19 มิถุนายน 2015

3 d printing

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว  ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย  และเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่นิยมและกล่าวถึงในขณะนี้ก็ คือ การพิมพ์แบบ 3 มิติ (3D printing)  ซึ่งเป็นการสร้างโมเดลเสมือนจริงหรือการขึ้นรูปชิ้นงานนั่นเอง       เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 โดย Chuck Hull   แห่งบริษัท 3D Systems  Corporation  โดยเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้พัฒนาระบบการพิมพ์ 3  มิติคนแรก ๆ ของโลก   ปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติก็ได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ  ทำให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ  มีราคาถูกลง และมีการใช้งานที่ง่ายขึ้น

การพิมพ์ 3 มิติ (3D printing) เป็นเทคโนโลยีเฉพาะ  และยังเป็นช่องทางที่ดีสำหรับกลุ่มนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการรายเล็ก   หรือกลุ่มธุรกิจการผลิตที่มีความพิเศษในด้านการผลิตชิ้นส่วนประกอบ  เทคโนโลยีการผลิต 3D printing    มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว  ซึ่งเห็นได้จากการที่สามารถผลิตชิ้นงานที่มีความซับซ้อนได้ด้วยเครื่องพิมพ์ 3D  ภายในบ้าน   แม้ว่าสเปคเครื่องพิมพ์ 3D  ภาคอุตสาหกรรมจะใช้พลังงานมากขึ้นแต่ก็เพิ่มความเร็วและมีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น    ดังนั้น   3D printing  กำลังมีบทบาทสำคัญในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันเครื่องพิมพ์ 3D  สามารถปริ้นท์ได้กระทั่งคอนกรีต     หินสังเคราะห์ เซรามิก เนื้อเยื่อ แม้กระทั่งช็อคโกเลตและชีสก็ปริ้นท์ได้  ซึ่งเครื่องพิมพ์บางรุ่นยังสามารถปริ้นท์ เหล็ก  อลูมิเนียม และไทเทเนียมได้อีกด้วย

  จุดเด่นของการพิมพ์ 3D   

 ตอบสนองได้ถึงระดับบุคคล

การผลิตจำนวนมากสามารถผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคล   หลายคนต้องการชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล  และยินดีที่จะจ่ายเงินสำหรับความต้องการนั้น  ๆ   ดังนั้น   จึงมีตลาดสำหรับวัตถุในการพิมพ์ 3D    ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับที่ผลิตขึ้นตามความต้องการส่วนตัว เพื่อให้พอดีกับรูปร่างหรือออกแบบรูปร่างวัตถุนั้นด้วยตัวเอง   จึงทำให้สามารถผลิตสินค้าเพื่อบ่งบอกถึงเอกลักษณ์เฉพาะบุคคลได้ง่ายขึ้น เป็นการผลิตแบบตามสั่ง สามารถทำชิ้นเดียวได้ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการอย่างแท้จริง

ความแม่นยำ

ในทางการแพทย์สามารถเชื่อมโยงเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3D    กับการรักษาโรคในหลายๆ ด้าน    ซึ่งต้องการความแม่นยำสูง เช่น   ช่วยสร้างโครงร่างเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะของผู้ป่วย    โครงร่างใบหูแทนกระดูกอ่อนเพื่อให้เซลล์ของผู้ป่วยสร้างขึ้นมาห่อหุ้มเป็นใบหูใหม่    กระดูกนิ้ว    ชิ้นส่วนกระโหลก   ขาเทียม  ไปจนถึงการสร้างไตเทียมและหลอดเลือดเทียมซึ่งมีระบบโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนเท่าอวัยวะอื่น เป็นต้น

ลดการสูญเสียในการผลิต

สมัยก่อนเวลาจะขึ้นรูปอะไรสักรูป   ต้องหาวัสดุมาทำเป็นบล็อกเพื่อขึ้นรูป  หล่อเบ้าก่อนแล้วค่อยแกะออกเป็นรูปทรง  ซึ่งชิ้นส่วนที่ทำเป็นบล็อกไม่สามารถนำมาใช้ต่อได้    ส่วนใหญ่จะถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่การพิมพ์แบบ 3D นั้น  ไม่จำเป็นต้องทำเบ้า   สามารถสั่งให้คอมพิวเตอร์ขึ้นรูปได้เลย ซึ่งการทำแบบนี้เป็นการลงทุนที่ต่ำ   และสามารถลดการติดตั้งต่างๆ   ของภาคการผลิต ทำให้ดำเนินการได้รวดเร็วขึ้นและลดความเสี่ยงทางด้านการเงิน ตลอดจนลดการใช้วัตถุดิบเท่าที่จำเป็น ซึ่งนับเป็นวิธีการที่ประหยัดและคุ้มค่าต่อวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

สร้างธุรกิจท้องถิ่นให้แข็งแกร่งขึ้น

เราจะหันกลับมาสนใจท้องถิ่นกันมากขึ้น  และเกิดธุรกิจขนาดย่อมขึ้นมาอีกจำนวนมากมาขับเคลื่อนธุรกิจ และความต้องการจะเปลี่ยนไป Lewis กล่าวไว้ว่า “ ถ้าในอีก 10 ปี เทคโนโลยี 3D Printing นี้ไม่หายไปไหนเสียก่อน  อุตสาหกรรมจะมาโฟกัสกันที่ localize มากขึ้น”  ซึ่งมันก็น่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะเราไม่ต้องลงทุนมากมายมหาศาลเพื่อที่จะสร้างโรงงานสำหรับการผลิตสินค้าแต่อย่างใด  แต่หันมาโฟกัสกับสิ่งที่เป็น niche มากขึ้นแทน

ใช้โครงสร้างพื้นฐาน  Cloud  ที่มีประสิทธิภาพ

เตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพเพื่อผสมผสานอินเทอร์เน็ต , คลาวด์ และสมาร์ทโฟน เพื่อสนับสนุนรองรับการพิมพ์ 3D   ซึ่งสามารถใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูง    อัพโหลดและเปลี่ยนเป็นการวางแผนผลิตภัณฑ์โดยใช้การประมวลผลที่มีประโยชน์ซึ่งอยู่มากมายบนคลาวด์   หรือเมื่อขาดแรงบันดาลใจก็สามารถค้นหาและดาวน์โหลดแผน ข้อมูล   สำหรับทำสิ่งต่างๆ     หากอยากได้เครื่องประดับแบบไหน    อยากทานอะไรก็สามารถดาวน์โหลดออกมาและผลิตเองได้     แม้กระทั่งปืนก็ยังสามารถค้นหาวิธีการทำได้อย่างง่ายดาย  และสามารถใช้งานได้จริงซึ่งมีขายในระบบออนไลน์

การพิมพ์   3D   นั้นแม้จะมีประโยชน์มากเพียงใดแต่ก็เป็นเทคโนโลยีที่เปรียบเสมือนดาบสองคม   หากใช้เชิงสร้างสรรค์ก็จะเป็นประโยชน์ช่วยให้การดำเนินชีวิตได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น  แต่ในทางกลับกันก็อาจนำไปใช้ทำเรื่องเลวร้ายได้      สิ่งสำคัญคือ จิตสำนึกของผู้ใช้เพราะเป็นตัวตัดสินอนาคตของการพัฒนาต่อไปได้เช่นกัน

 

อ้างอิง

http://www.socialmediatoday.com/technology-data/2015-03-19/3d-printers-printing-future

http://mashable.com/2013/12/03/3d-printing-brandspeak/

http://www.bbc.com/news/science-environment-22421185

http://www.vcharkarn.com/varticle/57825

 




Writer

โดย พิมพ์พรรณ รัชนีกร

เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร ส่วนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ