17 มิถุนายน 2015

LeadershipDesigning

เมื่อไม่นานมานี้มีโอกาสไปพูดคุยกับนักบริหารหญิงคนเก่งของเครือบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย เกี่ยวกับการสร้างผู้นำในองค์กรที่ท่านทำมาอย่างต่อเนื่องสิบกว่าปีมาแล้ว ได้นำมาเขียนเป็นกรณีศึกษา Best Practices ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทของท่านได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class)  จึงอยากจะรู้ว่ามีความก้าวหน้าไปอย่างไร มีบทเรียนอย่างไรที่จะนำมาเผยแพร่ให้ผู้บริหารท่านอื่นได้เรียนรู้ด้วย

อาจจะกล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้บริหารคนเดียวในเครือนี้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ทำยอดขายหรือขยายตลาดเหมือน CEO คนอื่นๆ

เมื่อถามถึงเหตุผล ท่านก็ตอบว่าเมื่อเข้ามาทำงานในฐานะผู้บริหาร ก็ย่อมอยากเห็นองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากการสร้างคนเท่านั้น

ปรากฏว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมา ท่านได้สร้างกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก ที่น่าสนใจคือมีพนักงานรายวันหลายคน ที่มีวุฒิการศึกษาตอนเข้ามาเริ่มงานในระดับมัธยมปีที่ 3 ก้าวมาสู่ตำแหน่งผู้จัดการ และเรียนจบปริญญาโท ด้วยการส่งเสริมจากบริษัท พร้อมๆ กับการขยายกำลังการผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สร้างโรงงานผลิตเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งทั่วประเทศ

วันนี้อีก 2 ปีท่านจะเกษียณอายุการทำงาน ท่านบอกว่าไม่มีอะไรต้องห่วงอีกแล้ว เพราะคนของท่านทุกคนพร้อมที่จะขับเคลื่อนองค์กรนี้ไปได้อย่างต่อเนื่อง แม้สถานการณ์เปลี่ยน การทำธุรกิจยากขึ้น แต่การบ่มเพาะความเป็นผู้นำที่ทำมาอย่างยาวนาน ถ่ายทอดวิธีคิด ประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ ความสามารถ ทำให้ทุกคนมั่นใจ และมีความสุขในการทำงาน

ปัจจุบัน เครือบริษัทใหญ่เริ่มมีการตื่นตัวเรื่องการพัฒนาผู้นำใหม่ เช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจหลายแห่ง ผู้บริหารทุ่มเทงบประมาณซื้อโมเดลการพัฒนาผู้นำจากบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศเป็นสิบๆ ล้าน เริ่มตั้งแต่เครื่องมือการวิเคราะห์บุคลิกภาพ ศักยภาพ เพื่อจัดแบ่งกลุ่มในการพัฒนา มีหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ประเมิน วัดผลอย่างเป็นระบบ นั่นก็เป็นวิธีการหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้อยู่ในมือวิทยากรที่ปรึกษา ซึ่งเป็นคนนอก ผลจะเป็นอย่างไรต้องดูกันต่อไป

กลับมาที่ผู้บริหารหญิงคนเก่ง ที่ผ่านมาเครื่องมือของท่านคือ “ใจ” และประสบการณ์ล้วนๆ

“คนดี คนเก่ง” คือเป้าหมายในการออกแบบผู้นำของท่าน วิธีการก็คือการใช้งานเป็นเครื่องมือในการสร้างคนไปสู่เป้าหมาย เรียกว่า “การพัฒนาผู้นำใหม่ด้วย Project – Based Management”

เริ่มต้นด้วยการกำหนดคุณลักษณะของผู้นำใหม่ที่จะเป็นคนดีและคนเก่งอย่างที่ต้องการ ขั้นตอนต่อมาคือการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาในโครงการพัฒนาผู้นำใหม่โดยทีมผู้บริหาร ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์คนอย่างละเอียด มีการวางแผนการพัฒนา วิธีการประเมิน ติดตามผล การสร้างแรงจูงใจ ก่อนจะมอบหมายโครงการให้ไปทำในฐานะผู้บริหารโครงการ โดยตัวท่านเองทำหน้าที่เป็นโค้ช และกำกับดูแลตลอดโครงการ

การใช้ Project – Based Management ไม่ใช่เรื่องใหม่ และทำกันอยู่หลายองค์กร แต่การใช้เครื่องมือนี้อย่างมีประสิทธิผล ผู้บริหารระดับสูงต้อง “เล่นเอง” อย่างจริงจัง เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ประการหนึ่ง แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการถ่ายทอดวิธีคิด ที่จะทำให้ผู้นำกลุ่มใหม่สืบทอดวิธีคิดและวิธีการได้อย่างสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน

ในระหว่างการทำโครงการ การสื่อสารทั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการเป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสม ทำและประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ ความศรัทธาในตัวผู้นำเป็นปัจจัยเอื้อไปสู่ความสำเร็จ

การสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรให้กระตุ้นความกระหายที่จะเรียนรู้ การสนับสนุนการศึกษาของคนในองค์กร เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เสมือนแรงส่งสำคัญที่จะทำให้คนในองค์กรรู้สึกว่าผู้บริหารเห็นคุณค่าของพวกเขา ชีวิตการทำงานของเขามีความก้าวหน้า มีอนาคตที่มั่นคง

ผลที่องค์กรจะได้รับไม่ใช่แค่กลุ่มผู้นำใหม่ที่พร้อมจะพาองค์กรก้าวไปข้างหน้า แต่ความผูกพัน (Engagement) ที่มีต่อองค์กรจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ องค์กรจะมีทีมผู้บริหารที่ทำงานอย่างทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ พร้อมกำลังความคิด และแน่นอนด้วยการเห็นประโยชน์และซึมซับวิธีการอย่างเป็นรูปธรรม พวกเขาจะส่งผ่านสิ่งเหล่านี้ต่อไป ในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ได้สัมผัสจากการเข้าไปศึกษาองค์กรนี้อยู่ระยะเวลาหนึ่งก็คือ ความสุขของคนทำงาน ความสนิทสนมระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับทีมงาน วัฒนธรรมองค์ที่เข้มแข็งซึ่งแสดงให้เห็นจากวิถีปฏิบัติ และการแสดงความคิดเห็น บรรยากาศแห่งความกระหายในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และรอยยิ้มแห่งความเชื่อมั่นของผู้บริหารหญิงคนเก่งจากวันนั้นถึงวันนี้

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดแค่เพียงหนึ่งหรือสองปี ไม่ได้มีโมเดลที่ชัดเจน  ตายตัว หรือหลักสูตรสำเร็จรูป แต่ระยะเวลาได้สร้างบทเรียนจากการลองผิดลองถูก ปรับเปลี่ยนวิธีการ ผ่านความล้มเหลว ผ่านความสำเร็จ ด้วยความทุ่มเท และทำทุกอย่างด้วยใจที่มุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูงท่านนี้

ดังสำนวนที่ว่า “อยากได้มะม่วง ก็ต้องปลูกมะม่วง” นั่นเอง

 

ที่มา : Productivity Food for Thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น