ได้เขียนบทความลงเว็บไซต์ The Guardian ถึงการวิเคราะห์ที่มาที่ไปของปริมาณรถยนต์ดีเซลที่เพิ่มขึ้นในยุโรปมี ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • พิธีสารเกียวโต (KYOTO Protocol) ในปี 1997 กำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เฉลี่ยประมาณ 8 % ตลอดระยะเวลา 15 ปี
  • เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยก๊าซ CO2 น้อยกว่า เครื่องยนต์เบนซิน 15 % แต่ปล่อย NO2 และ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก มากกว่า 22 เท่า และ 4 เท่า ตามลำดับ
  • ในยุโรปตั้งแต่อดีตจนถึงกลาง คศ.1990 รถยนต์ดีเซลมีปริมาณไม่มาก
  • ผลจากพิธีการเกียวโต: ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมันโน้มน้าว European Commission ให้สนับสนุนส่งเสริมรถยนต์ดีเซล โดยใช้เหตุผลราคาที่ถูกกว่ารถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเป็นวิธีการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้อย่างรวดเร็ว
  • ผลจากพิธีสารเกียวโต: ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น และ อเมริกา มุ่งสู่การพัฒนารถยนต์ไฮบริด และ รถยนต์ไฟฟ้า
  • European Commission ทำข้อตกลงร่วมกับ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรป ที่จะลดการปล่อยก๊าซ CO2 ในรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ลง 25 % ตลอดเวลา 10 ปี
  • จากข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น ส่งผลในประเทศต่างๆ ออกมาตรการสนับสนุนส่งเสริมการใช้รถยนต์ดีเซล ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร ออกมาตรการภาษีที่เชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งส่งผลดีต่อรถยนต์ดีเซล ทำให้ส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งต่ำกว่า 10 % ในปี 1995 เพิ่มเป็นมากกว่า 50 % ในปี 2012 โดยปัจจุบันมีรถยนต์ดีเซลใช้งาน 11.8 ล้านคัน
  • ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ บางท่าน ได้ให้ข้อคิดเห็น ข้อสังเกต ในประเด็นต่างๆ เช่น

 – วิธีการทดสอบมลพิษที่ปล่อยออกจากเครื่องยนต์ดีเซล ไม่เข้มงวดมากพอ และง่ายที่จะใช้ปรับจูนระบบคอมพิวเตอร์ในรถยนต์ เพื่อให้ผลการวิเคราะห์ผ่าน

 – มีประเด็นข้อถกเถียงระหว่างหน่วยงานสหราชอาณาจักร ที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม กับ หน่วยงานที่ดูแลด้านมลภาวะอากาศ

 – ในช่วงปลายศตวรรษ 1990 นั้น คุณภาพอากาศยังไม่อยู่ในกระแสหรือเป็นประเด็นหลักของการเมือง

 – การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบระยะยาวของเทคโนโลยี่ที่นำมาใช้ ไม่สมบูรณ์

  • งานวิจัยใหม่ๆ พบว่า ละอองน้ำมันดีเซล ส่งผลเสียต่อสุขภาพกว่าที่คาดคิด เช่น กระตุ้นการเกิดมะเร็ง มีผลเสียต่อหัวใจ ชะลอการเจริญเติบโตของเด็ก

สำหรับประเทศไทยแล้ว รถยนต์นั่งส่วนบุคคลส่วนมากจะเป็นเครื่องยนต์เบนซิน (ไม่น้บ PPV) ถึงแม้จะมีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเครื่องยนต์ดีเซลที่นำเข้ามาจำหน่าย หรือ ผลิตประกอบในเมืองไทย (เช่น ECO Car ของ Mazda) แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากราคาที่สูงกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์เบนซิน หรือ ดีเซล เมืองไทยก็มีมาตรฐานควบคุมทั้งรถยนต์ใหม่ และ รถยนต์ที่ผ่านการใช้งานไประยะเวลาหนึ่ง

ตัวอย่างมาตรฐานเพื่อควบคุมมลพิษจากรถยนต์ใหม่ เช่น

  • มาตรฐานการระบายมลพิษจากยานพาหนะใหม่ (เครื่องยนต์เบนซิน)
  • มาตรฐานการระบายมลพิษจากยานพาหนะใหม่ (เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก)
  • มาตรฐานการระบายมลพิษสำหรับยานพาหนะใหม่ (รถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่)
  • มาตรฐานการระบายมลพิษจากยานพาหนะใหม่ (รถจักรยานยนต์)

มาตรฐานเหล่านี้ ส่วนมากจะเป็นการอ้างอิงจากมาตรฐานสากล EURO ตัวอย่าง มลพิษที่ควบคุม เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไฮโครคารบอน (HC)

เมื่อมีการใช้งานรถยนต์ไประยะเวลาหนึ่งตามช่วงเวลาที่กฎหมายระบุไว้ ก่อนที่จะไปชำระค่าภาษีประจำปี ก็ต้องมีการตรวจสภาพ รวมถึงค่ามลพิษต่างๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมาย เช่น

  • ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไฮโดรคาร์บอน จากท่อไอเสียรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แก๊สโซลีน
  • ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด
  • ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดระดับเสียงของรถยนต์

 

แหล่งที่มา :

– http://www.theguardian.com/business/2015/sep/22/vw-scandal-caused-nearly-1m-tonnes-of-extra-pollution-analysis-shows

– http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/auto-mobile/auto-mobile/20150121/630021/โตโยต้ายังครองแชมป์รถขายดีที่สุดในโลก.html) *

– http://www.pcd.go.th/info_serv/reg_std_airsnd02.html

 




Writer

โดย ปริทัศน์ ชมเชย

วิทยากรที่ปรึกษาอาวุโส ส่วนจัดการธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
ฝ่ายปรึกษาแนะนำ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ