26 มีนาคม 2015

ในปัจจุบันการพัฒนาองค์กร เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ มีความสามารถในการแข่งขัน เป็นที่ยอมรับและเป็นต้นแบบขององค์กรที่ประสบความสำเร็จให้แก่องค์กรอื่นๆ รวมถึงสามารถรักษาความสำเร็จให้เกิดขึ้นยั่งยืนไว้ได้นั้น นอกจากจะต้องเป็นองค์กรที่ “เก่ง” แล้วยังต้องเป็นองค์กรที่ “ดี” และมี “สติ” ด้วย

คำว่า องค์กร “เก่ง” นั้นจะหมายถึงองค์กรที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการนำไปปฏิบัติอย่างทั่วถึง มีการทบทวน วิเคราะห์และปรับปรุงการดำเนินงาน รวมถึงมีความสอดคล้องไปในทิศทางที่องค์กรต้องการ เพื่อนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศในด้านต่างๆ นอกจากนั้นยังสร้างให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในระดับองค์กร และบุคลากรในองค์กรด้วย

ส่วนคำว่าองค์กร “ดี” จะเป็นองค์กรที่มีการกำกับดูแลองค์กรที่ดี มีความโปร่งใสในการทำงาน มีการประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์และการดำเนินงานขององค์กร ร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงมีการต่อต้านการทุจริต คอรัปชั่น

ในส่วนของคำว่าองค์กรที่มี “สติ” นั้นจะหมายถึงองค์กรที่มี “ความประมาณตน” มีความตระหนักรู้ตัวเองตลอดเวลา ถึงสิ่งที่องค์กรตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำ การรู้ตัวเองเสมอที่จะไม่ทำอะไรที่เกินตัว จนนำมาซึ่งความเสียหายในอนาคต “ความมีเหตุผล” ที่การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง รวมถึงการเป็นองค์กรที่มี “ความมีภูมิคุ้มกัน” ที่จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย หรือเกิดความเสียหายขึ้นน้อยที่สุดกับองค์กร ซึ่งก็คือการนำ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรนั่นเอง

ถ้าหากจะเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของการเป็นองค์กร “เก่ง” “ดี” และมี “สติ” แล้วก็เหมือนกับคนที่ขี่จักรยาน (ดังแสดงในรูปที่ 1) นั่นเอง โดยเปรียบการทำให้องค์กร “เก่ง” ที่มีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ กับล้อหลัง เพราะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนให้จักรยานเคลื่อนไปข้างหน้า ส่วนของการเป็นองค์กร “ดี” จะเปรียบเทียบกับล้อหน้า ที่เป็นตัวนำพาองค์กรไปยังทิศทางที่ควรจะเป็น ไปยังทิศทางที่ถูกต้อง สามารถทำให้องค์กรเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนขององค์กรที่มี “สติ” จะเปรียบเหมือนกับคนที่ขี่จักรยานที่จะต้องรู้ตัวเองว่ามีความสามารถมากน้อยเพียงใด การรู้จักตนเอง ว่าอะไรเป็นจุดแข็ง อะไรเป็นจุดอ่อน อะไรคือความท้าทาย อะไรคือความได้เปรียบ และอะไรเป็นโอกาส รู้ว่าจังหวะไหนควรจะเร่งความเร็ว จังหวะไหนควรจะผ่อนลง เพื่อให้สามารถรักษากำลังในการที่จะขับขี่ไปได้จนถึงจุดหมาย เปรียบได้กับองค์กรที่จะต้องรู้ว่าเมื่อไรควรจะลงทุน เมื่อไรควรจะถอยออกมาจากธุรกิจนั้น และควรจะลงทุนมากน้อยเพียงใดให้เหมาะสมกับความพร้อม และความสามารถขององค์กร     นอกจากนั้น   ในการขี่จักรยาน ควรจะรู้ว่าเหตุผลใดเราจึงจะไปทางนี้ ทำไมไม่ไปอีกทาง เราควรจะไปทางไหนที่สะดวกกว่า และช่วยให้ไปถึงจุดหมายได้ มีเหตุและผลในการตัดสินใจ มีการศึกษา เก็บข้อมูล และวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจ ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นจริง เชื่อถือได้ และพร้อมใช้งานตลอดเวลาที่ต้องการ รวมถึงมีการวางแผนกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับทิศทางหรือจุดหมายที่องค์กรต้องการจะไปด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ในขณะที่จักรยาน ผู้ขี่จะต้องมีความตระหนักถึงความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา จะต้องมีสติ และให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ป้องกันภัยต่างๆ ที่จะช่วยให้เกิดการบาดเจ็บน้อยที่สุดหากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การศึกษาเส้นทางล่วงหน้า การตรวจสภาพของจักรยานให้มั่นใจถึงความสมบูรณ์ก่อนเดินทาง การพักผ่อนและดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี เป็นต้น

RidingSustain-1รูปที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ของปัจจัยความสำเร็จอย่างยั่งยืนด้วย Riding Model

วิถีแห่งความเป็นเลิศ (เก่ง)

การจะเป็นองค์กรที่เก่งได้นั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถขององค์กรในการส่งมอบคุณค่าที่ดีอย่างต่อเนื่องให้แก่ลูกค้า ทั้งลูกค้าในปัจจุบันและลูกค้าในอนาคต การพัฒนาความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับกับคู่แข่งทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง คือ เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ Thailand Quality Award (TQA)      ในเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ จะมีการแบ่งการดำเนินการออกเป็น 6 กระบวนการหลัก ประกอบด้วย 1) การนำองค์กร 2) การวางแผนกลยุทธ์ 3) การมุ่งเน้นลูกค้า 4) การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ 5) การมุ่งเน้นบุคลากร และ 6) การมุ่งเน้นการปฏิบัติการ (ดังแสดงในรูปที่ 2)

RidingSustain-2รูปที่ 2 แสดงองค์ประกอบของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (รูปจาก www.tqa.or.th)

การนำองค์กร จะแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของผู้นำระดับสูง ในการกำหนดและสื่อสารทิศทางขององค์กร ผ่านการกำหนดวิสัยทัศน์และค่านิยม การสร้างบรรยากาศในองค์กรที่มุ่งเน้นลูกค้า ผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ และการสร้างนวัตกรรม รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงานและมีการปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

การวางแผนกลยุทธ์ จะเป็นการดำเนินการวางแผนถึงสิ่งที่องค์กรจะต้องดำเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ รวมถึงการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น การสร้างความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ และสมรรถนะหลักขององค์กร การถ่ายทอดแผนกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ และการติดตามวัดผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการคาดการณ์ถึงผลการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นทั้งกับองค์กรเองและของคู่แข่ง เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจและการปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ขององค์กร

การมุ่งเน้นลูกค้า จะเป็นการดำเนินการที่มุ่งสู่การสร้างความพึงพอใจ และความผูกพันลูกค้า ด้วยการตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งลูกค้าในปัจจุบัน ลูกค้าในอนาคต ลูกค้าในอดีต และลูกค้าของคู่แข่ง รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และการสนับสนุนลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ จะเป็นการออกแบบ การวางแผน การรวบรวม การวิเคราะห์ รวมถึงการนำข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในการตัดสินใจ การวางแผน การดำเนินการ การปรับปรุง และการสร้างนวัตกรรม รวมถึงมีการจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิผลเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและการสร้างนวัตกรรมต่อไป นอกจากนั้น  ยังต้องมีการจัดการข้อมูล สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมใช้งาน ปลอดภัย และสะดวกต่อการเข้าถึงเพื่อนำมาใช้ในการทำงาน

การมุ่งเน้นบุคลากร จะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถ มีความผูกพันและมีความมุ่งมั่นในการสร้างผลการดำเนินงานที่ดีให้เกิดขึ้นกับองค์กร โดยจะต้องพิจารณาตั้งแต่ การวางแผนด้านบุคลากร การสรรหาบุคลากรที่ใช่สำหรับองค์กร การสร้างความผูกพัน วัฒนธรรมองค์กร สภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีความสุขและปลอดภัย การพัฒนาบุคลากร  และการวางแผนความก้าวหน้าในอาชีพให้แก่บุคลากรในองค์กรอย่างต่อเนื่อง 

การมุ่งเน้นการปฏิบัติการ จะให้ความสำคัญกับการออกแบบกระบวนการ การนำกระบวนการไปปฏิบัติ การทบทวน วัดผลและปรับปรุงผลการดำเนินงานของกระบวนการต่างๆ ทั้งที่เป็นกระบวนการหลัก และกระบวนการสนับสนุน นอกจากนั้น ยังมุ่งเน้นให้องค์กรได้มีการควบคุมต้นทุนการดำเนินการ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การบริหารความปลอดภัยและความต่อเนื่องทางธุรกิจ รวมถึงกระบวนการจัดการนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิผลด้วย

ทั้งนี้ การวัดผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศจะแสดงออกมาใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการ 2) ด้านการมุ่งเน้นลูกค้า 3) ด้านการมุ่งเน้นบุคลากร 4) ด้านการนำองค์กรและการกำกับดูแลองค์กร และ 5) ด้านการเงินและตลาด

วิถีแห่งความยั่งยืน (ดี)

ในขณะที่ องค์กรที่ดี จะหมายถึงองค์กรที่ให้ความสนใจและส่งเสริมให้เกิดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (Environment) การดูแลและรับผิดชอบต่อสังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) ซึ่งต้องมีความสมดุลกับผลการดำเนินงานขององค์กรด้วย (Economic) หรือที่เราเรียกว่า ESG

ปัจจุบันทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทที่จดทะเบียน หรือที่เรียกว่า Sustainability Development Roadmap ซึ่งให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่ ESG โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้ถือหุ้น ความยั่งยืนของกิจการ และความยั่งยืนของสังคม ตามลำดับ ดังแสดงในรูปที่ 3

RidingSustain-3รูปที่ 3 แสดงกรอบการพัฒนาความยั่งยืน

ในส่วนของการกำกับดูแลกิจการ นอกจากจะให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ การดูแลสิทธิและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมแล้วยังรวมไปถึงการดูแลและรักษาสมดุลของความต้องการและผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญขององค์กรด้วย รวมถึงยังให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังกับการต่อต้านการทุจริต คอรัปชั่น และการดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานที่องค์กรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ด้านสิ่งแวดล้อม จะพบว่าในปัจจุบันการตัดสินใจ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรต่างๆ ขององค์กร สถานที่ดำเนินกิจกรรมขององค์กร การสร้างมลพิษและของเสียในรูปแบบต่างๆ รวมถึงผลกระทบในด้านอื่นๆ ที่มีต่อแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และระบบนิเวศ ดังนั้น องค์กรควรจะใช้แนวทางเชิงบูรณาการ ที่มีการคำนึงถึงผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม มาประกอบในการตัดสินใจ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ  เพื่อลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นด้วย

การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม จะครอบคลุมตั้งแต่การป้องกันการเกิดมลภาวะที่เป็นพิษ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การจัดการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม การดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ และการส่งเสริมการฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ทางธรรมชาติ

ส่วนด้านสังคม จะครอบคลุมทั้งในส่วนของการดูแลบุคลากรภายในองค์กร การคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงองค์กรการดำเนินการที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในระดับกลยุทธ์และระดับปฏิบัติการ มีการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนที่สำคัญขององค์กรให้มีความเข้มแข็ง

ทั้งนี้องค์กรจะสามารถแสดงถึงผลลัพธ์ของการดำเนินการในส่วนนี้ได้จาก ระดับความผูกพันของบุคลากรที่มีต่อองค์กร อัตราการเกิดอุบัติเหตุ ความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อการปฏิบัติขององค์กร ภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร การยอมรับของชุมชน การปฏิบัติตามข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลตอบแทนจากการลงทุนทางสังคม รวมไปถึงดัชนีชี้วัดต่างๆ ทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง

 วิถีแห่งความพอเพียง (สติ)

คำว่า องค์กรที่มีสติ จะเป็นการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งจะครอบคลุมใน 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกัน รวมถึงอีก 2 เงื่อนไขคือความรู้ และคุณธรรม ดังแสดงในรูปที่ 4

RidingSustain-4รูปที่ 4 แสดงองค์ประกอบสำคัญของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คำว่า ความพอประมาณ จะหมายถึง การดำเนินการด้วยความพอดีที่ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป รวมถึงความพอใจในสิ่งที่สมควร ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่น้อยเกินไปจนก่อให้เกิดความขัดสน และไม่มากเกินไป จนก่อให้เกิดความเสียหายและความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น     ทั้งนี้ องค์กรจะต้องรู้จักตนเอง ว่าอะไรคือสมรรถนะหลัก หรือ Core Competency ขององค์กรที่จะต้องรักษา และพัฒนาให้เหนือกว่าคู่แข่งอย่างต่อเนื่องด้วย รวมถึงรู้ว่าอะไรคือปัจจัยเชิงกลยุทธ์ขององค์กร ทั้งที่เป็นความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ และความท้าทายเชิงกลยุทธ์ รวมถึงต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมของการแข่งขันอย่างไร      จากนั้น จะมีการเชื่อมโยงเข้ากับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ที่จะต้องประเมินขีดความสามารถขององค์กรในการนำแผนกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงมีการวางแผนการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม และสามารถสนับสนุนต่อการพัฒนาองค์กรได้ นอกจากนั้น ยังต้องพิจารณาว่ากระบวนการทำงานใดที่องค์กรสามารถทำได้เอง หรือจะให้ดำเนินการโดยผู้ส่งมอบ หรือพันธมิตร ซึ่งจะมีความชำนาญมากกว่า และจะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ดีกว่าด้วย

ในประเด็นที่สอง เรื่องของ ความมีเหตุผล จะหมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอประมาณในมิติต่างๆ ที่เป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุ ปัจจัย และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบและถูกต้อง เช่น ในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ที่จะต้องมีการวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์อย่างรอบด้าน สอดคล้องกับทิศทางขององค์กร ความท้าทายและความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ ความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น จุดบอดที่อาจจะมองข้ามไป รวมถึงการจัดทำวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่เน้นการสร้างให้เกิดสมดุลระหว่างความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดด้วย     ส่วน ความมีภูมิคุ้มกัน จะหมายถึง การเตรียมองค์กรให้พร้อมรับกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก รวมถึงความไม่แน่นอนทั้งทางด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองและกฎระเบียบ โดยคำนึงถึงทั้งเหตุการณ์และผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล     นั่นหมายถึงองค์กรจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นได้ หรือหากเกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด รวมถึงองค์กรยังต้องมีความคล่องตัวอย่างเพียงพอ และเหมาะสม ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพด้วย

นอกจากนั้น ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และส่งผลกระทบต่อการทำงานขององค์กรให้เกิดการหยุดชะงัก องค์กรควรจะมีการวางแผนการบริหารความต่อเนื่องเพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ในเวลาอันสั้น เกิดความเสียหายกับองค์กร พนักงานในองค์กร และลูกค้าขององค์กรน้อยที่สุด     ในส่วนของเงื่อนไขทั้งสองประเด็น คือจะต้องมี ความรู้ คู่กับ คุณธรรม ด้วย เหมือนกับองค์กรที่จะต้องมีการจัดการความรู้ขององค์กรที่มีประสิทธิผล ควบคู่ไปกับการมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจด้วย

RidingSustain-5รูปที่ 5 แสดงองค์ประกอบต่างๆ ของแต่ละด้านวิถีการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

กล่าวโดยสรุป วิถีแห่งการพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืนจะประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ดังแสดงในรูปที่ 5 ซึ่งองค์กรจะต้องมีการบริหารจัดการองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ ให้มีความสอดคล้อง และบูรณาการไปในทิศทางเดียวกัน  สอดประสานกัน และมีความสมดุลทั้งกับความต้องการขององค์กร และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย




Writer

โดย กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์

ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กร