31 มีนาคม 2015

iso-50001-energy-managementISO ( International Organization for Standardization )  หรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ได้ประกาศมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 Energy Management Systems – Requirements with guidance for use ตั้งแต่พ.ศ 2554 (First edition 2011-06-15) ซึ่งก็มีหลายองค์กรในเมืองไทยนำมาตรฐานนี้ไปปฏิบัติและขอการรับรองจาก Certified Body โดยในปีต่อมา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ก็นำมาตรฐานดังกล่าวออกเป็นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4413(พ.ศ.2555)  เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ระบบการจัดการพลังงาน – ข้อกำหนดและข้อแนะนำในการใช้ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 4 กค.2555) ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการแปลมาตรฐาน ISO 50001 เป็นภาษาไทย

ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ปีพ.ศ. 2552 กระทรวงพลังงานได้ใช้อำนาจตามกฎหมายการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ออก กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ.2552 พร้อมทั้งกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องออกตามมา ซึ่งกฎหมายเหล่านี้จะกำหนดให้ โรงงานควบคุม และอาคารควบคุม ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานตามแนวทางที่กฎหมายระบุไว้ เช่น กำหนดนโยบาย การแต่งตั้งคณะทำงาน การประเมินการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ กำหนดเป้าหมายแผนอนุรักษ์พลังงาน การตรวจติดตาม การทบทวน ฯลฯ กล่าวแบบสรุป คือ นำหลักการของมาตรฐาน ISO 50001 มาใช้ แต่เน้นเฉพาะประเด็นที่สำคัญ

หลายคนที่ไม่ได้ทำงานหรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับมาตรฐาน  ISO 50001 คงคิดว่ามาตรฐาน ISO ในกลุ่ม Energy Management  มีเพียงมาตรฐาน ISO 50001 เท่านั้น เพราะข่าวคราวต่าง ๆ ค่อนข้างเงียบหาย  หรือไม่อยู่ในกระแส

แต่ในปีที่ผ่านมา ISO ได้ออกมาตรฐานด้าน Energy Management อีกหลายฉบับมาตรฐานในกลุ่ม Energy Management ที่ ISO ประกาศเพิ่มเติม มีดังนี้

• ISO 50002:2014 Energy audits — Requirements with guidance for use

• ISO 50003:2014 Energy management systems — Requirements for bodies providing audit and certification of energy management systems

• ISO 50004:2014 Energy management systems — Guidance for the implementation, maintenance and improvement of an energy management system

• ISO 50006:2014 Energy management systems — Measuring energy performance using energy baselines (EnB) and energy performance indicators (EnPI) — General principles and guidance

• ISO 50015:2014 Energy management systems — Measurement and verification of energy performance of organizations — General principles and guidance

ใครที่เคยผ่านงานด้านมาตรฐาน ISO 9001 หรือมาตรฐาน ISO 14001 มาก่อน ก็อาจแปลกใจบ้างที่ มาตรฐานในกลุ่ม Energy Management ทำไมมีหลายฉบับ แต่หากใครที่ได้ศึกษา หรือ นำมาตรฐาน ISO 50001 ไปปฏิบัติมาก่อน ก็จะพอทราบว่ามาตรฐาน ISO 50001 นั้น มีการระบุในประเด็นที่ต้องแสดงเป็นตัวเลข หรือ จับต้องได้

เช่น ข้อมูลฐานด้านพลังงาน( energy baseline) ดัชนีวัดสมรรถนะด้านพลังงาน (energy performance indicator) ฯลฯ ซึ่งผู้เขียน คาดว่า ISO เอง ก็คงต้องการให้มีการนำมาตรฐาน ISO 50001 ไปปฏิบัติเพื่อส่งผลให้เกิดการปรับปรุงสมรรถนะพลังงานที่ชัดเจน จึงได้ระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เพื่อออกมาตรฐานเพิ่มเติมขึ้นมา โดยหวังให้องค์กรต่าง ๆ ศึกษาและนำไปเสริมกับมาตรฐาน ISO 50001 ที่ปฏิบัติอยู่ ใครที่สนใจรายละเอียดก็ลองไปค้นคว้าศึกษากันดูครับ

 

อ้างอิง http://www.iso.org/iso/home/news_index/news_archive/news.htm?refid=Ref1915
ภาพจาก http://www.compliance365.co.uk/Content/img/iso-50001-energy-management.jpg



Writer

โดย ปริทัศน์ ชมเชย

วิทยากรที่ปรึกษาอาวุโส ส่วนจัดการธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
ฝ่ายปรึกษาแนะนำ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ