30 มีนาคม 2015

ปกติคนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตนั้น เก่งเรื่องการคิดในเชิงตรรกะ ซึ่งเป็นการคิดวิเคราะห์จากเหตุไปหาผล หรือบางครั้งเมื่อจะแก้ไขปัญหาก็คิดย้อนทางจากผลไปหาเหตุด้วย อันเป็นการคิดที่มีรูปแบบ มีการตั้งสมมติฐานต่างๆ กัน ให้ความสำคัญกับโครงสร้างขององค์กรที่มีอยู่ และสนใจอย่างมากกับการศึกษาลงลึกในรายละเอียด  สิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นรากฐานความคิดของระบบคุณภาพทั้งสิ้น

ผู้เขียนมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า คุณภาพกับนวัตกรรม เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ผู้ศึกษาบางคนพูดกันคนละมิติ เลยดูเหมือนเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน  หากไปถามเซนเซชาวญี่ปุ่นที่เก่งเรื่องคุณภาพจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนวัตกรรม เพราะคนที่ทำเรื่องคุณภาพอย่างลึกซึ้งยาวนาน จะเข้าใจทะลุปรุโปร่งว่า  การพัฒนาคุณภาพกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (ทั้งสองประเด็นล้วนแล้วแต่ต้องทำ “อย่างต่อเนื่อง” ทั้งสิ้น) เป็นเรื่องเดียวกัน

หากไปถามผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตกโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะเน้นเรื่องของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือนวัตกรรม มากกว่าที่จะพูดเรื่องของคุณภาพ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะเขาไม่สนใจ แต่เป็นเพราะปรัชญาในการมองการพัฒนาสินค้าและบริการแตกต่างกันในพื้นฐาน  ฝรั่งเป็นคนสร้างระบบคุณภาพขึ้นมา แต่เป็นการพัฒนาภายหลังจากที่มีการทำนวัตกรรมแล้ว  แปลว่า หลังจากสร้างสินค้าหรือบริการใหม่ขึ้นมา วิธีที่จะทำให้สินค้าหรือบริการใหม่นั้น  มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากลูกค้า ก็ต้องอาศัยระบบคุณภาพเข้ามาช่วย ทั้งในเรื่องของการทำให้เป็นมาตรฐาน การควบคุมต้นทุน ค่าใช้จ่าย และการรักษาหรือเพิ่มผลิตภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี  ฝรั่งส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างสิ่งใหม่ก่อนเรื่องคุณภาพ อาจเปรียบทำนองว่า   เอาไก่พันธ์ใหม่ก่อนระบบการจัดการฟาร์มที่ดี

ส่วนแนวทางแบบญี่ปุ่นหรืออาจจะเลยเถิดไปว่า   แนวทางแบบตะวันออกนั้น นิยมเอาเรื่องระบบการจัดการฟาร์มที่ดี    สำหรับไก่พันธ์ที่มีอยู่ก่อน แล้วจึงไปให้ความสนใจกับการพัฒนาไก่พันธ์ใหม่ ซึ่งอาจเป็นไก่ที่จะออกไข่ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นได้  ทั้งสองเรื่อง จึงไม่มีใครมาก่อนมาหลัง แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำทั้งคู่ ขึ้นกับมุมมอง ปรัชญา และวิธีคิดขององค์กรเป็นสำคัญ    ผู้เขียนอยากจะสร้างความท้าทายสำหรับคนรักนวัตกรรมขึ้นมาอีกขั้น โดยการนำแนวคิดของกลุ่มที่ออกจะมีแนวทางแบบศิลปินเล็กน้อย เข้ามาปรับใช้กับเรื่องของนวัตกรรม นั่นคือ เอาวิธีคิดของนักออกแบบหรือดีไซเนอร์ เข้ามาใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่สำหรับองค์กร

ก่อนอื่น  ผู้เขียนขอเรียนว่า การคิดเชิงออกแบบนี้ เป็นสิ่งที่ออกจะแตกต่างกับวิธีคิดเชิงตรรกะตามปกติที่กล่าวถึงข้างต้นบ้าง เช่น

innovationThink-1

ผู้เขียนไม่คิดว่า แบบใดดีกว่าแบบใด เพราะวัตถุประสงค์ของการใช้งานแตกต่างกัน ที่นำเรื่องการคิดเชิงออกแบบเข้ามา เพราะผู้เขียนปรารถนาเห็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยวิธีการและกลยุทธ์ที่หลากหลาย

เพราะโลกธุรกิจวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก การอาศัยเครื่องมือเดิมที่มีอยู่ไม่เพียงพอแล้ว เพราะเครื่องมือเดิมนั้น เรารู้แล้ว คนอื่นก็รู้แล้วเช่นกัน เมื่อทำธุรกิจแข่งขันกันด้วยเครื่องไม้เครื่องมือเดิม มันก็จะเหนื่อย หาความแตกต่างได้ยาก จึงน่าที่จะลองเครื่องมือใหม่ที่แปลก ไม่คุ้นเคย และไม่อาจรู้ได้ว่า จะใช้งานได้จริง สะดวกหรือไม่มากน้อยเพียงไร เข้ามาลองปฏิบัติดู ไม่แน่ว่า อาจได้นวัตกรรมที่แตกต่างจากคู่แข่งอย่างสิ้นเชิงก็ได้      แต่ถ้าหากไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง ขอให้คิดเสียว่า การทดลองทดสอบสิ่งใหม่ คือ กระบวนการอย่างหนึ่งของการรังสรรค์นวัตกรรม ผลอาจไม่เกิด แต่อย่างน้อยเราได้บ่มเพาะวัฒนธรรมนวัตกรรมทีละเล็กทีละน้อยให้กลายเป็นดีเอ็นเอขององค์กรตั้งแต่วันนี้    เมื่อนำวิธีการคิดเชิงออกแบบมาใช้ขอให้เข้าใจก่อนว่า เราไม่ได้หวังผลแบบเดิม และไม่ทำนวัตกรรมแบบเดิมแล้ว

innovationThink-2

หากพิจารณาผิวเผินอาจเข้าใจว่า การคิดเชิงออกแบบนั้น ออกจะดูไม่มีทิศทางไปสักหน่อย ความจริงก็น่าจะใกล้เคียงอย่างนั้น ถ้ามองด้วยสายตาแบบเดิม ผ่านวิธีคิดเชิงตรรกะไป   การคิดเชิงออกแบบไม่ได้ต้องการเปลี่ยนบุคลากรในองค์กรให้กลายเป็นครีเอทีฟจนหมด แต่ต้องการให้ทำในเรื่องที่เสี่ยงน้อย ด้วยการอาศัยวิธีคิดแบบนักออกแบบ โดยการทดลอง ทดสอบ ผ่านการวาด เขียน ขยำทิ้ง วาดใหม่ ร่างใหม่ แล้วอาจขยำทิ้งไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะได้แบบที่พึงพอใจ   หากนักนวัตกรสามารถรักษาสมดุลได้ดีระหว่าง ไอเดียทางธุรกิจ กับไอเดียเชิงศิลป์ได้ จะสามารถสร้างนวัตกรรมที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ระเบียบกับความไร้ระเบียบ ได้ดี และน่าจะเป็นนวัตกรรมที่ติดเก๋ ดูเท่ห์นิดๆ  ไม่แข็งกระด้างเหมือนนวัตกรรมที่ทำกันตามปกติ

ดูเหมือนการคิดนวัตกรรมด้วยวิธีคิดเชิงออกแบบจะมี  “ความสนุก”  มากกว่าการคิดนวัตกรรมด้วยตรรกะ ใช่หรือไม่?

ความจริงไม่น่าจะใช่ทั้งหมด จริงอยู่ว่า การคิดเชิงออกแบบสามารถดูให้เป็นเรื่องสนุก และทำให้เป็นเรื่องสนุกได้ แต่หากลองลงมือทำจริงๆ แล้ว  ความสนุกนั้นจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น เพราะเราไม่ได้หวังผลลัพธ์ที่ความสนุกสนานในการลงมือปฏิบัติ  หากแต่ต้องการผลลัพธ์รูปธรรมเป็นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างแตกต่าง ฉีกหนีจากคู่แข่งไปอย่างสิ้นเชิง

คุณสมบัติและความสนใจของการคิดเชิงออกแบบ เมื่อเปรียบเทียบกับการคิดเชิงตรรกะ

innovationThink-3

การคิดเชิงออกแบบแตกต่างจากการคิดเชิงตรรกะ แต่สามารถสนับสนุนกันและกันได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ วิสัยทัศน์ และเป้าหมายขององค์กรเป็นสำคัญ เพราะการคิดสองแบบนี้ อยู่กันคนละแกน คนละมิติมุมมอง หากพิจารณาในแบบเมตริกซ์แล้วคือ

innovationThink-4

นวัตกรรมแบบปกติ ด้วยวิธีคิดเชิงตรรกะจะวิ่งในเส้นแนวนอนแกน x ระหว่างน้ำหนักความใหม่ (กับดักของความใหม่) หากนวัตกรรมที่ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ หรือกระบวนการนั้น มีความใหม่น้อย ก็จะเป็นนวัตกรรมแบบปรับปรุงเล็กน้อย หรือแนวไคเซ็น อันนี้ค่อนข้างใกล้กับเรื่องของระบบคุณภาพแบบที่องค์กรถนัดกันเป็นส่วนใหญ่ หากความใหม่วิ่งไปทางขวาก็จะมีน้ำหนักของความเป็นนวัตกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นการประดิษฐ์ใหม่ คิดค้นใหม่ กลายเป็นนวัตกรรมที่แตกต่างจากคู่แข่งในแง่ที่เป็นสินค้าและบริการใหม่ (หมายความว่า ไม่เคยมีใครทำสิ่งนี้มาก่อน หรือคู่แข่งเรายังไม่ได้ทำ)     ในมุมมองของนวัตกรรมเชิงการออกแบบ จะสนใจในรูปการวิ่งแนวตั้งแกน Y ระหว่างการให้ความสนใจกับการออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งาน และการออกแบบที่เป็นรูปแบบของนวัตกรรมนั้นๆ

ยกตัวอย่าง   เช่น โทรศัพท์มือถือ เราใช้วิธีการโทรออกด้วยการกดปุ่ม หากคิดแบบตรรกะ เราจะสนใจว่า ทำอย่างไรให้มีการเรียงลำดับ หรือการพัฒนาปุ่มกดให้ผู้ใช้ สามารถใช้งานได้ดีขึ้น อาจเป็นการเรียงสลับตัวอักษรใหม่ให้สามารถพิมพ์ข้อความได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว     หากเป็นนักออกแบบจะคิดการเปลี่ยนแปลงไปอีกทาง คือ สนใจว่าจะทำอย่างไรไม่ต้องใช้ปุ่มกด การไม่มีปุ่มกดแปลว่า ต้องออกแบบใหม่ ซึ่งนำไปสู่การคิดโทรศัพท์แบบทัชสกรีน ซึ่งการทำงานหลักๆ ยังคงเป็นเหมือนเดิม เพียงแต่การออกแบบช่วยให้นวัตกรรมนั้น มีหน้าตาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  แน่นอนว่า การคิดเชิงออกแบบยังไม่ใช่จุดสุดท้ายของการทำนวัตกรรม

เพราะต่อให้นักออกแบบสามารถคิดนวัตกรรมที่มีรูปแบบที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิงได้ก็ตาม แต่ถ้าหากสายการผลิตไม่รองรับ นวัตกรรมนั้นๆ ก็ไม่เกิด     การออกแบบที่ดีจึงยังไม่พอ  เรายังคงต้องการวิศวกรรมชั้นเลิศมาสนับสนุนด้วยเหมือนเดิม ผู้เขียนจึงได้กล่าวว่า ทั้งสองวิธีคิดนี้ สนับสนุนกันและกัน เพียงแต่น้ำหนักเอียงไปในช่องของเมตริกซ์ที่แตกต่างกันเท่านั้น จะหนักเบาขนาดไหน ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ขององค์กรนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเป็นหัวใจของการสร้างนวัตกรรม

กลับกันหากเรามีการประดิษฐ์ที่เป็นเลิศ แต่ปราศจากการออกแบบที่ดี นวัตกรรมนั้นก็อาจได้รับความสนใจที่น้อยลง เนื่องจากลูกค้าในปัจจุบันให้ความสนใจกับการออกแบบมากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ผลิตสินค้าและบริการในปัจจุบัน   ต่างผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบที่คล้ายๆ กันทั้งสิ้น เมื่อความเหมือนกันในแง่การใช้งานสูง และเมื่อราคาของสินค้าและบริการแต่ละแบรนด์มีความใกล้เคียงกัน สิ่งที่จะชี้การตัดสินใจของลูกค้าได้ก็คือ การออกแบบ (ดีไซน์) ที่น่าสนใจ และดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม   เมื่อกล่าวถึงการออกแบบแล้ว หลายคนมักจะนึกว่า หมายถึง การออกแบบภายนอกเพียงอย่างเดียว ความจริงแล้ว การออกแบบที่สำคัญกว่าไม่แพ้กันคือ “การออกแบบเชิงวิศวกรรม”  ซึ่งอยู่ด้านล่างของแกน Y ในเมตริกซ์ข้างต้น   เนื่องจากการออกแบบนั้น มีเป้าหมายปลายทางที่สำคัญอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ ออกแบบให้ดูสวยงาม น่าใช้งาน  สอง คือ ออกแบบเพื่อให้ฟังก์ชั่นการทำงานดีขึ้น อันเป็นการออกแบบเชิงการทำงาน หรือ เชิงวิศวกรรมนั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า  การผสมผสานระหว่างสุนทรียภาพ (Aesthetic) กับประโยชน์ใช้สอย (Functionality) และการใส่เทคโนโลยีที่พอดี (Appropriate Technology) เป็นหัวใจหลักของการสร้างนวัตกรรมในปัจจุบัน    การคิดเชิงออกแบบเพื่อสร้างนวัตกรรมจึงทำได้ตั้งแต่ การปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อยบางอย่าง แต่ตัวประโยชน์ยังเหมือนเดิม (เป็นเรื่องการออกแบบอย่างเดียว) จนถึงการเปลี่ยนแปลงที่ระดับคอนเซ็ปต์ของสินค้าและบริการ กลายเป็นการสร้างของใหม่อย่างสิ้นเชิง (เป็นการออกแบบที่สร้างนวัตกรรมขึ้นมา) ในสเปกตรัมระหว่างสองส่วนนี้ ยังสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ปลีกย่อยได้อีกมากมาย คล้ายไม่รู้จบ อยู่ที่ว่าสิ่งที่พัฒนาขึ้นมานั้น จะสามารถดึงดูดความสนใจจากลูกค้าหรือผู้บริโภคได้หรือไม่   สำคัญที่สุดคือ ต้องเริ่มทำต่อให้การออกแบบใหม่นั้นจะยังไม่สมบูรณ์เพียบพร้อมดีพอ แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเป็นหัวใจของการสร้างนวัตกรรม ซึ่งในท้ายที่สุดจะกลายเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในองค์กรอย่างถาวร กลายเป็นวัฒนธรรมของการรังสรรค์สิ่งใหม่ผ่านการออกแบบ ซึ่งจะเป็นเอกลักษณ์ติดตัว และคู่แข่งขันไม่สามารถแย่งชิงไปได้      เพราะวิธีคิดในการออกแบบนั้นเลียนแบบกันไม่ได้ต่อให้ลอกแบบตามกัน แต่คนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง   อย่างไรก็เป็นผู้นำ

การคิดเชิงออกแบบเพื่อสร้างนวัตกรรม จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับองค์กรที่มุ่งมั่นเรื่องนวัตกรรม โดยหยิบยืมเอาเทคนิควิธีของนักออกแบบเข้ามาใช้งานในกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม องค์กรก็อาจได้สิ่งใหม่ด้วยวิธีการใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการที่มักจะไม่อยู่กับร่องกับรอย เหมือนจะหมุนไปหมุนมาตลอดเวลา อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวงการออกแบบนวัตกรเชิงตรรกะ    หากใช้วิธีคิดเชิงออกแบบแรกๆ อาจจะงงบ้าง ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะวิธีคิดแตกต่างกัน แต่หากใช้งานไปสักระยะ น่าที่จะชอบเพราะเติมเต็มจุดอ่อนของการคิดเชิงตรรกะได้ หากใช้บ่อยๆ อาจเปลี่ยนภาพลักษณ์จากนวัตกรใส่เสื้อช้อป ลุยโรงงาน ไปเป็นนวัตกรสวมเสื้อเชิร์ตนุ่งยีนส์ ลุยห้างเดินดูแฟชั่นที่มาล่าสุด    การเปลี่ยนวิธีคิดจะนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีทำ สิ่งที่ตามมาก็คือ ผลลัพธ์ของการพัฒนาที่ไม่เหมือนเดิมซึ่งย่อมเป็นเรื่องที่องค์กรปรารถนาให้เกิดขึ้นทุกวันนั่นเอง




Writer

โดย ปรีดา ยังสุขสถาพร

ผู้อำนวยการอาวุโส
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)